วันอังคารที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

การบริจาคโลหิตกับระบบสารสนเทศไปด้วยกันได้อย่างไร

ตั้งคำถามเพื่อให้เป็นประเด็นซะอย่างนั้นแหละ

คำถามที่ไม่ตรงประเด็นกับหัวข้อบ้าง

ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นสามกรณี ต่อไปนี้ท่านคิดว่า ท่านจะเลือกทำแบบใด ในการบริจาคโลหิต

  1. มี forward mail มาขอบริจาคโลหิตจากใครไม่รู้ ให้ไปบริจาคได้ที่ ร.พ. ????? วันนั้น วันนี้
  2. มีญาติผู้ป่วยมาขอร้องด้วยตนเอง เพื่อขอบริจาคโลหิตจากเรา
  3. ไปบริจาคโลหิตที่ ร.พ. เองโดยไม่ต้องรู้ว่ามีผู้ป่วยหรือไม่

จากตัวเลือกข้างบน มีประเด็นให้ถกกันมากมาย
แล้วแต่วิจารณาญาณของแต่ละคน ยกตัวอย่างเช่น บางคนคิดว่า ถ้าเป็นข้อแรก ถ้าผู้ได้รับเมล์ไปบริจาคพร้อม ๆ กันมันคงเหลือใช้ คนส่งเมล์อาจไม่ได้รับ ผู้รับอาจเป็นใครไม่รู้ ถ้าเป็นกรณีที่สอง แบบนี้ OK ได้ตรงความต้องการ
แต่ถ้าหากว่าเลือดผู้ป่วยกับเลือดผู้บริจาคกรุ๊ปเลือดไม่ตรงกัน เขาจะได้รับหรือเปล่า บาง ร.พ. ใช้วิธีการแลกเปลี่ยน แต่ในกรณีที่สามผู้ไปบริจาคโลหิตไปด้วยจิตใจที่ศรัทธาอยากบริจาคโดยไม่สนใจว่าใครจะได้รับ บางครั้งเลือดถ้าไม่ได้ใช้ใน 1 เดือนโลหิตนั้นจะใช้ไม่ได้ ต้องนำไปทิ้งทำลาย (แต่ปัจจุบันโลหิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ เหตุการณ์ที่นำไปทำลายจึงไม่มี) ส่วนใหญ่ ร.พ.จะเก็บข้อมูลที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ผู้บริจาคโลหิต เพื่อจะได้เรียกตัวได้ง่าย ผมถูกเรียกตัวอยู่บ่อย ๆ

ด้วยเหตุแห่งคำถามที่มีอยู่ว่า ถ้าผู้ที่ต้องการบริจาคโลหิตได้ถูกโทรศัพท์เรียกตัวเพื่อต้องการเลือดให้แก่ผู้ป่วย จะมีความรู้สึกว่าตัวเรามีคุณค่า ได้ทำบุญ ได้เป็นผู้ให้ จึงกระตือรือร้นที่จะไปบริจาค มากกว่าการเดินเข้าไปบริจาคด้วยตัวเอง จึงได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้บริจาคโลหิตขึ้นมาเป็นสื่อกลางระหว่างเจ้าหน้าที่คลังเลือดของ ร.พ. กับผู้ต้องการบริจาคโลหิต การทำงานของระบบนี้ เมื่อผู้ต้องการบริจาคโลหิต สมัครสมาชิก กรอกรายละเอียดหมู่เลือด ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลเหล่านั้นจะเก็บอยู่ในฐานข้อมูล ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ห้องคลังเลือดของแต่ละโรงพยาบาลก็สมัครเข้าใช้ระบบนี้เช่นกัน (ในส่วนของเจ้าหน้าที่) เจ้าหน้าที่จะสามารถค้นหาผู้ต้องการบริจาคโลหิต ที่มีคุณสมบัติตามความต้องการได้ เช่น อำเภอที่อยู่ใกล้เคียงกับ ร.พ. และหมู่เลือดที่ต้องการ

ระบบนี้ได้ออกแบบไว้ให้ใช้ได้กับ รพ.ทั่วประเทศ เพราะทำงานบนเว็บ แต่ในขณะนี้ยังไม่มีเจ้าหน้าที่คลังเลือดโรงพยาบาลใด ๆ เข้าไปสมัครสมาชิก อยากฝากประชาสัมพันธ์ ให้มีการใช้กันให้กว้างขวางเพื่อจะได้มีกำลังใจที่จะพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป เว็บดังกล่าว อยู่ที่ลิงค์ด้านล่างนี้นะครับ เชิญชวนให้ทดลองใช้กันนะครับ

http://202.29.16.20/blood/

XP คืออะไร อะไรคือ XP


ตั้งคำถามขึ้นมาแบบนี้หลายคนตอบได้ ง่ายมาก มันคือ Windows XP ใช่เปล่า?

คำตอบ คือไม่ใช่ครับ XP เมื่อพูดถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์ จะนึกถึงความสำเร็จ นึกถึงความเร็วในการพัฒนา และคุณภาพของซอฟต์แวร์ เพราะฉะนั้น XP ในตรงนี้ก็เป็นกระบวนการ วิธีการการพัฒนาซอฟต์แวร์อีกแบบหนึ่งที่จะนำเสนอ ดังนั้น XP จึงย่อมาจาก extreme programming

XP เป็นกระบวนการที่มีลำดับขั้นตอนเช่นเดียวกัน ดังนี้

1. Collecting user stories เป็นการเก็บรวบรวมเรื่องราวความต้องการของลูกค้า จริง ๆ แล้วการทำแบบอื่นๆ ก็เน้นแบบนี้เช่นกัน แต่กระบวนการรวดเร็วกว่า ใช้กระดาษโน้ตแผ่นเล็ก ๆ ให้ผู้ใช้ระบบเขียนความต้องการ โดยไม่มีการพูดคุยด้านเทคโนโลยี หรือฐานข้อมูล หรืออัลกอริทึ่ม เป็นการพูดคุยกันระหว่างโปรแกรมเมอร์กับผู้ใช้โดยตรง โดยไม่ผ่านนักวิเคราะห์ระบบ เมื่อโปรแกรมเมอร์ ทราบความต้องการแล้วรวบรวมจำนวน stories นำมากำหนดวันแล้วเสร็จในงานนั้น ๆ เพื่อกำหนดวันส่งมอบต่อไป
2. Create Spike Solution เป็นการนำเอา user stories มาหากระบวนการแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางการเขียนโปรแกรม โดยเน้นการเขียนโปรแกรมแบบง่าย ๆ ไม่ต้องซับซ้อน ถ้าแก้ปัญหาคนเดียวไม่ได้ แนะนำให้ใช้วิธีการ Pair Programming เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้น
3. Release Planning เป็นการวางแผนการดำเนินงานทั้งหมดจนแล้วเสร็จ กระทั่งส่งมอบงานให้ผู้ใช้ วิธีการคือให้นำ user stories ทั้งหมดนำมาให้ทีมโปรแกรมเมอร์พิจารณางานแล้วเสร็จ โดยพิจารณาตาม story แต่ละ story แล้วบวก ลบ 20 % จะได้วันแล้วเสร็จ
4. Iteration Planning ขั้นตอนนี้เป็นการทำซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะ XP ใช้วิธีการส่งมอบงานไปเรื่อย ๆ เมื่องานก้าวหน้าแต่ละ story แล้วทดสอบระบบเมื่อผ่านเรียบร้อย จึงส่งมอบงานและนำ story ใหม่มาทำอีก แต่งานเดิมทดสอบไม่ผ่านต้องทำซ้ำ ให้ดูภาพประกอบ



ที่มา : www.extremeprogramming.org


5. Development หมายถึงขั้นตอนการพัฒนาระบบเป็นการเขียนชุดคำสั่ง แต่ XP Model จะมีกระบวนการย่อยเพิ่มขึ้น เช่น มีการ Stand up meeting เป็นการพูดคุยกันก่อนการทำงานในแต่ละวันเพื่อหาปัญหาและวิธีแก้ปัญหา และนอกจากนี้ยังนำเอาวิธีการที่เรียกว่า Pair Programming มาใช้ในการพัฒนาด้วย
6. Acceptance Tests เป็นกระบวนการทดสอบจากผู้ใช้ ที่ผู้ใช้ได้กำหนดความต้องการเอาไว้ ว่าถูกต้องตรงกันหรือไม่ มีคุณภาพหรือไม่ กระบวนการตรวจสอบคุณภาพก็อยู่ในกระบวนการนี้ด้วย โดยจะต้องมีทีมตรวจสอบคุณภาพมาจากภายนอกด้วย แต่ต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับทีมพัฒนาโปรเจ็คนี้ด้วย
7. Small Releases การส่งมอบงานไปทีละขั้น ทีละฟังก์ชันเป็นเรื่องภาพลักษณ์ทางธุรกิจที่ดี ทำให้ผู้ใช้มองเห็นความก้าวหน้าของโปรเจ็ค เห็นความน่าเชื่อถือทีมพัฒนา และเมื่อเจอปัญหาอีกจะได้เร่งแก้ไขแต่เนิ่น ๆ

