วันเสาร์ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐

แนะนำการเขียนโปรแกรมภาษา

ด้วยประสบการณ์คลุกคลีอยู่กับคอมพิวเตอร์ มาตั้งแต่ปลายปี 2533 คือตั้งแต่เริ่มเรียนสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ครั้งแรก ในระดับอนุปริญญา มีประสบการณ์ด้านโปรแกรมภาษาคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ยุคภาษา pascal ภาษา C จนกระทั่งปัจจุบัน ภาษาพวก visual เช่น visual basic, visual C, visual C# และภาษากลุ่ม Object ได้แก่ Java, .NET และอื่น ๆ ปัจจุบันกำลังสนใจภาษาต่าง ๆ ได้แก่ php และที่ชื่นชอบเป็นพิเศษขณะนี้ ได้แก่ Python ซึ่งได้รับคำแนะนำมาจากคุณจักรกฤษ แสงแก้ว ทำให้หลงใหลภาษานี้อย่างดื่มด่ำ ถอนตัวไม่ขึ้น หากท่านผู้อ่านสนใจในสิ่งที่ผมทราบ เชิญเข้ามาสอบถามได้เลยครับ
ยินดียิ่งสำหรับนักศึกษา ที่เรียนสาขาคอมพิวเตอร์ ที่กำลังเรียนการเขียนโปรแกรม ทั้งจาก ม.ราชภัฏสงขลา หรือ มหาวิทยาลัยอื่น ๆ เข้ามาสอบถามได้ครับ

ไปศึกษาดูงานที่ประเทศเวียดนาม




เมื่อตอนปิดเทอมปี 2550 มีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศเวียดนาม ทั้งเวียดนามเหนือ เมืองฮานอย เวียดนามกลาง เมืองเว้ ดานัง และเวียดนามใต้ เมืองโฮจิมินต์ ได้ข้อคิดมาเตือนใจพวกเราชาวไทยหลาย ๆ เรื่อง ทั้งด้านการศึกษา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และการเป็นอยู่ประจำวัน
1. ด้านการศึกษา คนเวียดนามมีค่านิยมที่ดี มีความเห็นว่าการศึกษาทำให้ หลุดพ้นจากความยากจนได้ (เช่นเดียวกับคนไทยโดยทั่วไป) จึงส่งลูกเข้าศึกษาให้จบปริญญาตรี ถึงแม้ว่าเงินเดือนจะน้อย แต่ค่าครองชีพถูกมาก เขาจึงพอใจกับการทำงาน ในระดับปริญญาตรี เงินเดือนถามจากไกด์ ไกด์ได้รับประมาณ 2,700 บาท เท่ากับอาจารย์วุฒิปริญญาโท คนที่จบการศึกษาจะไม่ตกงาน เพราะอัตราการเจริญเติบโต 8 % มากกว่าเมืองไทย มีบริษัทต่างชาติ ไปจองตัวนักศึกษาที่กำลังจะจบจากมหาวิทยาลัยฯ ผู้บริหารในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งฮานอย บอกว่ามีนักศึกษา สามหมื่นกว่าคนเข้าเรียน หลายสาขา สาขาที่น่าจับตา คิดว่าล้ำหน้ากว่าไทย ได้แก่ เทคโนโลยีอากาศยาน มีห้องแลป ในอนาคตเราอาจจะได้ข่าวว่า เวียตนามส่งยิงกระสวยอวกาศได้

2. ด้านวัฒนธรรม ผมไปดูงานด้านวัฒนธรรมต่าง ๆ ของชาวเวียดนาม มีไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับบ้านเรา ด้วยความที่ต้องมีสงครามมาเป็นเวลานาน แต่วัฒนธรรมการเป็นอยู่ ความขยันขันแข็ง ความคิดเห็นทางการเมือง จะแตกแต่งจากบ้านเรา เวียตนามมีความอดทนสูงกว่า ค้าขายเก่งกว่า กลางวันตอนเที่ยง จะมีคนอยู่กลางทุ่งนา ทุ่งนาไม่มีหญ้า เขาทำนาไม่มีวันหยุด ปีละ 3 ครั้ง ปั่นจักรยานในชีวิตการเดินทาง ผู้หญิงขยันกว่าผู้ชาย ผู้หญิงค้าขาย ผู้ชายเล่นหมากรุก เลี้ยงนกเหมือนเหมือนบ้านเรา แต่ที่เวียตนามผู้หญิงจะน้อยกว่าผู้ชายมาก ผู้หญิงจึงต้องดูแลตัวเองให้ดี ไม่ให้แสงแดดโดนผิวหนัง ปั่นจักรยานต้องใส่ปลอกแขน เพราะกลัวจะขึ้นคาน ไกด์บอกว่าการแต่งงานกับผู้หญิงเวียดนามไม่ต้องมีสินสอดทองหมั้น คนไทยที่นั่น popular พอสมควร เพราะคนไทยไปที่นั่นบ่อยมาก ซื้อ ซื้อ ซื้อ ๆ ๆ ๆ


