วันอาทิตย์ที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

เปรียบเทียบ Six sigma และ SDLC

บทนำ
การพัฒนาระบบสารสนเทศนั้น มีปัจจัยหลายอย่างที่มีส่วนจะทำให้ระบบงานสารสนเทศประสบผลสำเร็จได้ ในอดีตการนิยามความสำเร็จอาจเป็นเพียงระบบสามารถใช้งานได้ ไม่มีข้อผิดพลาดถือว่าเพียงพอแล้ว แต่ปัจจุบันการคำนึงถึงคุณภาพของระบบ รวมไปถึงความพึงพอใจ หรือตรงกับความต้องการของผู้ใช้ หรือดีกว่าที่ผู้ใช้คาดหมายเอาไว้ จึงจะจัดได้ว่าประสบผลสำเร็จ มีคุณภาพ วิธีการหรือขั้นตอนในอดีตกับขั้นตอนวิธีการพัฒนาจึงแตกต่างกันหรือเหมือนกันดังนี้

การพัฒนาระบบสารสนเทศโดยใช้กระบวนการของ Six sigma
กระบวนการพัฒนาระบบสารสนเทศโดยใช้กระบวนการ six sigma ซึ่งนำเอาเครื่องมือที่ชื่อว่า DMAIC มาใช้ในกระบวนการ ประกอบด้วย D หมายถึง Define M หมายถึง Measure A หมายถึง Analyze I หมายถึง Improvement C หมายถึง Control ในแต่ละกระบวนการทั้ง 5 ขั้นตอนนั้น ประกอบด้วยขั้นตอนย่อยอีก ดังนี้
1. ขั้นตอนกำหนดนิยาม (Define phase) ประกอบด้วยขั้นตอนย่อย ๆ ที่ต้องคำนึงถึง มีทั้งหมด 8 ประเด็น ได้แก่
1.1 การกำหนดปัญหา ปัญหาที่ต้องการจะแก้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ในกระบวนการนี้ แนะนำให้ใช้เทคนิคที่ชื่อว่า SMART ในการกำหนดปัญหา ซึ่งคำว่า SMART ย่อมาจาก S Specific เป็นการกำหนดคุณลักษณะของเป้าหมายที่สามารถวัดได้เป็นหน่วยปริมาณ Measurable หมายถึงผลลัพธ์ที่ได้จะต้องวัดค่าได้ เช่นเดียวกับข้อแรก Attainable คือ มีเป้าหมายที่สามารถกระทำให้สำเร็จได้ Relevant หมายถึง พัฒนากระบวนการให้ลูกค้ามีความพึงพอใจ ตรงกับที่กำหนดเอาไว้ Timebound หมายถึง การคาดหวังว่าจะต้องพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นในระยะเวลาต่อไป
1.2 ขั้นตอนสร้างทีมงาน การที่จะทำงานได้สำเร็จนั้น เกิดจากการสร้างทีมงานที่ดี ต้องมั่นใจว่าทีมงานมีแรงดลบันดาลใจที่จะทำงานนี้ให้สำเร็จตามกำหนดระยะเวลา ทีมงานที่สร้างขึ้นมาควรประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการนี้โดยเฉพาะ เช่น ในองค์กรที่มีหน้าที่ครบทุกด้านจะประกอบด้วย ฝ่ายประสานงาน ฝ่ายบริการลูกค้า ฝ่ายสินเชื่อ ฝ่ายบุคคลหรือทรัพยากรมนุษย์ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ฝ่ายตรวจสอบภายใน ฝ่ายกฎหมาย เป็นต้น และมีผู้นำที่เป็น Master black belt, Green belt เป็นต้น มีการจัดประชุมแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน มีกำหนดเวลาเริ่มประชุม เวลาปิดประชุมที่จะต้องตรงเวลา มีวาระการประชุม ทุกคนมีส่วนร่วมแสดงความเห็น ควรงดการตั้งคำถามที่ไม่มีผลดีในที่ประชุม แต่ให้พูดแต่ในสิ่งที่เกี่ยวข้อง ห้ามพูดถึงบุคคล และควรประชุมกันอย่างสนุกสนาน