วันอาทิตย์ที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

การพัฒนาซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ด้วยวิธี Pair programming

ด้วยกระบวนการพัฒนาระบบสารสนเทศ ตั้งแต่อดีตที่ศึกษากันมาและใช้กันโดยทั่วไปจะใช้กระบวนการที่เรียกว่า Waterfall หรือ JAD (Joint Application Development) หรือ RAD (Rapid Application Development) แต่หลาย ๆ คนนำมาใช้แล้วยังมีปัญหา ปัญหาที่เกิดใช่ว่าจะทำงานออกมาไม่ได้ แต่ปัญหาในตรงนี้ได้แก่ งานออกมาไม่มีคุณภาพ งานเสร็จไม่ทันกำหนดการ งานไม่ตรงกับ user requirement บ้าง โปรแกรมเมอร์ลาออกในขณะที่งานไม่เสร็จบ้าง ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้มีนักวิชาการด้านคอมพิวเตอร์ คิดหาหลักการและวิธีมาแก้ปัญหาหลากหลายวิธี แต่มีวิธีของ Dr. Williams แห่งมหาวิทยาลัย North Carolina State อเมริกาได้เสนอการพัฒนาโดยใช้เทคนิคง่าย ๆ โดยให้โปแกรมเมอร์ 2 คนพัฒนาโปรแกรมเดียวกัน หมายถึงรับผิดชอบร่วมกันทุก ๆ ฟังก์ชัน หรือทุก ๆ class โดยให้คนใดคนหนึ่งเขียนโปรแกรม อีกคนหนึ่งให้คำแนะนำและทดสอบผลการทำงาน ในขณะเดียวกันเมื่อครบกำหนดเวลา ก็ให้สลับกันทำหน้าที่จากคนให้คำแนะนำไปเขียนคำสั่ง คนเขียนคำสั่งมาเป็นผู้ทดสอบ อาจสลับกันทุก ๆ หนึ่งชั่วโมง อย่างน้อยในวันหนึ่ง ๆ จะต้องเปลี่ยนกันหนึ่งครั้ง
วิธีการแบบนี้ Dr. Williams ให้ข้อคิดเห็นว่า เป็นการทำงานคล้ายการขับรถแข่ง มีคนขับและมี Navigator คอยควบคุม แต่ด้านคอมพิวเตอร์ให้สลับกัน ทำให้มีข้อดีหลายอย่าง เช่น

1. สร้างวินัยในการทำงาน มีคนคอยบอกกล่าวในสิ่งที่ถูกต้อง ตรงกับคำพูดที่ทันสมัยว่า "ไปถูกทางแล้ว" นั่นเอง
2. การเขียนคำสั่งออกมาดี ถูกต้องมากกว่า ออกแบบชุดคำสั่งได้ดีกว่า
3. ทำงานกันอย่างมีชีวิตชีวามากกว่า หรือเรียกว่ากระฉับกระเฉงมากกว่า
4. ถ้ามีใครคนหนึ่งคนใด ออกไป คำสั่งที่มีลักษณะเฉพาะตัวของคนนั้นยังมีคนสืบต่อไปได้ ถ่ายทอดไปยังคนใหม่ได้
5. การล่าช้าน้อยกว่า นำเอาโปรแกรมเมอร์ 2 คนทำงานแยกกัน

จะเห็นว่าการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้วยวิธีนี้ น่าสนใจไม่น้อย สำหรับองค์กรที่มีบุคลากรมาก มีปัญหาการลาออกบ่อย คงแก้ปัญหาได้ดี

วันอาทิตย์ที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

เปรียบเทียบ Six sigma และ SDLC

บทนำ
การพัฒนาระบบสารสนเทศนั้น มีปัจจัยหลายอย่างที่มีส่วนจะทำให้ระบบงานสารสนเทศประสบผลสำเร็จได้ ในอดีตการนิยามความสำเร็จอาจเป็นเพียงระบบสามารถใช้งานได้ ไม่มีข้อผิดพลาดถือว่าเพียงพอแล้ว แต่ปัจจุบันการคำนึงถึงคุณภาพของระบบ รวมไปถึงความพึงพอใจ หรือตรงกับความต้องการของผู้ใช้ หรือดีกว่าที่ผู้ใช้คาดหมายเอาไว้ จึงจะจัดได้ว่าประสบผลสำเร็จ มีคุณภาพ วิธีการหรือขั้นตอนในอดีตกับขั้นตอนวิธีการพัฒนาจึงแตกต่างกันหรือเหมือนกันดังนี้