3. ด้านการบริการ เราได้ใช้บริการสายการบินของเวียตนาม จึงเห็นการบริการของ air hostess สาวชาวเวียตนาม หน้าตาดี สวยผิวขาวแต่ขาดรอยยิ้ม หน้าบึ้งนิด ๆ ขออะไร ไม่ค่อยได้ สู้ hostess การบินไทยไม่ได้เลย สาวเวียตนามเหนือ เวียตนามใต้ไม่ค่อยใส่ใจบริการ สนใจแต่เงินในกระเป๋าลูกค้า แต่สาวเวียตนามกลาง เอาอกเอาใจเก่ง หนุ่ม ๆ ก็สนใจคุยกับลูกค้า ในส่วนนี้ประเทศไทยมี service mind มากกว่า


ในภาพแสดงการพายเรือด้วยเท้า ของชาวเวียดนาม ที่ฮาลองบก(ตอนใต้ของฮานอย)

วันอาทิตย์ที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐

ยักษ์ใหญ่ IBM ให้ดาวน์โหลดโปรแกรมออฟฟิศไปใชฟรี ๆ

บริษัทไอบีเอ็ม เจ้าตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ และซอฟต์แวร์ด้านออฟฟิศ ที่มีชื่อว่า IBM lotus symphony ประกอบด้วย lotus symphony document เป็นโปรแกรม word document โปรแกรม lotus symphony presentation เป็นโปรแกรมสำหรับ presentation เหมือนกับ MS Power Point และโปรแกรม lotus symphony spreatsheet เช่นเดียวกับ Excel เชิญ ๆ ชาวสมาชิกที่ชอบของฟรีดาวน์โหลดมาใช้ดู ถ้าหากต้องซื้อ MS office มาใช้ในราคาหลักหมื่น ขอแนะนำให้ใช้ของฟรีจากไอบีเอ็ม ดีกว่าครับ รองรับ ทั้ง linux, apple, windows


ลิงค์ตามนี้เลยครับ http://symphony.lotus.com/software/lotus/symphony/home.jspa


ดูตัวอย่างภาพ

วันอาทิตย์ที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐

ปัญหา 8 ประการที่ระบบสารสนเทศไม่ประสบผลสำเร็จ ในองค์กรของส่วนราชการ

บทนำ
เมื่อกล่าวถึง ระบบสารสนเทศ มีคนจำนวนมากมักมองไปที่ระบบงานคอมพิวเตอร์ ที่มีใช้ในองค์กรหรือบริษัทที่เป็นเอกชน ด้วยเหตุที่เขาเหล่านั้นมักมีประสบการณ์โดยตรงจากการเห็น หรือมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจดังกล่าว เช่น เมื่อไปใช้บริการซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ จะเห็นพนักงานใช้เครื่องอ่านรหัสแท่ง มาอ่านรหัสที่สินค้าแล้วพิมพ์ใบเสร็จบอกราคารวม ให้ผู้ซื้อทราบพร้อมบอกจำนวนเงินที่ต้องทอน เป็นต้น หรือตัวอย่างการจองตั๋วรถทัวร์โดยสารปรับอากาศ หรือจองตั๋วรถไฟ ตลอดจนเครื่องบิน ในปัจจุบันต้องจองผ่านระบบสารสนเทศทั้งนั้น ทั้งเป็นการจองด้วยตนเองที่เป็นแบบออนไลน์และการไปจองโดยมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทจัดการให้ ทั้งหมดนี้เป็นการนำเอาระบบสารสนเทศมาใช้ในการจัดการและการบริหารองค์กรทั้งสิ้น