1.3 ขั้นตอนจัดตั้งโครงการ เมื่อสร้างทีมงานสำเร็จงานแรกที่ต้องทำคือ จัดทำโครงการอย่างเป็นทางการ โดยการทำเอกสารโครงการถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งของกระบวนด้วย six sigma เอกสารประกอบด้วย ตารางคำถามคำตอบโครงการ เพื่อให้เข้าใจตรงกันโดยตั้งคำถามและตอบคำถาม รวมทั้งหาวิธีการแก้ไข โดยทีมงาน การทำเอกสารเหล่านี้ต้องได้มาการประชุม
1.4 พัฒนาแผนดำเนินการ แผนการดำเนินการโครงงานควรกำหนดเป้าหมาย เอาไว้ก่อนล่วงหน้า และหลังจากนั้นควรจัดทำกิจกรรมหรืองานย่อย ๆ ว่าควรทำงานใด ๆ บ้างและทุกคนควรรู้ว่ากิจกรรมนั้นดำเนินการอยู่ในขั้นตอนใด ความก้าวหน้าอยู่ในลำดับใด มีการทำงานเป็นทีม ทุกคนในทีมยอมรับแผนงานที่ออกมา
1.5 กำหนดความต้องการของลูกค้า โดยผู้พัฒนาระบบจะต้องทราบความต้องการลูกค้าที่แท้จริง และเทคนิคการใช้ซิกซ์ซิกม่าจะกำหนดให้นิยามความหมายลูกค้า อันได้แก่ ลูกค้าระดับสูงและลูกค้าภายนอกองค์กร รวมไปถึงพนักงานภายในองค์กรของผู้จัดทำซิกซ์ม่าก็ถือว่าเป็นลูกค้าด้วย
1.6 กำหนดผลลัพธ์ ผลลัพธ์ที่ได้จากกระบวนการผลิตหรือการบริการที่สามารถวัดออกมาได้ แต่บางครั้งผลลัพธ์ที่วัดไม่ได้จะรวมอยู่ด้วย
1.7 ลำดับความสำคัญความต้องการของลูกค้า ในประเด็นนี้หมายถึงการฟังความเห็นของลูกค้า ว่าลูกค้าต้องการอะไรบ้างแล้วนำความต้องการเหล่านี้มาเรียงลำดับตามความสำคัญ นอกจากนี้ทีมงานซิกซ์ซิกม่าต้องสำรวจความพึงพอใจของสินค้าและบริการด้วย หลังจากได้ข้อกำหนดหรือความต้องการจากลูกค้าแล้ว จึงมีการประชุมทีมงานอย่างต่ำ 2 ครั้งมีประเด็นคำถาม คำตอบ วิธีแก้ปัญหาด้วยการช่วยกันระดมความคิดในทีมงาน การประชุมในครั้งที่ 2 นั้นประชุมเพื่อทำให้กระบวนการทำงานได้ผลดียิ่งขึ้น
1.8 จัดทำเอกสาร การทำเอกสารกระบวนการทำงานที่เป็นปัจจุบัน ให้เป็นแผนภาพที่ทุกคนเข้าใจง่าย มีภาพแสดงการไหลของกระบวนการ เพื่อที่จะบอกให้ทีมงานทราบถึงการประเมินกระบวนการได้ ซึ่งเอกสารกระบวนการทำงานจะมีการแบ่งระดับชั้นของการใช้ ได้แก่ ระดับสูง ระดับรายละเอียด และระดับแผนผังหน้าที่ ที่จะบอกว่าใครมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง ในขั้นตอนใด
ในขั้นสุดท้ายของการ define ให้จัดทำข้อสรุปความต้องการของลูกค้า และข้อกำหนด สร้างเป็นตารางความต้องการในแต่ละข้อ ให้คะแนนหรือลำดับความสำคัญของลูกค้า และลำดับความสำคัญของยุทธศาสตร์ในทีมของซิกซิกม่า