การพัฒนาระบบสารสนเทศโดยใช้กระบวนการของ Six sigma
กระบวนการพัฒนาระบบสารสนเทศโดยใช้กระบวนการ six sigma ซึ่งนำเอาเครื่องมือที่ชื่อว่า DMAIC มาใช้ในกระบวนการ ประกอบด้วย D หมายถึง Define M หมายถึง Measure A หมายถึง Analyze I หมายถึง Improvement C หมายถึง Control ในแต่ละกระบวนการทั้ง 5 ขั้นตอนนั้น ประกอบด้วยขั้นตอนย่อยอีก ดังนี้
1. ขั้นตอนกำหนดนิยาม (Define phase) ประกอบด้วยขั้นตอนย่อย ๆ ที่ต้องคำนึงถึง มีทั้งหมด 8 ประเด็น ได้แก่
1.1 การกำหนดปัญหา ปัญหาที่ต้องการจะแก้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ในกระบวนการนี้ แนะนำให้ใช้เทคนิคที่ชื่อว่า SMART ในการกำหนดปัญหา ซึ่งคำว่า SMART ย่อมาจาก S Specific เป็นการกำหนดคุณลักษณะของเป้าหมายที่สามารถวัดได้เป็นหน่วยปริมาณ Measurable หมายถึงผลลัพธ์ที่ได้จะต้องวัดค่าได้ เช่นเดียวกับข้อแรก Attainable คือ มีเป้าหมายที่สามารถกระทำให้สำเร็จได้ Relevant หมายถึง พัฒนากระบวนการให้ลูกค้ามีความพึงพอใจ ตรงกับที่กำหนดเอาไว้ Timebound หมายถึง การคาดหวังว่าจะต้องพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นในระยะเวลาต่อไป
1.2 ขั้นตอนสร้างทีมงาน การที่จะทำงานได้สำเร็จนั้น เกิดจากการสร้างทีมงานที่ดี ต้องมั่นใจว่าทีมงานมีแรงดลบันดาลใจที่จะทำงานนี้ให้สำเร็จตามกำหนดระยะเวลา ทีมงานที่สร้างขึ้นมาควรประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการนี้โดยเฉพาะ เช่น ในองค์กรที่มีหน้าที่ครบทุกด้านจะประกอบด้วย ฝ่ายประสานงาน ฝ่ายบริการลูกค้า ฝ่ายสินเชื่อ ฝ่ายบุคคลหรือทรัพยากรมนุษย์ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ฝ่ายตรวจสอบภายใน ฝ่ายกฎหมาย เป็นต้น และมีผู้นำที่เป็น Master black belt, Green belt เป็นต้น มีการจัดประชุมแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน มีกำหนดเวลาเริ่มประชุม เวลาปิดประชุมที่จะต้องตรงเวลา มีวาระการประชุม ทุกคนมีส่วนร่วมแสดงความเห็น ควรงดการตั้งคำถามที่ไม่มีผลดีในที่ประชุม แต่ให้พูดแต่ในสิ่งที่เกี่ยวข้อง ห้ามพูดถึงบุคคล และควรประชุมกันอย่างสนุกสนาน
1.3 ขั้นตอนจัดตั้งโครงการ เมื่อสร้างทีมงานสำเร็จงานแรกที่ต้องทำคือ จัดทำโครงการอย่างเป็นทางการ โดยการทำเอกสารโครงการถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งของกระบวนด้วย six sigma เอกสารประกอบด้วย ตารางคำถามคำตอบโครงการ เพื่อให้เข้าใจตรงกันโดยตั้งคำถามและตอบคำถาม รวมทั้งหาวิธีการแก้ไข โดยทีมงาน การทำเอกสารเหล่านี้ต้องได้มาการประชุม
1.4 พัฒนาแผนดำเนินการ แผนการดำเนินการโครงงานควรกำหนดเป้าหมาย เอาไว้ก่อนล่วงหน้า และหลังจากนั้นควรจัดทำกิจกรรมหรืองานย่อย ๆ ว่าควรทำงานใด ๆ บ้างและทุกคนควรรู้ว่ากิจกรรมนั้นดำเนินการอยู่ในขั้นตอนใด ความก้าวหน้าอยู่ในลำดับใด มีการทำงานเป็นทีม ทุกคนในทีมยอมรับแผนงานที่ออกมา
1.5 กำหนดความต้องการของลูกค้า โดยผู้พัฒนาระบบจะต้องทราบความต้องการลูกค้าที่แท้จริง และเทคนิคการใช้ซิกซ์ซิกม่าจะกำหนดให้นิยามความหมายลูกค้า อันได้แก่ ลูกค้าระดับสูงและลูกค้าภายนอกองค์กร รวมไปถึงพนักงานภายในองค์กรของผู้จัดทำซิกซ์ม่าก็ถือว่าเป็นลูกค้าด้วย
1.6 กำหนดผลลัพธ์ ผลลัพธ์ที่ได้จากกระบวนการผลิตหรือการบริการที่สามารถวัดออกมาได้ แต่บางครั้งผลลัพธ์ที่วัดไม่ได้จะรวมอยู่ด้วย
1.7 ลำดับความสำคัญความต้องการของลูกค้า ในประเด็นนี้หมายถึงการฟังความเห็นของลูกค้า ว่าลูกค้าต้องการอะไรบ้างแล้วนำความต้องการเหล่านี้มาเรียงลำดับตามความสำคัญ นอกจากนี้ทีมงานซิกซ์ซิกม่าต้องสำรวจความพึงพอใจของสินค้าและบริการด้วย หลังจากได้ข้อกำหนดหรือความต้องการจากลูกค้าแล้ว จึงมีการประชุมทีมงานอย่างต่ำ 2 ครั้งมีประเด็นคำถาม คำตอบ วิธีแก้ปัญหาด้วยการช่วยกันระดมความคิดในทีมงาน การประชุมในครั้งที่ 2 นั้นประชุมเพื่อทำให้กระบวนการทำงานได้ผลดียิ่งขึ้น
1.8 จัดทำเอกสาร การทำเอกสารกระบวนการทำงานที่เป็นปัจจุบัน ให้เป็นแผนภาพที่ทุกคนเข้าใจง่าย มีภาพแสดงการไหลของกระบวนการ เพื่อที่จะบอกให้ทีมงานทราบถึงการประเมินกระบวนการได้ ซึ่งเอกสารกระบวนการทำงานจะมีการแบ่งระดับชั้นของการใช้ ได้แก่ ระดับสูง ระดับรายละเอียด และระดับแผนผังหน้าที่ ที่จะบอกว่าใครมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง ในขั้นตอนใด
ในขั้นสุดท้ายของการ define ให้จัดทำข้อสรุปความต้องการของลูกค้า และข้อกำหนด สร้างเป็นตารางความต้องการในแต่ละข้อ ให้คะแนนหรือลำดับความสำคัญของลูกค้า และลำดับความสำคัญของยุทธศาสตร์ในทีมของซิกซิกม่า
2. ขั้นตอนการวัด (Measurement phase) ขั้นตอนการวัดมีไว้เพื่อยืนยันและหาจำนวนปัญหา ซึ่งมีกระบวนการหรือขั้นตอนทั้งหมด 5 ขั้นตอน ได้แก่ กำหนดว่าจะวัดอะไรบ้าง ลงมือวัดจริง และคำนวณว่าอยู่ที่ซิกม่าเท่าไร กำหนดว่าจะทำให้กระบวนการเพิ่มความสามารถได้อย่างไร สุดท้ายได้แก่ การเปรียบเทียบกับมาตรฐาน
2.1 กำหนดการวัด สิ่งที่จะวัดมีอะไรบ้าง เช่น มีชนิดตัวแปรอะไรบ้างที่มีผลต่อคุณภาพพร้อมค่าประมาณการเป็นตาราง หาคุณค่า ในการวัดที่จะให้ได้ผลดีนั้นจะต้องมีลักษณะดังนี้ การตรงประเด็น สามารถกระทำได้ ถูกต้องทำได้ตรงตามเวลาและทำได้ง่าย
2.2 ลงมือวัดจริง โดยนำตัวแปรที่ได้จากข้อ 2.1 มาวัดให้ได้อยู่ในรูปของตัวเลข เช่น ค่าเฉลี่ย ค่ามัธยฐาน ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน เป็นต้น นำผลที่ได้สร้างเป็นผังกราฟชนิดต่าง ๆ
2.3 คำนวณค่าที่ได้ เมื่อวัดเสร็จแล้วคำนวณค่าที่ได้มาเปรียบเทียบว่าอยู่ในระดับซิกม่าใด ในทีมงานจะต้องกำหนดความสำคัญก่อนที่จะวัดจริง รายการที่ต้องกำหนดได้แก่ ข้อบกพร่อง สิ่งผิดปกติ หน่วยวัด และโอกาส เป็นต้น
2.4 กำหนดเพิ่มความสามารถ ทีมงานจะเพิ่มสมรรถนะ กระบวนการทำงานได้อย่างไร การกระทำอย่างนี้ส่งผลไปถึง ลูกค้า และทีมงานต้องมีตัวดัชนีความสามารถ รวมไปถึงการลดรอบการทำงาน
2.5 เปรียบเทียบกับมาตรฐาน วัตถุประสงค์ของการเปรียบเทียบหรือวัดมาตรฐานเพื่อวัดว่าบริษัทหรือองค์กรดีที่สุดหรือยัง มีการสร้างหัวหน้าทีมเพิ่มขึ้นเพียงใด มีการเปรียบเทียบความแตกต่างกับคู่แข่งว่าเหนือคู่แข่งหรือไม่
3. ขั้นตอนการวิเคราะห์ (Analyze phase) เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากการจัดเก็บในขั้นตอนที่สอง เพื่อหาปัญหาหลัก และวิเคราะห์หาวิธีการแก้ปัญหา ในขั้นตอนการวิเคราะห์มีประเด็นย่อยที่ต้องกระทำได้แก่ กำหนดว่าอะไรเป็นปัญหาให้เกิดความคลาดเคลื่อน ควรระดมสมองเพื่อแก้ปัญหาให้ดียิ่งขึ้น กำหนดว่าสิ่งใดจะทำให้ลูกค้าเห็นว่า สินค้าที่ผลิตออกมาตรงกับความต้องการ สร้างแผนผังกระบวนการทำงาน และประเมินความเสี่ยงที่มากับการปรับปรุงใหม่
3.1 กำหนดว่าอะไรเป็นปัญหาให้เกิดความคลาดเคลื่อน ความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นได้แก่ความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นประจำ และความคลาดเคลื่อนกรณีพิเศษ ทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ทีมงานต้องสืบหาต้นตอของสาเหตุ และเมื่อทราบสาเหตุแล้วทีมงานต้องนำมาแสดงให้ที่ประชุมทราบเพื่อระดมความคิดสาเหตุที่จะเกิดขึ้นตามมา
3.2 การระดมความคิดเพื่อให้กระบวนการดียิ่งขึ้น กระบวนการแก้ปัญหาที่ดีได้มาจากการระดมสมองความคิด ที่ทีมงานช่วยกันออกความเห็น จะเป็นการรับรู้ได้ดีกว่า และมีต้นทุนต่ำ
3.3 กำหนดว่าสิ่งใดจะทำให้ลูกค้าเห็นว่าสินค้าที่ผลิตออกมาตรงกับความต้องการ โดยการสำรวจความพึงพอใจจากลูกค้าจากข้อเท็จจริง นำข้อมูลที่ได้มาจัดลำดับในโปรแกรมตารางทำการ (spreadsheet)
3.4 สร้างแผนผังกระบวนการทำงาน หลังจากได้คะแนน หรือระดับความต้องการในข้อ 3.3 แล้ว นำมาจัดทำแผนผังการทำงาน เช่น การให้ลูกค้าได้รับบริการทางเว็บไซต์ เป็นต้น
3.5 ประเมินความเสี่ยงที่จะมากับการปรับปรุงใหม่ สิ่งที่ปรับปรุงขึ้นมาใหม่อาจไม่ใช่เป็นสิ่งที่ถูกต้องสมบูรณ์ ทีมงานต้องนำมาประเมินและปรับปรุงใหม่
4. การพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น (Improvement phase) ขั้นตอนการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นมีขั้นตอนการทำทั้งหมด 3 ประเด็น ได้แก่ การจัดทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลง การวางแผนในการนำไปปฏิบัติ การ การยืนยันให้สัตยาบันในการเปลี่ยแปลง
4.1 การทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงให้ได้มาซึ่งคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น อาจมีเครื่องมือคุณภาพอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องได้แก่ แผนผังกระบวนการวิเคราะห์ ไคเซ็น Poka-Yoke เป็นต้น
4.2 การวางแผนนำไปปฏิบัติ การวางแผนนำไปปฏิบัติมีวิธีการหลายอย่างเช่น ทดลองทำเป็นโครงการนำร่อง หรือนำเอาวิธีการของวงจรเดมมิ่ง อันได้แก่ การวางแผน ดำเนินการ ตรวจสอบ นำผลที่ได้ประเมินเพื่อวางแผนใหม่
4.3 การให้สัตยาบันเปลี่ยนแปลง เป็นการนำแผนการที่ได้กระทำในไปปฏิบัติให้เกิดผล เช่น การประชุมรายสัปดาห์ ทำแผนผังความก้าวหน้า เป็นต้น
5. ขั้นตอนการควบคุม (Control phase) ขั้นตอนการควบคุมมีขั้นตอนย่อย 5 ประเด็น ได้แก่ จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานและการตรวจสอบ พัฒนากลยุทธการควบคุม ให้ชมเชยหรือรางวัลและประกาศยกย่องผลสำเร็จ นำแผนการควบคุมไปปฏิบัติ
5.1 จัดทำคู่ มือการปฏิบัติงานและการตรวจสอบ หลาย ๆ บริษัทนิยมใช้ มาตรฐานระเบียบการปฏิบัติงาน และมีการควบคุมภายใน
5.2 พัฒนากลยุทธการควบคุม กลยุทธการควบคุมนิยมใช้ ควบคุมกระบวนการด้วยหลักสถิติ เช่น Run chart, Control chart เป็นต้น
5.3 ชมเชยหรือให้รางวัล พร้อมประกาศเกียรติคุณแก่ทีมงานที่ประสบผลสำเร็จ
5.4 นำแผนการควบคุมไปสู่การปฏิบัติ ในทีมงานทราบกันดีว่า การควบคุมเป็นสิ่งดี จึงควรนำแผนไปสู่การปฏิบัติและตรวจสอบการควบคุม นำผลการปฏิบัติไปรายงานสู่ผู้ที่ยังไม่ได้ปฏิบัติ

