วันพุธที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑

น้ำเอย น้ำมัน

       สวัสดีครับ พี่น้องชาวไทย  หลังจากห่างหายไปนานหลายเดือน ผมไม่ได้เขียนบล็อกเลย แทบจะไม่ได้เข้ามาเขียนหรือเข้ามาอ่านของใคร ๆ เลย  ด้วยเหตุผลหลายประการ ตั้งแต่สภาวะทางการเมือง  เศรษฐกิจ  การเรียนและอื่น ๆ ผมแทบจะไม่มีความสุนทรีย์ในอารมณ์  ในการเขียนเลย   แต่มาเมื่อวานนี้ (10 มิ.ย. 51) ได้ดูข่าวการขึ้นราคาน้ำมันทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีกนับ 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็น 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นการขึ้นราคาที่พุ่งอย่างงวบงาบ  เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีตจะขึ้นเพียงครั้งละ 1-3 ดอลลาร์ และลดลงบ้างแต่ในปัจจุบันมีแต่ขึ้น  วันละ 1-3 ดอลลาร์ แต่ไม่ลดลงเลย และทุก ๆ วัน บริษัทน้ำมันก็ขึ้นราคาวันละ 50-80 สตางค์ต่อลิตร คนเราก็เติมกันได้ทุกวัน  มีบ่นกันบ้างแต่ก็จำเป็นต้องเติม ไม่มีทางออก มีธุรกิจขนส่งเริ่มประท้วง กลุ่มเกษตรกร ประมงประท้วง  ต่างก็หวังให้รัฐบาลช่วยเหลือเยียวยา 

  พี่น้องชาวไทยที่รักครับ  ผมต่อให้รัฐบาลไหน ๆ ก็ช่วยไม่ได้ เพราะว่ากลไกทางการตลาดมันเป็นไปตามดีมานด์และซัพพลาย เมื่อผู้ผลิตมีน้อย ผู้บริโภคมีมากกว่า การกำหนดราคาย่อมขึ้นอยู่กับผู้ผลิต และมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง ได้แก่ การเก็งกำไรของธุรกิจในตลาดผู้ซื้อขาย การอ่อนของเงินสกุลดอลลาร์ที่เกิดจากหนี้อสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของอเมริกาเอง นักเก็งกำไรก็เป็นอเมริกัน 

   ถ้าจะให้ราคานำ้มันลดลงทั่วโลก ตามความเห็นของผมนั้นมีหลายวิธีที่จะเสนอแนะ ดังนี้
  1. รัฐบาลทุกประเทศประกาศนโยบายร่วมกันจะสนับสนุนการผลิตเครื่องยนต์ทีไม่ใช้น้ำมัน อาจเป็นไฟฟ้า หรือไนโตรเจนเหลว หรืออื่น ๆ การประกาศร่วมกันเพื่อเป็นจิตวิทยาบอกไปยังโอเปคว่าทั่วโลกรับไม่ได้กับราคานี้
  2. ในมาตรการระยะสั้น ประชาชนต้องร่วมมือร่วมใจกันลด ละ เลิก ใช้นำ้มัน หรือใช้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น โดยเฉพาะรถยนต์ส่วนบุคคล ให้หันมาใช้รถสาธารณะให้มากขึ้น ถ้าระยะใกล้ ๆ ให้เดินหรือใช้จักรยาน 
  3. การขึ้นราคาน้ำมันแบบเดิม ๆ ที่ขึ้นทีละ 50-80 สตางค์นั้นไม่ดี ไม่เหมาะสม เพราะด้วยจิตวิทยาของผู้ใช้รถมักจะคิดว่าขึ้นไม่เท่าไหร่ ปรับตัวได้และค่อย ๆ ปรับ แต่ถ้าขึ้นทีละ 3-5 บาทต่อลิตรหลาย ๆ คนคงคิดหนักขึ้น  อย่างเช่นประเทศมาเลเซีย เขาอั้นราคาพยุงเอาไว้ แล้วอั้นไม่ไหวประกาศขึ้นราคาทีเดียว 41 เปอร์เซนต์  ประชาชนตะลึงงงงันกับรัฐบาลมีการประท้วงกันบ้าง แต่ต้องจำใจ เพราะทั่วโลกเขาต่างก็ใช้น้ำมันแพง  ประชาชนเขาต้องใช้จ่ายประหยัดเอาเอง แบบนี้อยากให้ใช้กับเมืองไทยบ้าง
  4. รัฐบาลไทยต้องประกาศนโยบายด้านพลังงานทันที เช่น จากนี้ไปไทยจะผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์  ส่งเสริมพลังงานทดแทน  พลังงานลม พลังงานจากแสงอาทิตย์ โดยไม่เก็บภาษีนำเข้า และส่งเสริมให้ผลิตในประเทศไทย  นอกจากนี้จะเน้น สนับสนุนให้มีรถสาธารณะที่มีการบริการดี ๆ มีการแข่งขัน มีที่นั้งในชั่วโมงเร่งด่วน  เก็บภาษีผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวที่นั่งเพียงคนเดียวให้มากขึ้น
ในระยะช่วงสองปีมานี้ผมใช้รถทัวร์ปรับอากาศชั้นสองของ บขส. เพื่อไปเพชรบุรีในทุก ๆ วันเสาร์และกลับในวันอาทิตย์ ในตอนแรกรถบขส. มีผู้โดยสารไม่ถึงครึ่งหนึ่ง จะเลือกนั่งตรงที่นั่ง ๆ ใด ๆ ก็ได้ตามสะดวก แต่มาระยะหลัง บริษัทเอกชนขอขึ้นราคา คนหันมาใช้บริการของบขส. กันมากขึ้นจนเกือบเต็มคันรถ บางทีต้องไปจองตั้งแต่ตอนเที่ยง ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้ไป เพราะ บขส.ประกาศไม่ขึ้นราคา ในขณะนั้น 