2. ขั้นตอนการวัด (Measurement phase) ขั้นตอนการวัดมีไว้เพื่อยืนยันและหาจำนวนปัญหา ซึ่งมีกระบวนการหรือขั้นตอนทั้งหมด 5 ขั้นตอน ได้แก่ กำหนดว่าจะวัดอะไรบ้าง ลงมือวัดจริง และคำนวณว่าอยู่ที่ซิกม่าเท่าไร กำหนดว่าจะทำให้กระบวนการเพิ่มความสามารถได้อย่างไร สุดท้ายได้แก่ การเปรียบเทียบกับมาตรฐาน
2.1 กำหนดการวัด สิ่งที่จะวัดมีอะไรบ้าง เช่น มีชนิดตัวแปรอะไรบ้างที่มีผลต่อคุณภาพพร้อมค่าประมาณการเป็นตาราง หาคุณค่า ในการวัดที่จะให้ได้ผลดีนั้นจะต้องมีลักษณะดังนี้ การตรงประเด็น สามารถกระทำได้ ถูกต้องทำได้ตรงตามเวลาและทำได้ง่าย
2.2 ลงมือวัดจริง โดยนำตัวแปรที่ได้จากข้อ 2.1 มาวัดให้ได้อยู่ในรูปของตัวเลข เช่น ค่าเฉลี่ย ค่ามัธยฐาน ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน เป็นต้น นำผลที่ได้สร้างเป็นผังกราฟชนิดต่าง ๆ
2.3 คำนวณค่าที่ได้ เมื่อวัดเสร็จแล้วคำนวณค่าที่ได้มาเปรียบเทียบว่าอยู่ในระดับซิกม่าใด ในทีมงานจะต้องกำหนดความสำคัญก่อนที่จะวัดจริง รายการที่ต้องกำหนดได้แก่ ข้อบกพร่อง สิ่งผิดปกติ หน่วยวัด และโอกาส เป็นต้น
2.4 กำหนดเพิ่มความสามารถ ทีมงานจะเพิ่มสมรรถนะ กระบวนการทำงานได้อย่างไร การกระทำอย่างนี้ส่งผลไปถึง ลูกค้า และทีมงานต้องมีตัวดัชนีความสามารถ รวมไปถึงการลดรอบการทำงาน
2.5 เปรียบเทียบกับมาตรฐาน วัตถุประสงค์ของการเปรียบเทียบหรือวัดมาตรฐานเพื่อวัดว่าบริษัทหรือองค์กรดีที่สุดหรือยัง มีการสร้างหัวหน้าทีมเพิ่มขึ้นเพียงใด มีการเปรียบเทียบความแตกต่างกับคู่แข่งว่าเหนือคู่แข่งหรือไม่
3. ขั้นตอนการวิเคราะห์ (Analyze phase) เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากการจัดเก็บในขั้นตอนที่สอง เพื่อหาปัญหาหลัก และวิเคราะห์หาวิธีการแก้ปัญหา ในขั้นตอนการวิเคราะห์มีประเด็นย่อยที่ต้องกระทำได้แก่ กำหนดว่าอะไรเป็นปัญหาให้เกิดความคลาดเคลื่อน ควรระดมสมองเพื่อแก้ปัญหาให้ดียิ่งขึ้น กำหนดว่าสิ่งใดจะทำให้ลูกค้าเห็นว่า สินค้าที่ผลิตออกมาตรงกับความต้องการ สร้างแผนผังกระบวนการทำงาน และประเมินความเสี่ยงที่มากับการปรับปรุงใหม่
3.1 กำหนดว่าอะไรเป็นปัญหาให้เกิดความคลาดเคลื่อน ความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นได้แก่ความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นประจำ และความคลาดเคลื่อนกรณีพิเศษ ทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ทีมงานต้องสืบหาต้นตอของสาเหตุ และเมื่อทราบสาเหตุแล้วทีมงานต้องนำมาแสดงให้ที่ประชุมทราบเพื่อระดมความคิดสาเหตุที่จะเกิดขึ้นตามมา
3.2 การระดมความคิดเพื่อให้กระบวนการดียิ่งขึ้น กระบวนการแก้ปัญหาที่ดีได้มาจากการระดมสมองความคิด ที่ทีมงานช่วยกันออกความเห็น จะเป็นการรับรู้ได้ดีกว่า และมีต้นทุนต่ำ