การพัฒนาระบบด้วยวงจรการพัฒนาระบบ
การพัฒนาระบบงานด้วยวงจรการพัฒนาระบบ (System Development Life Cycle:SDLC) มีขั้นตอนในการดำเนินงานเป็นลำดับ ทำให้การพัฒนาเป็นไปตามลำดับขั้นตอน อีกทั้งในบางส่วนของการออกแบบได้เลือกรูปแบบของ Spiral Model ขึ้นและมีประสิทธิผลดียิ่งขึ้นด้วย โดยวงจรการพัฒนาระบบงานมีขั้นตอนการทำงานเรียงตามลำดับ 7 ขั้นตอน ได้แก่
1 กำหนดปัญหาของระบบเดิม (Problem Definition) ขั้นตอนนี้เป็นการกำหนดขอบเขตของปัญหา สาเหตุของปัญหา ตลอดจนกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหา นักวิเคราะห์ระบบจะต้องศึกษาระบบงานเดิม(Current System) โดยหาเป้าหมายที่ชัดเจนของงาน ต่าง ๆ ประกอบกับนำคอมพิวเตอร์เข้าไปใช้ในส่วนต่าง ๆ ของระบบจากการสุ่มตัวอย่าง การสอบถามหาข้อมูล การสัมภาษณ์ การออกแบบสอบถาม การสังเกตพฤติกรรมของผู้ใช้และสิ่งแวดล้อมเพื่อสืบค้น เก็บรวบรวมข้อมูลที่เป็นความต้องการของระบบจากผู้ใช้ เพื่อกำหนดวัตถุประสงค์ที่สามารถวัดผลได้ ตลอดจนกำหนดขอบเขตของการพัฒนาระบบ ทำเอกสารขออนุมัติทำโครงการ งบประมาณ
2. การวิเคราะห์ระบบ (Analysis) การวิเคราะห์ระบบจะรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากขั้นตอนที่ 1 มาเขียนเป็นไดอะแกรม การไหลของข้อมูล (Data Flow Diagram) พจนานุกรมข้อมูล (Data Dictionary) และโครงสร้างการตัดสินใจ (Structured decision) มาช่วยในการวิเคราะห์ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ถูกต้อง และนักวิเคราะห์ระบบต้องมีการทำงานร่วมกับผู้ใช้ระบบเพื่อได้ความต้องการจากผู้ใช้โดยแท้จริง นำผลการวิเคราะห์ไปจัดทำเอกสารและให้มีการลงนาม
3. การออกแบบระบบ (Design) หลังจากการวิเคราะห์ระบบแล้ว ขั้นตอนนี้จะต้องทำการวางโครงสร้างของระบบงาน ทั้งในรูปลักษณะทั่วไปและเฉพาะ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการแจกแจงรายละเอียดที่แน่ชัดของแต่ละงาน ซึ่งขั้นตอนนี้จะได้ Purpose System เพื่อทำการออกแบบ Output, Input, E-R model และ Database เพื่อให้ได้ระบบงานที่สมบูรณ์ เพื่อส่งขั้นตอนนี้ไปยังโปรแกรมเมอร์ในการเขียนชุดคำสั่งต่อไป
4. การพัฒนาระบบ (Development) ขั้นตอนนี้จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างโปรแกรมเมอร์ และนักวิเคราะห์ระบบเพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งจะต้องนำส่วนที่ได้จากการวิเคราะห์ในขั้นตอนที่ 2 และการออกแบบในส่วนที่ 3 มาใช้ โดยโปรแกรมเมอร์จะเป็นผู้เขียนโปรแกรม ตรวจสอบข้อผิดพลาด กำหนดความปลอดภัยของระบบและทดสอบโปรแกรมรวมถึงทำเอกสารโปรแกรมสำหรับผู้ใช้ระบบอีกด้วย
5. การทดสอบระบบ (Testing) ก่อนที่จะนำระบบที่สร้างขึ้น ไปใช้จริงนั้นจะต้องมีการทดสอบระบบก่อน ซึ่งบางครั้งผู้ทดสอบอาจเป็นตัวโปรแกรมเมอร์เองหรือในบางกรณีอาจให้ นักวิเคราะห์ระบบ และผู้ใช้ระบบทดสอบ ซึ่งการทดสอบมี 3 วิธี คือ Module Test, Component Test และ Final Test
6. การนำไปใช้งานจริง (Implement) หลังจากทดสอบเสร็จสิ้น จึงนำระบบมาติดตั้งให้แก่ผู้ใช้ระบบ ได้ทดลองใช้จริง และผู้ใช้ต้องผ่านการทดสอบ ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนสุดท้ายของนักวิเคราะห์ระบบ ที่ต้องรับผิดชอบ
7. การบำรุงรักษาและพัฒนาระบบต่อ (Maintenance) หลังจากนำระบบใหม่มาติดตั้งให้กับผู้ใช้ระบบ ผู้ใช้ระบบยังไม่คุ้นเคยกับการทำงานของระบบใหม่ ดังนั้นจึงต้องมีการอบรม ให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง คอยดูแลบำรุงรักษาฐานข้อมูล และช่วยเหลือผู้ใช้ระบบในการปฏิบัติงาน

บทสรุป

ข้อที่แตกต่างหรือข้อที่เหมือนกัน รวมทั้งข้อเด่น ข้อด้อยระหว่างการพัฒนาสารสนเทศด้วยการใช้เครื่องมือ Six sigma กับวิธีการ SDLC