เมื่อย้อนกลับมาดูระบบสารสนเทศที่มีใช้ในหน่วยงานราชการต่าง ๆ จะเห็นว่าหน่วยงานหลาย ๆ หน่วยงานนำระบบ ไอทีมาใช้ในการจัดการและการบริหารเช่นกัน เช่น กรมสรรพากร นำระบบสารสนเทศมาใช้ในการจัดเก็บภาษี กรมการปกครองนำระบบสารสนเทศมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กรมอุตุนิยมวิทยา นำเอาระบบการพยากรณ์อากาศมาใช้ และหน่วยงานอื่นอีกมากมาย รวมทั้งมหาวิทยาลัย แต่มีหน่วยงานจำนวนไม่มากนักที่ประสบผลสำเร็จจากการใช้ระบบสารสนเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้เท่าเทียมเช่นเดียวกับองค์กรธุรกิจ เมื่อสำรวจปัญหาของการนำระบบสารสนเทศไปใช้ในหน่วยงานราชการแล้วจะพบว่าปัญหาหลัก ๆ ที่ทำให้ระบบดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ มีดังนี้ 

1) ขาดข้อกำหนดวิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ นโยบายและมาตรฐานด้านไอที 
2) ขาดการวางแผนแม่บทที่ดี 
3) ขาดงบประมาณ 
4) ขาดการติดตาม 
5) ขาดความรู้ทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ 
6) การพัฒนาระบบสารสนเทศที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด 
7) การเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลบ่อยครั้ง 
8) ระบบสารสนเทศขาดคุณภาพ

1.ขาดข้อกำหนดวิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ นโยบายและมาตรฐานด้านไอที


หน่วยงานราชการโดยทั่วไปจะมีวิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ นโยบายตามภารกิจของหน่วยงานนั้น ๆ เป็นหลัก ครรชิต มาลัยวงศ์ (2546) ให้ความเห็นว่าส่วนราชการยังขาดข้อกำหนดวิสัยทัศน์หรือไม่ให้ความสำคัญกับไอที อาจเป็นไปได้ทั้งการขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวจากผู้บริหารระดับสูง ทั้งที่หน่วยงานเหล่านี้ควรกำหนดวิสัยทัศน์ให้เป็นจริงจัง วิสัยทัศน์นั้นเปรียบเสมือนกับภาพในอนาคตอันสวยงามของหน่วยงาน เป็นภาพของสิ่งที่คาดหวังจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดจากการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานด้วยแล้ว จะทำให้ทุกคนมีความรู้สึกร่วมกัน นอกจากหน่วยงานหลักแล้ว หน่วยงานย่อยในองค์กรจะต้องกำหนดวิสัยทัศน์ของการใช้ระบบสารสนเทศให้ชัดเจนด้วย เช่น กำหนดว่าจะใช้สารสนเทศทำหน้าที่อะไรบ้างเพื่อให้ตอบสนองและสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของหน่วยงานหลักได้ นอกจากนี้หน่วยงานต้องกำหนดวัตถุประสงค์และกลยุทธ์อย่างเหมาะสม สำหรับนโยบายหน่วยงานจะต้องมีนโยบายในการได้มาซึ่งระบบสารสนเทศที่ชัดเจนแน่นอน เช่น อาจจะจัดซื้อโดยตรงจากผู้ผลิตซอฟต์แวร์หรือจ้างบริษัทภายนอกมาพัฒนาให้หน่วยงาน หรืออาจจะจัดตั้งหน่วยงานเพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศขึ้นโดยตรงก็ได้ นอกจากนี้ในเรื่องของการกำหนดมาตรฐานสารสนเทศ จัดได้ว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่มาตรฐานด้าน ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ระบบเครือข่าย ข้อมูล รหัสข้อมูล ตำแหน่ง ฯลฯ ถ้าหากหน่วยงานไม่ได้กำหนดมาตรฐานตั้งแต่ตอนต้นจะทำให้เกิดปัญหาข้อมูลไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ การถ่ายโอนข้อมูลจะกระทำไม่ได้ เพราะแต่ละหน่วยงานต่างกำหนดรหัสขึ้นมาเองที่ไม่สอดคล้องกัน หรือขัดแย้งกัน