3.3 กำหนดว่าสิ่งใดจะทำให้ลูกค้าเห็นว่าสินค้าที่ผลิตออกมาตรงกับความต้องการ โดยการสำรวจความพึงพอใจจากลูกค้าจากข้อเท็จจริง นำข้อมูลที่ได้มาจัดลำดับในโปรแกรมตารางทำการ (spreadsheet)
3.4 สร้างแผนผังกระบวนการทำงาน หลังจากได้คะแนน หรือระดับความต้องการในข้อ 3.3 แล้ว นำมาจัดทำแผนผังการทำงาน เช่น การให้ลูกค้าได้รับบริการทางเว็บไซต์ เป็นต้น
3.5 ประเมินความเสี่ยงที่จะมากับการปรับปรุงใหม่ สิ่งที่ปรับปรุงขึ้นมาใหม่อาจไม่ใช่เป็นสิ่งที่ถูกต้องสมบูรณ์ ทีมงานต้องนำมาประเมินและปรับปรุงใหม่
4. การพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น (Improvement phase) ขั้นตอนการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นมีขั้นตอนการทำทั้งหมด 3 ประเด็น ได้แก่ การจัดทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลง การวางแผนในการนำไปปฏิบัติ การ การยืนยันให้สัตยาบันในการเปลี่ยแปลง
4.1 การทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงให้ได้มาซึ่งคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น อาจมีเครื่องมือคุณภาพอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องได้แก่ แผนผังกระบวนการวิเคราะห์ ไคเซ็น Poka-Yoke เป็นต้น
4.2 การวางแผนนำไปปฏิบัติ การวางแผนนำไปปฏิบัติมีวิธีการหลายอย่างเช่น ทดลองทำเป็นโครงการนำร่อง หรือนำเอาวิธีการของวงจรเดมมิ่ง อันได้แก่ การวางแผน ดำเนินการ ตรวจสอบ นำผลที่ได้ประเมินเพื่อวางแผนใหม่
4.3 การให้สัตยาบันเปลี่ยนแปลง เป็นการนำแผนการที่ได้กระทำในไปปฏิบัติให้เกิดผล เช่น การประชุมรายสัปดาห์ ทำแผนผังความก้าวหน้า เป็นต้น
5. ขั้นตอนการควบคุม (Control phase) ขั้นตอนการควบคุมมีขั้นตอนย่อย 5 ประเด็น ได้แก่ จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานและการตรวจสอบ พัฒนากลยุทธการควบคุม ให้ชมเชยหรือรางวัลและประกาศยกย่องผลสำเร็จ นำแผนการควบคุมไปปฏิบัติ
5.1 จัดทำคู่ มือการปฏิบัติงานและการตรวจสอบ หลาย ๆ บริษัทนิยมใช้ มาตรฐานระเบียบการปฏิบัติงาน และมีการควบคุมภายใน
5.2 พัฒนากลยุทธการควบคุม กลยุทธการควบคุมนิยมใช้ ควบคุมกระบวนการด้วยหลักสถิติ เช่น Run chart, Control chart เป็นต้น
5.3 ชมเชยหรือให้รางวัล พร้อมประกาศเกียรติคุณแก่ทีมงานที่ประสบผลสำเร็จ
5.4 นำแผนการควบคุมไปสู่การปฏิบัติ ในทีมงานทราบกันดีว่า การควบคุมเป็นสิ่งดี จึงควรนำแผนไปสู่การปฏิบัติและตรวจสอบการควบคุม นำผลการปฏิบัติไปรายงานสู่ผู้ที่ยังไม่ได้ปฏิบัติ