Six sigma
จุดเด่น
  • มีการนำลูกค้าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ
  • มีขอบเขตของโครงการที่แน่นอน
  • มั่นใจในความสำเร็จของโครงการแม้ว่าหัวหน้าโครงการลาออก

จุดด้อย
  • ยังไม่พบตำราใด ๆ กล่าวไว้


SDLC

จุดเด่น
  • เป็นขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก จึงเหมาะสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์เพียงซื้อหนังสือมาอ่านแล้วทำตาม
  • วิธีการมีความสอดคล้อง ต่อเนื่องกันไปทำให้ลดต้นทุนได้ โดยทีมงานสามารถนำไปใช้กับโครงการอื่น ๆ ได้
จุดด้อย
  • ในการทำซ้ำ การจัดทำเอกสารอาจไม่ตรงกับผู้ใช้ทุก ๆ คน
  • ผู้ใช้ระบบหรือลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมเพียงครั้งเดียว อาจเก็บข้อกำหนดไม่ครบ
  • ในการพัฒนาระบบขนาดใหญ่ที่ใช้เวลานาน หัวหน้าโครงการอาจลาออกได้ ทำให้โครงการหยุดชะงัก


เอกสารอ้างอิง

1. Tayntor, Christine B., Six Sigma Software Development, Boca Raton, Auerbach Publications, 2002.
2. James R. Evans and William M. Lindsay, An introduction to Six Sigma & Process Improvement, Thomson South-Western, 2005.
3. Kendall, K.E. and Kendall, J.E., System analysis and design, 4th ed., Prentice Hall International, 1998
4. William, D.S., Business Systems Analysis and Design, International Thomson
Publishing, 1994
5. Jeffrey, W.L. and Lonnie, B.D., Systems Analysis and Design Methods,
4th ed., Irwin McGraw-Hill, 1998
6. R. Anil, V. Sechadri, A Chavala, and M. Vemurai, A Methodology for Managing
Multi-Disciplinary Program with Six sigma approach, International Engineering Conference, 2004
7. Antonico Calos Tonini,Mauro de Mesquita Spinola and Fernando Jose Barbin Laurindo ,Six Sigma and Software development Process: DEMAIC Improvements, PICMET,2006
8. Jiju Antony and Ricardo Banuelas, Design for Six Sigma , Manufacturing Engineer, 2002
9. Yousef Gaolipour Kanani, Study and Analysis of control phase role for increasing the Success of Six Sigma project, IEEE International Conference on management of innovation and Technology, 2006
10. Craig Gygi, Neil Recarlo and Bruce Williams, Six Sigma for Dummies, Wiley Publishing Inc, 2005

วันเสาร์ที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

ระบบสมองฝังตัว

ในวันที่ 9-12 ต.ค.50 ได้เข้าร่วมอบรมโครงการสมองฝังตัว (Embeded System) ที่สมาคมสมองกลฝังตัวไทย ร่วมกับ SiPA และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จัดขึ้นมา เพื่อให้อาจารย์ได้ไปถ่ายทอดการพัฒนาระบบสมองกลฝังตัวให้แก่นักเรียน นักศึกษา ได้นำไปใช้ในการสร้างหุ่นยนต์ หรือสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆที่ต้องการให้มันฉลาด ในครั้งนี้วิทยากรได้แนะนำอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ได้แก่ ชุดพัฒนาที่ชื่อว่า Arm7 ลองใช้คำค้น Arm7 ที่ google ดูจะเห็นว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ต่าง ๆ ใช้ arm กันมากมาย ภาษาที่ใช้ในการพัฒนาเป็นภาษาซี แต่คำสั่งต่าง ๆ ต้องตรงกับชิปที่เลือกใช้ ผู้เขียนโปรแกรมต้องเปิดดู datasheet ตลอด และที่สำคัญผู้เขียนคำสั่งจะต้องเขียนตาม ฮาร์ดแวร์ที่ได้เชื่อมต่อเอาไว้ จัดว่าเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร แต่ก็สนุกสนานดี

จากการอบรมในครั้งนี้จึงมีแนวคิด การนำไปใช้ในเรื่องต่าง ๆ และมีเว็บที่เกี่ยวข้องที่ต้องจดจำเอาไว้กลัวจะลืม มีดังนี้

เว็บที่ขาย arm www.ett.co.th
เว็บต่างประเทศ http://www.moteiv.com/products/
เว็บของสมาคม http://www.tesa.or.th/

ลองเข้าไปศึกษาค้นคว้าดูนะครับ เหมาะสำหรับคนที่มีไฟ คนที่มีเวลาว่างไม่รู้จะทำอะไร
นักประดิษฐ์ หรือเป็นงานอดิเรกนักคอมพิวเตอร์ หรือคนที่เบื่อเขียนโปรแกรมอย่างเดียว

วันอังคารที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

ครอบครัวนักกีฬา


ขออนุญาตเขียนถึงตัวเองและครอบครัว ซึ่งโดยปกติแล้วไม่ค่อยได้พูดถึง แต่เห็นว่าเป็นตัวอย่างหรือแบบอย่างที่ดีให้แก่นักศึกษาได้ หรือผู้อ่านที่สนใจเพื่อนำไปเป็นแง่คิด ยังไม่ต้องเชื่อ หรือทำตามก็ได้ ต้องพิสูจน์ด้วยตนเอง
ที่ตั้งหัวข้อครอบครัวกีฬา ก็เพราะว่า ครอบครัวของผมทั้ง 4 คนจะเล่นกีฬากันเมื่อมีเวลาว่าง กีฬาที่เล่นมีหลายชนิด มีเทนนิสที่เล่นกันได้ทุกคน(พ่อกับแม่เล่น ดึงลูกมาเล่นด้วย) แบตมินตัน (อันนี้เล่นตามลูก) ปิงปอง(เล่นตามลูกคนโต) สุดท้ายได้แก่จักรยานเสือภูเขา (ลูก ๆ เล่นตามพ่อ)
เทนนิส ผมเล่นเทนนิสตั้งแต่อายุ 19 ปี เล่นอย่างจริงจัง ตั้งแต่ตื่นเช้า มาน็อคกับบอร์ดคนเดียว จนกระทั่งควบคุมบอลได้ จึงลงสนามได้ ตีโต้ตอบไปมา เมื่อเล่นได้แล้วจึงเล่น set นับแต้ม ส่วนใหญ่เล่นตอน 17.00 น. ถึง 3-4 ทุ่ม บางครั้งเล่นถึงเที่ยงคืน เล่นอย่างนี้จนเข้าขั้นเก่ง จึงไปตีแข่งขันกับทีมอื่น มหาวิทยาลัยอื่น จนกระทั่งเป็นตัวแทนนักกีฬาบุคลากรทบวงมหาวิทยาลัย ลงแข่งขั้นแรกที่ม.บูรพา และเคยไปอีกครั้งหนึ่งที่ ม.แม่โจ้ เชียงใหม่ เคยได้แชมป์รายการแข่งกีฬาบัณฑิต ประเภทคู่ที่ ม.รามคำแหง ปี 2544
วิธีชักชวนลูกมาตีเทนนิสด้วย โดยการชักจูงมาน็อคบอร์ด โชคดีที่ลูกชักจูงง่าย เพราะดูแล้วเขาชอบกีฬาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เพียงซื้อแร็คเก็ตเทนนิสให้ แต่พอชวนลงในสนามเขาไม่อยากเข้าไปตี ตอนแรกต้องให้เงินเป็นรางวัลแต่ละครั้ง แต่ถ้าอยากให้เขาเล่นจริงจัง เขากลับไม่ชอบ เพราะว่ามีคนเล่นเทนนิสมากหลังจากภราดร ได้แชมป์ ต้องแย่งแข่งขันกันเข้าสนาม จึงล้มเลิกที่จะเล่นอย่างจริง ๆ จัง ๆ
แบตมินตั้น เล่นตามลูก บังเอิญที่โรงเรียนของลูกเขาเล่นกันมาก เขาขอให้ซื้อไม้แบตให้ จึงซื้อเล่นกัน ได้เล่นกันทั้ง 4 คน แต่นาน ๆ สักครั้ง สนามแบตยังไม่มาตรฐาน มีกีฬาอื่นมาแย่งพื้นที่ (ยังไม่จบนะครับ มีเวลาจะมาเขียนต่อครับ)
มาเขียนเพิ่มเติมครับ จริง ๆ แล้วได้บันทึกเป็นไฟล์ movie เอาไว้แล้วตอนเล่นเทนนิส ส่วนปิงปองกะว่าจะไปบันทึกกันในวันหยุด ยังหาวันหยุดไม่ได้เลย ค่อยมีเวลาจะบันทึกมาเพิ่มเติมอีกทีหนึ่ง
สำหรับวันนี้ จะพูดถึงจักรยานเสือภูเขา นึกถึงตอนปั่นจักรยานกันใหม่ ๆ เรามีจักรยานแบบเสือภูเขาสามคัน ได้ทดลองปั่นดูว่าไปได้ไกลเพียงใด ในครั้งแรก ๆ จะปั่นไปตามหมู่บ้านรอบ ๆ ที่พัก บางครั้งนึกสนุกชวนลูกปั่นข้ามภูเขาจากอำเภอหาดใหญ่ ไปอำเภอนาหม่อมระยะทางไปกลับประมาณ 40 กม. ข้ามภูเขาสองลูก ลูกคนเล็กอายุเพิ่ง 8 ขวบยังไปถึง พอมีเวลาว่างจึงชวนกันปั่นไปเที่ยวน้ำตกโตนงาช้างระยะทางไปกลับ 70 กม. ก็ยังไปได้สบาย ๆ จึงวางแผนว่าในช่วงปิดเทอมจะปั่นจากหาดใหญ่ไปพัทลุง วางแผนการใช้เส้นทางที่เป็นถนนเล็ก ๆ ลัดเลาะไปตามหมู่บ้านริมทะเลสาบสงขลา ได้แผนที่จากสมาชิกเสือภูเขาด้วยกัน วันนั้นตื่นแต่เช้า ออกเดินทาง ไปถึงพัทลุงค่ำมืดได้ระยะทาง 123 กม. ทั้ง ๆ ที่ถ้าขับรถไประยะทางที่ใช้ถนนใหญ่จะได้ระยะทางเพียง 110 กม.โดยประมาณ
และนี่คือ link หลักฐานที่ได้ post ไว้ในกระทู้กลุ่มจักรยานเสือภูเขาครับ http://www.thaimtb.com/cgi-bin/viewkatoo.pl?id=113821
ปัจจุบันนี้ถ้าฝนไม่ตก ผมจะใช้จักรยานปั่นไปทำงานอยู่เรื่อย ๆ เพื่อเป็นตัวอย่างให้เด็กนักศึกษา และเพื่อสุขภาพของตนเอง ระยะทางไปกลับ 50 กม. เท่านั้นเอง ในการนี้ขอเชิญผู้รักสุขภาพ รักการออกกำลัง
มาใช้จักรยานในการเดินทาง แล้วท่านจะพบว่า มันดีกว่ากันเยอะเลย