2.ขาดการวางแผนแม่บทที่ดี


แผนแม่บทมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อองค์กร หากขาดแผนแม่บทแล้ว ปัญหาต่าง ๆ จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เปรียบเสมือนการเดินวกไปวนมาอย่างไร้จุดมุ่งหมาย แผนแม่บทเปรียบได้กับแผนที่ แผนดำเนินงาน เช่น แผนการจัดซื้อครุภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ แผนการพัฒนาระบบสารสนเทศ เป็นต้น แผนแม่บทนิยมเขียนขึ้นมาเพื่อให้ใช้งานได้ระยะเวลาครอบคลุม 3-5 ปี จะต้องระบุรายละเอียดต่าง ๆ ที่สำคัญ ๆ ลงไปในแผน เช่น สถาปัตยกรรมฮาร์ดแวร์ จะใช้เครื่องชนิดเมนเฟรมคอมพิวเตอร์หรือ client-server หรือเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีธรรมดา และสถาปัตยกรรมเครือข่าย ตลอดจนลักษณะการเชื่อมโยงของเครือข่ายทั้งหมดของหน่วยงาน แผนกำหนดลำดับความสำคัญก่อนหลัง ของการพัฒนาระบบและแผนการพัฒนาระบบสารสนเทศ ตลอดจนแผนการพัฒนาบุคลากรด้านไอทีของหน่วยงานเพื่อรองรับการขยายงาน เป็นต้น หากองค์กรใดขาดการวางแผนแม่บทที่ดีแล้ว องค์กรเหล่านั้นจะไม่สามารถนำระบบสารสนเทศไปใช้ให้ประสบผลสำเร็จได้

3.ขาดงบประมาณ


งบประมาณเป็นเรื่องที่ชี้เป็นชี้ตายในระบบสารสนเทศสำหรับจะใช้ในองค์กรทุกองค์กร ผู้บริหารส่วนใหญ่เมื่อได้รับทราบงบประมาณ การขออนุมัติ โครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับไอทีจะมีความรู้สึกว่า ไม่คุ้มค่าที่จะนำมาใช้เพราะโดยทั่วไปแล้ว ราคาทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์จะใช้งบประมาณสูงกว่างบประมาณด้านอื่น ๆ ที่เห็นเป็นรูปธรรมมากกว่า เช่น เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างการขออนุมัติซื้อซอฟต์แวร์ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ (MIS) เต็มระบบ ในราคา 10-20 ล้านบาท กับการขออนุมัติปรับปรุงอาคาร หรือปรับปรุงภูมิทัศน์ในองค์กรของตนเอง ในวงเงินใกล้เคียงกัน ผู้บริหารจะตัดสินใจที่จะเลือกอย่างที่สองมากกว่า ด้วยเหตุผลว่า เป็นงานที่เห็นเป็นรูปธรรมมากกว่า ซึ่งบุคคลที่เกี่ยวข้องต่างทราบดีว่างบประมาณของส่วนราชการนั้นต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด จึงจำทนกับการตัดสินใจในการอนุมัติงบประมาณจากผู้บริหารดังกล่าว


4.ขาดการติดตามผล

การติดตามผลความก้าวหน้าในการพัฒนาระบบสารสนเทศ หรือการใช้สารสนเทศ มีผลต่อสารสนเทศที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดแล้วนักวิชาการคอมพิวเตอร์ต่างทราบในประเด็นนี้ดี กล่าวคือ เมื่อระบบสารสนเทศได้รับการพิจารณาให้มีการพัฒนาระบบขึ้นมาด้วยองค์กรของตนเอง สิ่งแรกที่หัวหน้าโครงการจะต้องทำคือ จัดการด้านทีมงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นักวิเคราะห์ระบบ โปรแกรมเมอร์ ผู้ทดสอบระบบ ผู้บริหารฐานข้อมูล เป็นต้น บุคลากรที่มีความสามารถเหล่านี้ มักจะทำงานกับองค์กรเอกชนมากกว่าด้วยเหตุผลเรื่องค่าตอบแทนที่ได้รับสูงกว่า จึงทำให้บุคลากรเหล่านี้หายากและมักจะทำงานในองค์กรราชการได้ไม่นาน ขาดการต่อเนื่องทำให้งานล่าช้า ถ้าไม่มีการติดตามงานที่ดีจะทำให้โครงการไม่สำเร็จได้สูง ในการติดตามงานอีกด้านหนึ่งที่มักจะประสบปัญหาบ่อย ๆ เช่นกัน ได้แก่ การไม่เคยนำระบบสารสนเทศมาใช้เพื่อบริหารหรือเพื่อใช้ในการตัดสินใจ ซึ่งผู้บริหารราชการส่วนใหญ่จะยึดติดกับการบริหารแบบเก่า ได้แก่ รอความเห็นจากผู้บริหารระดับกลางหรือความเห็นจากเจ้าหน้าที่ธุรการ ปัญหาที่ตามมาคือ ผู้ใช้ระบบสารสนเทศระดับปฏิบัติการไม่อยากป้อนข้อมูลเพิ่ม ไม่อยากแก้ไขข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน เมื่อปล่อยให้เวลาให้ล่วงเลยนานไปสารสนเทศที่รายงานออกไปเป็นข้อที่ผิดพลาด ไม่น่าเชื่อถือ ถ้านำไปใช้ในการตัดสินใจ ทำให้การตัดสินใจครั้งนั้นผิดพลาดได้