การพัฒนาระบบด้วยวงจรการพัฒนาระบบ
การพัฒนาระบบงานด้วยวงจรการพัฒนาระบบ (System Development Life Cycle:SDLC) มีขั้นตอนในการดำเนินงานเป็นลำดับ ทำให้การพัฒนาเป็นไปตามลำดับขั้นตอน อีกทั้งในบางส่วนของการออกแบบได้เลือกรูปแบบของ Spiral Model ขึ้นและมีประสิทธิผลดียิ่งขึ้นด้วย โดยวงจรการพัฒนาระบบงานมีขั้นตอนการทำงานเรียงตามลำดับ 7 ขั้นตอน ได้แก่
1 กำหนดปัญหาของระบบเดิม (Problem Definition) ขั้นตอนนี้เป็นการกำหนดขอบเขตของปัญหา สาเหตุของปัญหา ตลอดจนกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหา นักวิเคราะห์ระบบจะต้องศึกษาระบบงานเดิม(Current System) โดยหาเป้าหมายที่ชัดเจนของงาน ต่าง ๆ ประกอบกับนำคอมพิวเตอร์เข้าไปใช้ในส่วนต่าง ๆ ของระบบจากการสุ่มตัวอย่าง การสอบถามหาข้อมูล การสัมภาษณ์ การออกแบบสอบถาม การสังเกตพฤติกรรมของผู้ใช้และสิ่งแวดล้อมเพื่อสืบค้น เก็บรวบรวมข้อมูลที่เป็นความต้องการของระบบจากผู้ใช้ เพื่อกำหนดวัตถุประสงค์ที่สามารถวัดผลได้ ตลอดจนกำหนดขอบเขตของการพัฒนาระบบ ทำเอกสารขออนุมัติทำโครงการ งบประมาณ
2. การวิเคราะห์ระบบ (Analysis) การวิเคราะห์ระบบจะรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากขั้นตอนที่ 1 มาเขียนเป็นไดอะแกรม การไหลของข้อมูล (Data Flow Diagram) พจนานุกรมข้อมูล (Data Dictionary) และโครงสร้างการตัดสินใจ (Structured decision) มาช่วยในการวิเคราะห์ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ถูกต้อง และนักวิเคราะห์ระบบต้องมีการทำงานร่วมกับผู้ใช้ระบบเพื่อได้ความต้องการจากผู้ใช้โดยแท้จริง นำผลการวิเคราะห์ไปจัดทำเอกสารและให้มีการลงนาม
3. การออกแบบระบบ (Design) หลังจากการวิเคราะห์ระบบแล้ว ขั้นตอนนี้จะต้องทำการวางโครงสร้างของระบบงาน ทั้งในรูปลักษณะทั่วไปและเฉพาะ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการแจกแจงรายละเอียดที่แน่ชัดของแต่ละงาน ซึ่งขั้นตอนนี้จะได้ Purpose System เพื่อทำการออกแบบ Output, Input, E-R model และ Database เพื่อให้ได้ระบบงานที่สมบูรณ์ เพื่อส่งขั้นตอนนี้ไปยังโปรแกรมเมอร์ในการเขียนชุดคำสั่งต่อไป
4. การพัฒนาระบบ (Development) ขั้นตอนนี้จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างโปรแกรมเมอร์ และนักวิเคราะห์ระบบเพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งจะต้องนำส่วนที่ได้จากการวิเคราะห์ในขั้นตอนที่ 2 และการออกแบบในส่วนที่ 3 มาใช้ โดยโปรแกรมเมอร์จะเป็นผู้เขียนโปรแกรม ตรวจสอบข้อผิดพลาด กำหนดความปลอดภัยของระบบและทดสอบโปรแกรมรวมถึงทำเอกสารโปรแกรมสำหรับผู้ใช้ระบบอีกด้วย
5. การทดสอบระบบ (Testing) ก่อนที่จะนำระบบที่สร้างขึ้น ไปใช้จริงนั้นจะต้องมีการทดสอบระบบก่อน ซึ่งบางครั้งผู้ทดสอบอาจเป็นตัวโปรแกรมเมอร์เองหรือในบางกรณีอาจให้ นักวิเคราะห์ระบบ และผู้ใช้ระบบทดสอบ ซึ่งการทดสอบมี 3 วิธี คือ Module Test, Component Test และ Final Test
6. การนำไปใช้งานจริง (Implement) หลังจากทดสอบเสร็จสิ้น จึงนำระบบมาติดตั้งให้แก่ผู้ใช้ระบบ ได้ทดลองใช้จริง และผู้ใช้ต้องผ่านการทดสอบ ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนสุดท้ายของนักวิเคราะห์ระบบ ที่ต้องรับผิดชอบ
7. การบำรุงรักษาและพัฒนาระบบต่อ (Maintenance) หลังจากนำระบบใหม่มาติดตั้งให้กับผู้ใช้ระบบ ผู้ใช้ระบบยังไม่คุ้นเคยกับการทำงานของระบบใหม่ ดังนั้นจึงต้องมีการอบรม ให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง คอยดูแลบำรุงรักษาฐานข้อมูล และช่วยเหลือผู้ใช้ระบบในการปฏิบัติงาน