ทำไมเว็บไซต์ชื่อดังทั้งหลายไม่ใช้ภาษาจาวา

ภาษาจาวา ของบริษัทซันไมโครซิสเต็ม www.sun.com/java เป็นโปรแกรมภาษาที่แจกจ่ายให้ใช้ฟรี ๆ มีหลักสูตรเรียนในระดับอุดมศึกษา
ทั้งปริญญาตรี โท จนปัจจุบันได้ข่าวว่า โรงเรียนชั้นมัธยมยังถูกขอร้อง เชิงบังคับให้นำมาสอน ผมเองได้ศึกษาในช่วงชั้นระดับปริญญาโท ทั้งเรียน ทั้งฝึกอบรม
และศึกษาด้วยตนเอง รู้สึกว่าเป็นการออกแบบสถาปัตยกรรมด้านซอฟต์แวร์ที่ดีมาก ในด้าน write onece run anywhere ไม่สนใจ platform
ไม่ว่าจะเป็นวินโดวส์ Linux unix FreeBSD หรืออื่น ๆ รวมไปทั้งเคยเห็นอาจารย์นำไปสอนในการเขียนโปรแกรมกับ Chip ในหุ่นยนต์ หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือ ซันได้ออกแบบมาให้ทำงานได้ทั้ง Desptop application, Client-Server, และ Webbase application รวมไปถึงกราฟิก มัลติมีเดีย ทำได้สารพัดอย่าง แต่ทำไมจึงเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียงทั้งหลายไม่นิยมนำภาษาจาวา มาใช้? ตัวอย่างต่อไปนี้ เป็นการเลือกใช้โปรแกรมต่าง ๆ
---------------------------------------------------------------
Web site OS Webserver language DBMS
----------------------------------------------------------------
Youtube Linux Apache Python MySQL
wikipeadia Linux Apache PHP MySQL
Livejournal Linux Apache Perl MySQL
MySpace Windows IIS ASP.NET SQLserver
Digg Linux Apache PHP MySQL
----------------------------------------------------------------
ที่มา
http://royal.pingdom.com/?p=173

จากตารางด้านบนจะเห็นว่า OS ที่ใช้สำหรับทำ Server นิยมใช้ของ Linux และอื่น ๆ จะเลือกที่เป็นของฟรี
ใครที่เห็นว่าของฟรี มักจะไม่มีคุณภาพอาจจะไม่จริงเสมอไปในวงการ IT ที่มีรายการของไมโครซอฟต์อยู่หนึ่งรายการ เป็นเพราะว่า Myspace เป็นของไมโคซอฟต์นั่นเอง ถ้าไปใช้ของคนอื่นจะให้เชื่อได้อย่างไรว่า ของตัวเองดีจริง

ในความเห็นของผม ตั้งแต่ได้มีโอกาสติดตั้งเครื่อง server เพื่อบริการเว็บได้ทดลองใช้ทั้ง Linux, FreeBSD,และ Windows จึงขอแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันได้เลยว่า
1. FreeBSD เสถียรภาพสุด ๆ ไม่เคยสร้างความปวดหัวให้กับ admin เลย
2. Linux มีปัญหาเรื่อง filesystem บ้างเมื่อไฟฟ้าดับ มี Hacker cracker มากวนใจบ้าง
3. Windows ถูกบังคับให้ใช้ด้วย Application ที่ไม่สามารถรันบน OS อื่นได้ต้องจำใจใช้ โดนทั้งไวรัส Hacker cracker spam worm สารพัดชนิด แทบจะไว้ใจไม่ได้เลย สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับ admin สุด ๆ

มาพูดภาษาจาวากันต่ออีกนิดหนึ่งเพื่อสรุปว่า ทำไมจึงไม่ค่อยมีใครใช้กัน ผมวิเคราะห์ด้วยเหตุผลส่วนตัวได้ดังนี้
1. ภาษาจาวา เหมาะกับการเขียนในเชิง OOP ต้องวิเคราะห์แบบ OO มีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มีน้อย สถาบันการศึกษาได้ผลิตไปสู่ตลาดบ้างแต่ยังไม่กล้านำไปใช้อย่างจริงจัง
2. ขาดตัวอย่าง application ที่ประสบผลสำเร็จ ไม่มีกลุ่มที่แลกเปลี่ยนความรู้กันวงกว้าง น.ศ. ที่เรียนจาวาบอกว่าไม่กล้าทำโปรเจ็คด้วยจาวา อาจจบการศึกษาช้า สู้ PHP ไม่ได้มีหนังสือค้นคว้ามากมาย ผู้รู้มากมายถามใครก็ได้
3. ยังทำงานช้า หมายถึงการประมวลผลช้ากว่า PHP มาก
4. มีภาษาใหม่ที่ทำงานความสามารถได้ใกล้เคียงภาษาจาวาเกิดขึ้นมา เช่น Python หรือ Ruby on rails เขียนสั้นกว่าเยอะ

แต่อย่างไรก็ตามความพิเศษของจาวา ยังเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดใจให้น่าใช้ อยู่อีกเยอะเพียงแต่ผู้เรียน ผู้สนใจให้ความสำคัญ ศึกษาเพิ่มเติมจนชำนาญ จะเห็นว่าการเขียนด้วยภาษาจาวาสนุก มีความสละสลวยในเนื้อหาของคำสั่ง ถ้าออกแบบ UML ออกมาดี เขียนคำสั่งจะง่ายมาก