5.ขาดความรู้ทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ


ทุกวันนี้ทุกคนต่างยอมรับว่าผู้บริหารระดับสูงทุกองค์กรจำเป็นต้องนำระบบสารสนเทศเป็นกลยุทธ์ในการบริหาร แต่ผู้บริหารที่เป็นส่วนราชการมักจะไม่ได้สนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งเพื่อแสวงหากำไรให้กับองค์กร การพิจารณาการขึ้นดำรงตำแหน่งจึงมีปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้ผู้บริหารบางแห่งขาดความรู้ความเข้าใจด้านไอที หรือมีความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่มักจะบอกกับผู้อื่นว่ามีความรู้ความเข้าใจดี หรือมีเจตคติว่า ผู้บริหารไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านไอทีก็ได้ เป็นต้น เมื่อผู้บริหารขาดความรู้ความเข้าใจ ส่งผลให้ระดับปฏิบัติการขาดความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตนเอง เช่น กรณีที่มีระบบสารเทศใช้อยู่ก่อนแล้วมักจะละเลยป้อนข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน หรือไม่พัฒนาฟังก์ชันเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทุกหน้าที่ ความรู้ที่ผู้บริหารควรศึกษาเพิ่มเติม แต่ไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญ ได้แก่ ประโยชน์ของสารสนเทศทุก ๆ ด้าน ความรู้ด้านชนิดของระบบปฏิบัติการ ระบบเครือข่าย ระบบจัดการฐานข้อมูลที่มีจำหน่ายในท้องตลาด มีอะไรบ้าง การใช้อินเทอร์เน็ต ความรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัย ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ฯลฯ เป็นต้น

6.การพัฒนาระบบสารสนเทศที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด

การพัฒนาระบบสารสนเทศ มีวิธีที่ได้มาซึ่งระบบนี้ มีหลายวิธี ได้แก่ การจัดซื้อระบบเบ็ดเสร็จมาใช้ การว่าจ้างบริษัทให้มาพัฒนาระบบ หรือการพัฒนาระบบขึ้นมาใช้เอง เป็นต้น ทั้งหมดนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่ด้วยกันทุกวิธี ปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดมักจะเกิดจาก การจัดซื้อแบบเบ็ดเสร็จมาใช้ ด้วยเหตุที่ระบบที่ซื้อมามักจะพัฒนามาใช้แบบกว้างขวางครอบคลุมฟังก์ชันทั่วไป สารสนเทศวิธีนี้มักจะใช้ฐานข้อมูลร่วมกันภายในองค์กรเดียวกันไม่ได้ หรือการซื้อมาจากหน่วยงานที่มีฟังก์ชันคล้ายกัน จะเกิดปัญหาลักษณะนี้เช่นกัน แต่ในส่วนของข้อดีของวิธีนี้ คือ รวดเร็ว ราคาถูกลง กรณีว่าจ้างบริษัทให้มาพัฒนาระบบ จะเกิดปัญหาไม่เป็นไปตามข้อกำหนดได้เช่นกัน ในกรณีที่มีการควบคุมการทำงานไม่เคร่งครัด หรือผู้ควบคุมไม่มีความรู้รายละเอียดด้านเทคนิค อันได้แก่ การออกแบบฐานข้อมูลที่ไม่ได้ระดับที่ 3 หรือ 4 หรือฐานข้อมูลมีความซ้ำซ้อน หรือข้อมูลขัดแย้งกันเอง เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ออกแบบหน้าจออาจจะออกแบบให้ผู้ใช้งาน ใช้ยากเกินไปเพราะขาดการประสานงานระหว่างผู้ใช้งานกับผู้ออกแบบ หรือไม่ได้ทำโปรแกรมต้นแบบ (prototype) ให้ผู้ใช้ดูก่อน ปัญหาเหล่านี้ปัญหาเล็ก ๆ ที่มีความสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม สำหรับหน่วยงานที่มีการพัฒนาระบบขึ้นมาเอง จะเกิดปัญหาความล่าช้าในการพัฒนา แต่มีส่วนดีที่ควบคุมข้อกำหนดได้ทุก ๆ ข้อตามความสามารถทั้งของผู้ใช้และผู้พัฒนา

