วันเสาร์ที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๗

การเลี้ยงหมูหลุม

เนื่องจากได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการเลี้ยงหมูหลุม ของศูนย์ถ่ายทอดเศรษฐกิจพอเพียงของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา  วันนี้จึงได้ค้นคว้า เมื่อได้ความรู้ สารสนเทศแล้ว จึงนำมาเขียนเพื่อเป็นความจำ และถ่ายทอดไปยังผู้อ่านที่สนใจด้วย

หมูหลุม เป็นชื่อที่บ่งบอกถึงวิธีการเลี้ยง หรือบอกถึงลักษณะโรงเรือน โดยการทำโรงเรือนให้มีความลึก โดยการขุดพื้นดินลงไปตั้งแต่ 70-90 ซม. การเลี้ยงแบบนี้ เป็นวิธีเลี้ยงหมูของคนเกาหลีใต้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนของเกษตรกรที่ต้องการให้ครบวงจร นั่นคือ การนำเศษพืช หรืออาหารเหลือใช้มาเป็นอาหารหมู ในขณะเดียวกันของขับถ่ายของหมู จะถูกหมักเพื่อทำเป็นปุ๋ยหมักเพื่อนำไปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ปลูกพืชต่อไป ในขณะที่เราสามารถขายหมูได้กำไรแล้ว ยังลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีได้ทั้งหมด เช่น ถ้าเลี้ยงหมูหลุม 5 เดือน จำนวน 10 ตัว จะได้ปุ๋ยอินทรีย์ถึง 50-60 กระสอบทีเดียว รายละเอียดต่าง ๆ มีดังนี้


  • การสร้างโรงเรือน
โรงเรือนจะต้องหาพื้นที่ที่สูง ไม่มีน้ำขัง อากาศปลอดโปร่ง ปลูกโรงเรือนทิศตะวันออก-ตก เพื่อไม่ให้แสงแดดส่องถึงตัวหมู

ความกว้าง ยาวที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงหมู
จำนวนหมู 10 ตัว กว้าง 3 เมตร ยาว 6 เมตร 
จำนวนหมู 4 ตัว กว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร ในกรณีที่มีพื้นที่จำกัด แต่หากต้องการเลี้ยงแม่พันธุ์ จะใส่หมูเพียง 1 ตัวเท่านั้น
หากต้องการเลี้ยง 20 ตัวควรแบ่งเป็น 2 คอก เพราะหมูจะแออัดแย่งอาหารกัน

ความสูงโรงเรือน ตามความเหมาะสม และสะดวกการเข้าไปใช้งาน คือ ไม่ควรต่ำกว่า 1.8 เมตร (ในส่วนที่ต่ำที่สุด) มุงหลังคาด้วยวัสดุที่มีในท้องถิ่นราคาถูก ๆ เช่น ตับจาก หญ้าแฝก ใบตาล เป็นต้น
รูปทรงควรเป็นหน้าจั่ว  แต่ถ้ากว้าง 2 เมตร จะใช้เพิงหมาแหงนจะดีกว่า

เสาโรงเรือน ควรเป็นวัสดุที่คงทน เช่น ไม้เสาเนื้อแข็ง เสาปูนคอนกรีต เป็นต้น

การขุดหลุมภายในโรงเรือน ควรขุดลึก 70-100 ซม. ถ้าต้องการปุ๋ยคอกจำนวนมาก ควรลึก 1 เมตร 
ด้านขอบหลุมทั้งสี่ด้าน ให้ก่ออิฐบล็อกจากขอบบ่อขึ้นไปถึงระดับดิน โดยเพิ่มอิฐบล็อกอีก 1 แผ่น ก่อให้แข็งแรง อย่าให้ดินทรุดลงมาทำลายบล็อกซีเมนต์ได้ พื้นล่างสุดไม่มีการเทปูนรองใด ๆ ทั้งสิ้น ให้เป็นดินอย่างเดียว

การสร้างผนังกั้น มักนิยมใช้แผ่นไม้ที่เหลือใช้มากั้น หรือใช้กิ่งไม้ใหญ่ ๆ ตีเป็นช่อง ๆ ให้ลมผ่านได้ เช่น ทางใบตาล (ภาษาใต้เรียกว่า ทางโหนด) หรือ ไม้สน แต่ถ้าต้องการคงทน ทำเป็นอาชีพ เขาแนะนำให้เป็นซีเมนต์บล็อก มีช่องอากาศรูใหญ่ ความสูงประมาณ 1 เมตร 

การทำรางอาหารให้หมู ควรทำรางด้านนอก ข้างใดข้างหนึ่ง โดยมีช่องให้หมูโผล่หัวมากินได้ช่องละ 1 ตัว เพื่อไม่ให้หมูแย่งอาหารกันกิน รางทำด้วยซีเมนต์ลาดให้เป็นหลุม กว้าง ยาวตามความเหมาะสม

  • การเตรียมการเลี้ยง
วัสดุที่ใส่ในหลุมประกอบด้วย แกลบ ขี้วัว หรือวัสดุสำหรับทำปุ๋ยหมัก เช่น หยวกกล้วยที่หั่นแล้ว จำนวน 1 ส่วน  รำ และเกลือแกง น้ำหมักจุลินทรีย์

ขั้นตอนการเตรียมหลุม
  1. ใส่หยวกกล้วย เศษพืช หญ้าแฝกรองพื้นในชั้นแรก หนาประมาณ 30 ซม. ราดด้วยน้ำจุลินทรีย์
  2. ใส่แกลบที่ผสมด้วยขี้วัว ขี้หมู ในชั้นที่ 2 หนา 30 ซม. เช่นกัน 
  3. ชั้นที่ 3 ใส่แกลบ 10-15 กระสอบ ผสมรำหยาบ 15 กก. เกลือแกง 1 กก. หนา 30 ซม. ราดด้วยจุลินทรีย์และน้ำจนชวก ทิ้งไว้ 10-15 วัน หรือจนกลิ่นแก๊สหมด หากปล่อยหมูทันที จะทำให้หมูดมกลิ่นแก๊ส จนตายได้
  • การคัดเลือกพันธุ์หมู
ควรเลือกพันธุ์ที่ดี อายุ 1-1.5 เดือน น้ำหนัก 10-15 กก. 

  • การให้อาหาร 
ใช้อาหารสำเร็จรูป 25 % ใช้พืช เช่น หยวกกล้วย ผัก 75 % หรือเศษอาหารจากโรงอาหารแทนได้ ควรผสมน้ำหมักจุลินทรีย์เล็กน้อยด้วย
ให้อาหารวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น
การให้น้ำ แบบอัตโนมัติที่หมูสามารถกินเองได้ หาซื้อที่ร้านอุปกรณ์การเกษตรหรือร้านขายอุปกรณ์ประปาขนาดใหญ่ จะมีขาย

ควรราดน้ำหมักจุลินทรีย์สัปดาห์ละ 2 ครั้ง