สิ่งใด ๆ ที่ทำได้ยาก ๆ มันจะมีคุณค่าเสมอ ขอให้ตั้งใจศึกษาความรู้จะมากับท่านเอง

วันเสาร์ที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

บทที่ 1

บทที่ 1

บทนำ


ความเป็นมาของการค้นคว้าและพัฒนา
การประกันคุณภาพการศึกษาได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี พ.ศ. 2540 มาตราที่ 81 กำหนดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ(พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ และสุชาติ กิจพิทักษ์, 2545) ได้ให้หน่วยงานการศึกษาทุกระดับต้องมีมาตรฐาน มีการตรวจสอบคุณภาพการศึกษาจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพ หรือ สมศ. ซึ่งเป็นองค์กรมหาชนที่ทำหน้าที่ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายรัฐธรรมนูญ และนอกจากนี้หน่วยงานการศึกษาระดับอุดมศึกษายังมีการประเมินผลการปฏิบัติงานตามคำรับรองตาม สกอ. และ กพร. ด้วย ทำให้สถาบันอุดมศึกษาทุก ๆ สถาบันจำเป็นต้องรวบรวมข้อมูล มาประมวลผลเพื่อจัดทำเป็นรายงานจัดส่งให้ผู้ตรวจ ตรวจวัดต่อไป
มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาสังกัด สกอ. ต้องจัดเก็บ เตรียมข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นเอกสาร แล้วรวบรวมมาคำนวณเพื่อหาค่าเพื่อเป็นค่าคะแนนในแต่ตัวดัชนีชี้วัด ของแต่ละตัวชี้วัด เพื่อเป็นการประเมินสถาบันในทุก ๆ สถาบันการศึกษา พบว่ามหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะให้ความสำคัญกับการประกันคุณภาพที่นำเอาดัชนีชี้วัดมาประเมินคุณภาพเป็นอย่างมาก
ในปี พ.ศ.2550 ได้มีตัวดัชนีชี้วัดเพิ่มขึ้นจำนวน 22 ดัชนีชี้วัด มีตัวชี้วัดที่ 17 สำหรับวัดคุณภาพของการบริหารจัดการระบบฐานข้อมูลสารสนเทศของสถาบันอุดมศึกษา ประเด็นการวัดคุณภาพระบบสารสนเทศที่สนับสนุนการบริหารงานมหาวิทยาลัยฯ มีประเภทต่าง ๆ เช่น ฐานข้อมูลบุคลากร ฐานข้อมูลนักศึกษา ฐานข้อมูลหลักสูตร ฐานข้อมูลงานวิจัย ฯลฯ รวมทั้งการรักษาความปลอดภัย และตัวชี้วัดที่ 18 สำหรับวัดระดับความสำเร็จของการพัฒนาระบบฐานข้อมูลอุดมศึกษาด้านนักศึกษา บุคลากร และหลักสูตร ที่มหาวิทยาลัยฯ จะต้องจัดเก็บข้อมูลแล้วส่งข้อมูลทั้งหมดไปยัง สกอ. การวัดผลตามดัชนีชี้วัดทั้งสองข้อนี้ วัดโดยคุณภาพของระบบสารสนเทศและข้อมูลที่จัดส่งไป ถูกต้องตามเงื่อนไขที่กำหนดหรือไม่ ในกรณีที่มหาวิทยาลัยฯ ไม่มีระบบสารสนเทศทำให้ผลการประเมินมีคะแนนต่ำ อาจส่งผลต่อการจัดลำดับมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ได้ และผลกระทบต่อส่วนรวมของประเทศชาติที่เมื่อนำข้อมูลทั้งหมดไปรวมกันแล้ว ไม่สามารถประมวลผลให้ได้สารสนเทศที่เป็นจริงได้ และถ้านำสารสนเทศนี้ไปใช้ในการตัดสินใจจะทำให้เกิดผิดพลาดได้
มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มีภารกิจหลัก 6 ประการ ได้แก่
1. จัดการศึกษาเพื่อปวงชน อย่างหลากหลายรูปแบบ เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคคลในท้องถิ่น ให้มีคุณภาพ คุณธรรม และคุณค่า ทั้งต่อตนเอง ต่อท้องถิ่น และต่อสังคม ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
2. วิจัยเพื่อความเข้าใจในท้องถิ่นและสร้างสมความรู้จากท้องถิ่นเชื่อมโยงศาสตร์สากล นำผลไปใช้ในการร่วมปรับแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่น ตลอดจนพัฒนาสถาบัน และภารกิจ เพื่อให้สถาบันเป็นแหล่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ของท้องถิ่น
3. ผลิตและพัฒนาวิชาชีพครู โดยมุ่งผลิตและพัฒนาครูให้มีคุณภาพ คุณธรรม มีจิตวิญญาณของความเป็นครู ที่จะสามารถพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ และรัก ผูกพัน ภาคภูมิใจในวิชาชีพและท้องถิ่นของตน
4. บริการวิชาการและพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งและผสมผสานและประยุกต์องค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และศาสตร์สากล เพื่อพัฒนาชุมชนให้พัฒนาอย่างมีดุลยภาพและยั่งยืน สามรถคงไว้ซึ่งเอกลักษณะของไทยท้องถิ่นภาคใต้
5. ถ่ายทอดเทคโนโลยี ศึกษาค้นคว้า พัฒนาเทคโนโยลีที่เหมาะสมและนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ในการเรียนการสอนและบริการวิชาการแก่ชุมชน และเพื่อการปรับ พัฒนา แก้ปัญหาของท้องถิ่น
6. ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยมุ่งศึกษาค้นคว้า วิจัย เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น เผยแพร่โดยผ่านกระบวนการเรียนการสอนกิจกรรมนักศึกษา และสู้ชมชนด้วยรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถดำรงรักษาไว้ ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์และภาคภูมิใจวัฒนธรรมของตน
ด้วยพันธกิจดังกล่าวจึงได้จัดตั้งโครงสร้างการบริหารงานออกเป็นสถาบัน สำนักและคณะต่าง ๆ รวมทั้งหมด 13 หน่วยงาน ดังนี้
1. สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน
2. สถาบันวิจัยและพัฒนา
3. สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
4. สำนักศิลปะและวัฒนธรรม
5. สำนักงานอธิการบดี
6. สำนักกิจการนักศึกษา
7. คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
8. คณะครุศาสตร์
9. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
10. คณะวิทยาการจัดการ
11. คณะเทคโนโลยีการเกษตร
12. คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
13. คณะศิลปกรรมศาสตร์
ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการภายในมหาวิทยาลัยเพื่อให้ตอบสนองหน่วยงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยฯ นั้นมีอยู่จำนวนน้อยไม่ครอบคลุมการทำงานทั้งหมด นอกจากนี้ระบบสารสนเทศที่มีอยู่บางหน่วยงานไม่ได้จัดเก็บเป็นส่วนกลาง ทำให้เกิดการทำงานซ้ำซ้อน เสียเวลาในการทำงานและทำให้เพิ่มต้นทุนค่าจ้างบุคลากรมาป้อนข้อมูลที่ซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้น ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงมีนโยบายที่จะพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ มาใช้ในการบริหารงานให้ครอบคลุมทุก ๆ หน่วยงานโดยจัดเก็บฐานข้อมูลให้เป็นส่วนกลาง ระบบสารสนเทศที่จะนำมาใช้มี ดังนี้
1. ระบบสารสนเทศบุคลากร
2. ระบบสารสนเทศนักศึกษา
3. ระบบสารสนเทศหลักสูตร
4. ระบบสารสนเทศงานวิจัย
5. ระบบสารสนเทศงานนโยบายและแผน
6. ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารสำนักวิทยบริการ
7. ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการงานการเงินและบัญชี
8. ระบบสารสนเทศงานพัสดุ
9. ระบบสารสนเทศงานธุรการ
10. ระบบสารสนเทศกิจการนักศึกษาและระบบติดตามบัณฑิต
11. ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารสำนักส่งเสริมและวัฒนธรรม
12. ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารงานคณะ
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลายังมีนโยบายที่จะให้มีกลุ่มผู้ใช้ระบบสารสนเทศคลอบคลุมกลุ่มผู้ใช้ทุกกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้ระดับปฏิบัติการ ได้แก่ ธุรการ เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล ผู้ใช้ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ เช่น อาจารย์ กลุ่มผู้ใช้ที่เป็นผู้บริหารระดับกลาง เช่น คณบดี ผู้อำนวยการสำนักต่าง ๆ และผู้บริหารระดับสูง ได้แก่ อธิการบดี เป็นต้น
ในการพัฒนาระบบสารสนเทศในอดีต มีกระบวนการพัฒนาตามขั้นตอนที่เรียกว่า วงจรการพัฒนาระบบสารสนเทศ (Software Development Life Cycle: SDLC) (โอภาส เอี่ยมสิริวงศ์, 2548) ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนทั้งหมด 5 ขั้นตอน คือ การวางแผนโครงการ การวิเคราะห์ การออกแบบ การนำไปใช้ การบำรุงรักษา แต่การนำกระบวนการแบบนี้มาใช้ในการพัฒนาระบบขนาดใหญ่เช่นนี้ จะทำให้เกิดไม่มีคุณภาพ ขาดความน่าเชื่อถือ และไม่ได้มาตรฐาน หรืออาจมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น คุณภาพของสารสนเทศที่ได้ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้พัฒนาเป็นหลัก
ด้วยปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น จึงมีแนวคิดการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา โดยบูรณาการกับระเบียบวิธีคุณภาพซิกซ์ซิกม่า เป็นเครื่องมือแล้วมุ่งหวังที่ให้ระบบสารสนเทศที่ได้มีคุณภาพสูงสุด ระเบียบวิธีคุณภาพซิกซ์ซิกม่าเป็นทฤษฎีของนายมิเกล เจ แฮรี่ ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อลดความผิดพลาดในการผลิตสินค้าของบริษัทโมโตโรลา โดยกำหนดระดับของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต เป็นระดับซิกม่า (Sigma level) ซึ่งระดับซิกม่าที่ดีที่สุดนั้น คือ ค่าซิกม่าระดับ 6 หรือที่เรียกกันว่า ซิกซ์ซิกม่า อันเป็นระดับของกระบวนการผลิตที่ยอมให้มีสินค้าหรือผลผลิตมีความผิดพลาดเพียง 3.4 ชิ้นในล้านชิ้นเท่านั้น
ในปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ซิกซ์ซิกม่ากับงานต่าง ๆ เช่น ด้านธุรกิจ อุตสาหกรรมและบริการกัน พบว่าในการทำโครงการซิกซ์ซิกม่านั้นไม่ต้องลดความผิดพลาดจนอยู่ในระดับ 6 แต่ความผิดพลาดที่เกิดนั้นไม่ควรต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ กระบวนการทำโครงการซิกซ์ซิกม่ามีชื่อเรียกว่าดีเมอิก (DMAIC) ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ขั้นกำหนด (define) เป็นการกำหนดปัญหา ระบุลูกค้า สร้างแผนที่กระบวนการ กำหนดขอบข่ายของโครงงาน และผังการปรับโครงงาน
2. ขั้นวัดผลตัวชี้วัด (measure) เป็นขั้นตอนระบุวิธีวัดผลและตัวแปรที่ใช้ในการวัดผล อธิบายประเภทของข้อมูล และพัฒนาแผนการเก็บรวบรวมข้อมูล
3. ขั้นวิเคราะห์ (analyze) เป็นขั้นตอนการทบทวนเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ และดำเนินการวิเคราะห์ผลของตัวชี้วัด
4. ขั้นปรับปรุง (improve) เป็นขั้นตอนของการดำเนินการปรับปรุงการดำเนินงานตามที่วิเคราะห์เอาไว้ เพื่อให้ได้ค่าวัดผลจากตัวชี้วัดที่ดีขึ้น
5. ขั้นควบคุม (control) เป็นขั้นตอนดำเนินการควบคุมกระบวนการให้ดำเนินต่อไปโดยไม่ให้ความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเกิดขึ้นซ้ำอีก
จากปัญหาการพัฒนาระบบสารสนเทศในอดีตดังกล่าวมาแล้ว และผลดีของยุทธศาสตร์ซิกซ์ซิกม่า จึงได้นำเอาระเบียบวิธีคุณภาพซิกซ์ซิกม่ามาบูรณาการกับกระบวนการพัฒนาระบบสารสนเทศแล้วมุ่งหวังที่จะสร้างระดับคุณภาพให้ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาได้สูงสุด โดยนำกระบวนการทำโครงการซิกซ์ซิกม่ามีชื่อเรียกว่าดีเมอิก มาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบสารสนเทศของมหาวิทยาลัยฯ เพื่อสนับสนุนให้การบริหารงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้ ตามรูปแบบที่ผู้บริหารต้องการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาต่อไป