7.การเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลบ่อยครั้ง


ปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือรายละเอียดของข้อมูลบ่อย ๆ นั้น เกิดขึ้นกับหน่วยงานราชการเป็นส่วนใหญ่ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือรัฐมนตรี หรือผู้บริหารระดับกระทรวง หรือมีข้อกฎหมายบังคับ เป็นต้น มักจะมีการเพิ่มเงื่อนไข ข้อมูลสนเทศให้เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ระบบสารสนเทศที่ใช้งานอยู่แล้วไม่สามารถให้สารสนเทศต่อนโยบายใหม่ ๆ ได้ ทั้งนี้อาจจะไม่มีข้อมูลดิบที่เกี่ยวข้องป้อนเข้าไปในระบบจึงไม่สามารถนำข้อมูลดิบเหล่านั้นมาประมวลผลให้เกิดสารสนเทศที่ต้องการได้ เช่น ฐานข้อมูลบุคลากรเมื่อมีการสั่งเก็บข้อมูลหมายเลขบัตรประจำประชาชนของบิดา มารดาเพิ่มขึ้น เป็นต้น ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลบ่อย ๆ ระบบที่ซื้อเบ็ดเสร็จมาใช้จะไม่สามารถใช้การได้อีกต่อไป แต่ระบบที่ใช้วิธีจ้างพัฒนาฯ ต้องว่าจ้างให้บริษัทเดิมพัฒนาเพิ่มเติม ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง แต่ในกรณีที่พัฒนาด้วยหน่วยงานเอง จะไม่ส่งผลกระทบมากนัก เพียงแต่พัฒนาเพิ่มฟังก์ชันให้ครบ ระบบจะใช้ได้ตามปกติ โดยใช้เวลาไม่มากนัก แต่อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงนโยบายบ่อย ๆ จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ระดับปฏิบัติการ ที่จะต้องเพิ่มเติมข้อมูลให้ครบตามจำนวนข้อมูลที่ได้ป้อนไว้แล้วทุก ๆ ระเบียน


8.ระบบสารสนเทศขาดคุณภาพ


เมื่อกล่าวถึงคุณภาพของระบบสารสนเทศ หลายคนมักจะวัดที่ราคาที่จัดซื้อ จัดจ้างเป็นเครื่องมือในการวัด ถ้ามีราคาแพงสร้างโดยบริษัทที่มีชื่อเสียงแล้วจะมีคุณภาพ แต่ระบบสารสนเทศที่ดีไม่จำเป็นนำปัจจัยนี้มาวัดคุณภาพก็ได้ การวัดคุณภาพระบบสารสนเทศวัดกันด้วยมาตรฐานการสร้างและความความสะดวกสบายในการใช้ระบบสารสนเทศ อย่างไรก็ตามมีสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบสารสนเทศ ได้สร้างมาตรฐานเพื่อวัดคุณภาพขึ้นมาบ้างแล้ว ได้แก่ มาตรฐาน CMM หรือ capability maturity model (กนกอร แสงประภาและคณะ, 2550) โดยสถาบัน Software Engineering Institute แห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน สหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาขึ้นให้แก่กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้แบ่งวุฒิภาวะความสามารถ ออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ 