ผมสังเกตุว่าในตอนนี้ผู้ใช้รถสาธารณะมีมากขึ้น  ธุรกิจขนส่งยังอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องปรับราคา เพราะผู้ใช้เต็มคันรถ ไม่ว่าจะเป็นรถสองแถว หรือรถเมล์ระหว่างอำเภอหรือจังหวัด  เมื่อถัวเฉลี่ยแล้วพออยู่ได้ก็สมควรยืนราคาเดิม  แต่เมื่อขึ้นราคาค่าโดยสารตามความต้องการ เช่นจากเดิม รถสองแถวรอบเมืองจาก 10 บาทเป็น 15 บาท กลุ่มผู้โดยสารที่มีรถส่วนตัวจะคำนวณว่าเมื่อใช้รถส่วนตัวไปนั้นราคาไม่ต่างกัน เขาจะไม่ยอมใช้บริการรถสาธารณะ   เหล่านี้เป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมที่ค่อย ๆ เป็นค่อยไป 

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับผมแล้ว ความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อปรับตัวรับกับราคาน้ำมันของผมนั้น  ผมปรับเปลี่ยนตั้งแต่ราคาน้ำมันลิตรละ 18 บาท เมื่อ 3 ปีที่แล้วโน่น   เริ่มแรกผมต้องขับรถยนต์ส่วนตัวมาทำงานทุกวัน วันละ 25 กม. ไปกลับเป็น 50 กม. ผมคิดจะใช้บริการรถเมล์กับรถสองแถว ค่ารถสองแถว 10 บาท รถเมล์อีก 18 บาท รวม 28 ไปกลับรวม 56 บาท  ทดลองใช้บริการอยู่ 2-3 วัน รถเมล์ต้องขึ้นระหว่างทางซึ่งมีผู้โดยสารเต็มตลอด ไม่ได้นั่งเลย ต้องยืนและเบียดเสียดเยียดยัดยิ่งกว่าปลากระป๋อง แต่ช่วงระยะเวลาที่คอยคันต่อไปนั้นนานมากและเต็มอีกแล้ว เลยทำได้เพียงวันสองวันไม่เอาอีกแล้ว  ทีนี้จะลองหันมาใช้บริการรถตู้ เช่นเดิมอีกคือเต็มมาตั้งแต่ในเมืองแล้ว ผมขึ้นกลางทางไม่มีโอกาส  ตามจริงเขาน่าจะแก้ไขให้ปล่อยรถเร็วขึ้นในชั่วโมงเร่งด่วน ก็จะแก้ปัญหาได้ แต่ขนส่งไม่ยอมจัดการ เพราะมีบริษัทเจ้าเดียวไม่มีการแข่งขันกันบริการก็เป็นแบบนี้แหละ

หลังจากนั้นมีโอกาสได้เข้ามาศึกษาการใช้จักรยานจากเว็บของ www.thaimtb.com ทำให้ทราบว่าจักรยานดี ๆ สามารถปั่นทางไกลได้ โดยไม่เหน็ดเหนื่อยและมีคนที่ใช้จักรยานปั่นไปทำงานตั้งแต่หนุ่มจนเกษียณ ที่อยู่กทม. ก็ทำให้อยากลองดูบ้าง จึงไปซื้อ จักรยานเสือภูเขามา 8000 บาทพร้อมอุปกรณ์อื่น ๆ อีกประมาณ 2000 บาท ลองปั่นในเขตใกล้ ๆ บ้านดู โอเคเลย เหมาะมาก ลงตัว เปอร์เฟ็ค 100 เปอร์เซ็นต์ ได้ออกกำลังกายด้วย แถมไม่ต้องใช้น้ำมันเลย ปัจจุบันนี้ปั่นมาขึ้นปีที่ 3 แล้ว ได้ระยะทางรวมประมาณหนึ่งหมื่นกว่ากิโลเมตรแล้ว  ถ้าใครยังกล้า ๆ กลัว ๆ อยู่อยากแนะนำให้มาใช้การเดินทางด้วยจักรยานแบบผมครับ
และนี่คือลิงค์รูปถ่ายแนะนำการใช้จักรยานของผมครับ