วัตถุประสงค์ของการค้นคว้า
เพื่อสร้างตัวแบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการบริหารและการจัดการงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ด้วยการบูรณาการกับระเบียบวิธีคุณภาพซิกซ์ซิกม่า เพื่อสร้างระดับคุณภาพการจัดการได้สูงสุด

สมมติฐานการวิจัย
เมื่อนำเอาระเบียบวิธีคุณภาพซิกซ์ซิกม่า มาบูรณาการกับการพัฒนาระบบสารสนเทศแล้วจะทำให้วิเคราะห์ความพึงพอใจของผู้ใช้ระดับผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารระดับกลาง ผู้ใช้ระดับความรู้และผู้ใช้ระดับปฏิบัติการได้ผลการวัดความพอใจสูงสุด และวัดคุณภาพเกิดคุณภาพได้สูงสุดอย่างไร ซึ่งสามารถสร้างเป็นตัวแบบได้ดังนี้

QITSixSigma = IT * MGT * QMSixSigma

กรอบแนวคิดในการวิจัย
ตัวแบบเทคโนโลยีสารสนเทศคุณภาพที่เกิดจากวิทยาการคุณภาพซิกซ์ซิกม่าบูรณาการกับกระบวนการพัฒนาระบบสารสนเทศ ทำให้เกิดวิทยาการคุณภาพอีกชนิดหนึ่งขึ้นมา สามารถเขียนเป็นไดอะแกรมดังนี้


1. ระเบียบวิธีการบริหารงานมหาวิทยาลัยฯ
2. ระเบียบวิธีการซิกซ์ซิกม่า
3. เทคโนโลยีสารสนเทศ QIT










ประโยชน์ของการค้นคว้า
1. ได้ตัวแบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับสนับสนุนการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาที่บูรณาการกับระเบียบวิธีคุณภาพซิกซ์ซิกม่า สำหรับนำไปใช้ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
2. เป็นแนวทางในการศึกษาค้นคว้าเพื่อใช้ในการพัฒนาระบบสารสนเทศให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ได้

ขอบเขตของการค้นคว้า
1. ตัวแบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับสนับสนุนการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาที่บูรณาการกับระเบียบวิธีคุณภาพซิกซ์ซิกม่า สำหรับนำไปใช้ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ประกอบด้วย ระบบบริหารงานบุคคล ระบบสารสนเทศงานวิจัย ระบบสารสนเทศงานนโยบายและแผน และระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ การเงินและบัญชีเท่านั้น
2. ตัวแบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับสนับสนุนการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาที่บูรณาการกับระเบียบวิธีคุณภาพซิกซ์ซิกม่า เพื่อรวบรวมข้อมูล สร้างและเก็บรายงานต่าง ๆ ตามขั้นตอนดีเมอิกโดยข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์เป็นข้อมูลปัจจุบัน (พ.ศ. 2550)

นิยามศัพท์เฉพาะ
1. ตัวแบบเทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาที่บูรณาการกับระเบียบวิธีคุณภาพซิกซ์ซิกม่า สำหรับนำไปใช้ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาคือ ตัวแบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สนับสนุนการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาที่นำเทคนิควิธีการจัดการคุณภาพแบบ ซิกซ์ซิกม่ามาใช้ในทุกกระบวนการที่ได้มาซึ่งระบบสารสนเทศทั้งหมด
2. ซิกซ์ซิกม่า คือ ระเบียบวิธีการการสร้างคุณภาพโดยใช้กระบวนการดีเมอิก ที่นำมาใช้กับกระบวนการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ทำเพื่อปรับปรุงกระบวนการการบริหารและจัดการภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา







บรรณานุกรม

พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ และสุชาติ กิจพิทักษ์. (2545). การประกันคุณภาพการศึกษา.
[Online], Available: http://www.moe.go.th/wijai/edu%20qa.htm, [2007, June 30].
มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา. (2550). ปรัชญา วิสัยทัศน์ พันธกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา.
[Online], Available: http://www.skru.ac.th/about/other.php, [2007, June 30].
โอภาส เอี่ยมสิริวงศ์. (2548). การวิเคราะห์และออกแบบระบบ. บริบัทซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด
จารึก ชูกิตติกุล. (2548). เทคโนโลยีสารสนเทศคุณภาพ: ปรัชญา สาระ และวิทยานิพนธ์.
คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีชั้นสูง ฉบับที่ 8 เดือนตุลาคม 2548,1-15.