1) ระดับตั้งต้น (initial level) หน่วยงานส่วนราชการส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับนี้ โดยมีการมุ่งเน้นไปที่การพัฒนางานให้ลุล่วงเพียงอย่าง เมื่อเกิดวิกฤติการณ์ขึ้นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์จะเลิกทำงานตามที่วางแผนไว้ แล้วรีบด่วนเขียนคำสั่งและทดสอบแทน ความสำเร็จของการพัฒนาซอฟต์แวร์ในระดับนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความสามารถของหัวหน้าโครงการ หากได้หัวหน้าโครงการที่มีความสามารถ และกล้าคิดกล้าทำ มาปรับปรุงการพัฒนาซอฟต์แวร์ก็จะทำให้หน่วยงานมีกระบวนการซอฟต์แวร์ที่ดีขึ้น แต่ถ้าหากหัวหน้าโครงการเช่นนี้ลาออกไปหน่วยงานก็จะกลับไปสู่ระดับเดิม กล่าวได้ว่าความสามารถที่ระดับนี้เป็นความสามารถของบุคคลมากกว่าขององค์การ 

2) ระดับทำซ้ำได้ (repeatable level) หน่วยงานที่อยู่ในระดับนี้เริ่มมีนโยบายในการบริหารจัดการโครงการซอฟต์แวร์และมีการกำหนดขั้นตอนการนำนโยบายไปใช้ การวางแผนและจัดการโครงการใหม่มักจะขึ้นกับประสบการณ์จากโครงการที่คล้ายกัน ความสามารถของกระบวนการนั้นเกิดจากการนำขั้นตอนพื้นฐานทางด้านการบริหารโครงการมาใช้ มีการนำการบริหารการจัดการโครงการเบื้องต้น มีการจัดทำเอกสารอย่างเป็นขั้นตอน และสามารถตรวจสอบได้ มีการจัดทำเอกสาร ควบคุม มีการฝึกอบรม มีการวัดผล และ สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ มีการควบคุมและติดตามการทำงานตามภารกิจต่าง ๆ ที่กำหนดในแผน มีการดูแลค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นไปตามที่กำหนด ลักษณะของระดับนี้ คือใช้ผลสำเร็จของโครงการที่ผ่านมาเป็นตัวอย่าง มีการกำหนดมาตรฐานโครงการ และมีการจัดรูปแบบองค์กรให้งานโครงการดำเนินไปได้ดี 

3)ระดับชัดเจน (defined level) ในหน่วยงานที่อยู่ระดับนี้ จะมีการบันทึกทำเอกสารเกี่ยวกับกระบวนการมาตรฐานในการพัฒนาและบำรุงรักษาซอฟต์แวร์ กระบวนการในระดับ 3 นี้ช่วยให้หัวหน้าโครงการซอฟต์แวร์และลูกทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิผล หน่วยงานสามารถใช้แนวทางของวิศวกรรมซอฟต์แวร์ได้ผลขึ้นเมื่อมีการกำหนดมาตรฐานกระบวนการซอฟต์แวร์ หน่วยงานอาจจัดตั้งกลุ่มกระบวนการวิศวกรรมซอฟต์แวร์ขึ้นเพื่อรับผิดชอบงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการซอฟต์แวร์ของหน่วยงานด้วย และมีการจัดฝึกอบรมอย่างกว้างขวางเพื่อให้ผู้บริหารโครงการและลูกทีมมีความรู้และทักษะที่สามารถทำงานที่กำหนดได้ดี โครงการต่าง ๆ ที่ทำในระดับนี้จะช่วยให้หน่วยงานปรับเปลี่ยนกระบวนการซอฟต์แวร์ของตนตามลักษณะพิเศษของโครงการได้ ฝ่ายบริหารวางใจได้ สามารถตรวจสอบความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการได้ตลอดเวลา 

4) ระดับจัดการ (managed level) หน่วยงานที่มีความสามารถอยู่ในระดับนี้สามารถกำหนดคุณภาพในเชิงจำนวนให้แก่ซอฟต์แวร์และกระบวนการซอฟต์แวร์ได้ หน่วยงานสามารถวัดคุณภาพและผลผลิตของกระบวนการซอฟต์แวร์สำคัญๆ ของทุกโครงการได้ โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการวัดผลงานขององค์กร มีการจัดทำฐานข้อมูลสำหรับบันทึกและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้กระบวนการซอฟต์แวร์ที่ชัดเจน การควบคุมโครงการต่างๆทำได้โดยการพยายามทำให้ผลการดำเนินงานมีความสม่ำเสมอมากขึ้น มีการกำหนดความเสี่ยงในการพัฒนาระบบและควบคุมความเสี่ยงให้ลดน้อยลง หน่วยงานที่มีการพัฒนาซอฟต์แวร์อยู่ในระดับนี้ได้เป็นหน่วยงานที่สามารถวัดผลคุณภาพและพยากรณ์ผลที่จะเกิดในการทำงานโครงการซอฟต์แวร์ได้อย่างแม่นยำ เมื่อมีโครงการใหม่ ๆ เข้ามาให้ทำ หน่วยงานสามารถปรับกระบวนการได้เป็นอย่างดี 

5) ระดับเหมาะที่สุด (optimized level) หน่วยงานที่อยู่ในระดับนี้เป็นหน่วยงานที่เน้นในด้านการปรับปรุงกระบวนการอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะเป็นการพัฒนากระบวนการต่าง ๆ ในทุกจุดให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีวิธีการในการกำหนดจุดอ่อนและจุดแข็งของกระบวนการในเชิงรุก โดยมีเป้าหมายในการป้องกันไม่ให้เกิดข้อบกพร่องขึ้น มีการใช้ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิผลของกระบวนการซอฟต์แวร์ในเชิงวิเคราะห์ต้นทุนและกำไรของเทคโนโลยีใหม่ๆ มีการกำหนดนวัตกรรมใดเหมาะที่สุดสำหรับหน่วยงาน จากนั้นจะถ่ายทอดไปใช้ทั้งองค์กร ทีมงานซอฟต์แวร์ในระดับนี้ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อบกพร่องเพื่อหาสาเหตุ มีการประเมินกระบวนการซอฟต์แวร์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อบกพร่องซ้ำอีกและนำความรู้ที่ได้นั้นไปถ่ายทอดให้กับทีมงานพัฒนาซอฟต์แวร์ทราบ นอกจากนั้นมีการวิเคราะห์ความสูญเสียในการดำเนินงานและพยายามลดไม่ให้เกิดความสูญเสียเหล่านั้นด้วย หน่วยงานที่มีความสามารถในระดับนี้คือ หน่วยงานที่พยายามปรับปรุงตนอยู่ตลอดเวลา การปรับปรุงนี้มีทั้งที่ค่อยเป็นค่อยไป และมีการปรับปรุงโดยนำวัตกรรมใหม่ๆมาใช้ตลอดเวลา

บทสรุป
ระบบสารสนเทศที่ใช้ในส่วนราชการ มักจะเกิดจากการผลักดันของผู้บริหารระดับสูงหรือผู้บริหารระดับกลาง ซึ่งส่วนใหญ่จะขาดแผนแม่บทที่ดี ขาดการศึกษาความเป็นไปได้ หรือเป็นแผนแม่บทที่ถูกออกแบบมาอย่างเร่งด่วนเพื่อตอบสนองผู้บริหาร จึงทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เมื่อระบบสารสนเทศมีใช้ในหน่วยงานแล้ว หัวหน้างานระดับต่าง ๆ ไม่เรียกใช้ข้อมูลเพื่อนำมาตัดสินใจ หรือขาดการติดตามงาน ทำให้ผู้ใช้ระดับปฏิบัติการละเลยการป้อนหรือปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ผลที่ได้ของสารสนเทศจะไม่สามารถนำมาใช้ในการทำงานใด ๆ ได้เลย บางหน่วยงานจะมีการเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงขอบเขตข้อมูล เปลี่ยนนโยบายหรือโครงสร้างข้อมูลทำให้ต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขระบบสารสนเทศตามมา สุดท้ายปัญหาที่พบมากที่สุดได้แก่ ระบบสารสนเทศไม่เป็นไปตามมาตรฐาน


เอกสารอ้างอิง

ครรชิต มาลัยวงศ์. (2550). ผู้บริหารยุคสารสนเทศ.
[Online], Available: http://www.drkanchit.com/ict_management/index.html, [2007, June 30]
ครรชิต มาลัยวงศ์. (2550). การพัฒนาระบบให้ประสบผลสำเร็จ.
[Online], Available: http://www.drkanchit.com/ict_management/index.html, [2007, June 30]
ครรชิต มาลัยวงศ์. (2550). บทบาทของ CIO,[Online], Available: http://www.drkanchit.com/ict_management/index.html, [2007, June 30]