บทสรุป

ข้อที่แตกต่างหรือข้อที่เหมือนกัน รวมทั้งข้อเด่น ข้อด้อยระหว่างการพัฒนาสารสนเทศด้วยการใช้เครื่องมือ Six sigma กับวิธีการ SDLC

Six sigma
จุดเด่น
  • มีการนำลูกค้าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ
  • มีขอบเขตของโครงการที่แน่นอน
  • มั่นใจในความสำเร็จของโครงการแม้ว่าหัวหน้าโครงการลาออก

จุดด้อย
  • ยังไม่พบตำราใด ๆ กล่าวไว้


SDLC

จุดเด่น
  • เป็นขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก จึงเหมาะสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์เพียงซื้อหนังสือมาอ่านแล้วทำตาม
  • วิธีการมีความสอดคล้อง ต่อเนื่องกันไปทำให้ลดต้นทุนได้ โดยทีมงานสามารถนำไปใช้กับโครงการอื่น ๆ ได้
จุดด้อย
  • ในการทำซ้ำ การจัดทำเอกสารอาจไม่ตรงกับผู้ใช้ทุก ๆ คน
  • ผู้ใช้ระบบหรือลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมเพียงครั้งเดียว อาจเก็บข้อกำหนดไม่ครบ
  • ในการพัฒนาระบบขนาดใหญ่ที่ใช้เวลานาน หัวหน้าโครงการอาจลาออกได้ ทำให้โครงการหยุดชะงัก


เอกสารอ้างอิง

1. Tayntor, Christine B., Six Sigma Software Development, Boca Raton, Auerbach Publications, 2002.
2. James R. Evans and William M. Lindsay, An introduction to Six Sigma & Process Improvement, Thomson South-Western, 2005.
3. Kendall, K.E. and Kendall, J.E., System analysis and design, 4th ed., Prentice Hall International, 1998
4. William, D.S., Business Systems Analysis and Design, International Thomson
Publishing, 1994
5. Jeffrey, W.L. and Lonnie, B.D., Systems Analysis and Design Methods,
4th ed., Irwin McGraw-Hill, 1998
6. R. Anil, V. Sechadri, A Chavala, and M. Vemurai, A Methodology for Managing
Multi-Disciplinary Program with Six sigma approach, International Engineering Conference, 2004
7. Antonico Calos Tonini,Mauro de Mesquita Spinola and Fernando Jose Barbin Laurindo ,Six Sigma and Software development Process: DEMAIC Improvements, PICMET,2006
8. Jiju Antony and Ricardo Banuelas, Design for Six Sigma , Manufacturing Engineer, 2002
9. Yousef Gaolipour Kanani, Study and Analysis of control phase role for increasing the Success of Six Sigma project, IEEE International Conference on management of innovation and Technology, 2006
10. Craig Gygi, Neil Recarlo and Bruce Williams, Six Sigma for Dummies, Wiley Publishing Inc, 2005

๒ ความคิดเห็น:

ณัชพล กาฬภักดี กล่าวว่า...

ดีมาก เป็นประโยน์ต่อการศึกษา

fruitza กล่าวว่า...

ขอบคุณมากค่ะ เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาจริงๆ