วันจันทร์ที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

ข้อเสนอแนะถึงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

เมื่อวันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม 2551 มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาได้เชิญให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมาเป็นวิทยากรมาประชุมเชิงปฏิบัติการ การกำหนดมาตรฐานการควบคุมภายใน โดยวิทยากรจะพูดประเด็นหลัก ๆ ในประเด็นความเสี่ยงต่าง ๆ ในการดำเนินงานได้แก่ การประเมินความเสี่ยง การวัดค่าความเสี่ยง การวิเคราะห์ผลกระทบของความเสี่ยง การบริหารความเสี่ยง ในประเด็นความเสี่ยงวิทยากรได้พูดถึง การทุจริตประเภทต่าง ๆ ทั้งแบบตั้งใจ และแบบเข้าใจผิด ประมาทเลินเล่อ หรือโดยไม่ได้ตั้งใจ และมีประเด็นเกี่ยวกับกิจกรรมการควบคุม และสารสนเทศและการสื่อสาร ประเด็นนี้ทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมา ว่าจะเขียนเสนอแนะถึง สตง. ซึ่งผมคิดไว้นานแล้วแต่ไม่ได้เขียนในบล็อก วันนี้จึงขออนุญาตมาเขียนเสนอแนะไปยัง สตง. ในเรื่องการตรวจสอบจากประชาชน หรือองค์กรภายนอกไปสู่ สตง. เพื่อลดภาระงานของ สตง.

ประเด็นที่จะเสนอแนะ คือ ให้ออกกฎหมาย หรือระเบียบควบคุมให้หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจทุกแห่งเผยแพร่ ใบเสร็จรับเงิน ใบสำคัญรับเงิน รายรับ รายจ่ายทุกชนิดขึ้นไปเผยแพร่ที่เว็บไซต์ของหน่วยงานนั้น ๆ เพื่อประชาชน หรือองค์กรได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ซึ่งจัดเป็นการตรวจสอบจากภายนอก ที่คิดว่าน่าจะได้ผลที่สุด

ที่มาของข้อเสนอแนะในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากผมได้อ่านข่าว และการให้สัมภาษณ์จาก
นาย​เรือง​ไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหาที่มีผลงานการตรวจสอบนักการเมือง ระดับนายกรัฐมนตรีถึง 3 คนต้องมีอันให้หลุดพ้นจากตำแหน่ง เช่น การตรวจสอบการจัดทำรายการทีวีรายการ ชิมไปบ่นไป กับรายการยกโขยงหกโมงเช้า หรือกรณีของนายกทักษิณ และกรณีลูกสาวนายกสมชาย กรณีแจ้งทรัพย์สินเป็นเท็จ

จากการให้สัมภาษณ์ถึงที่มาของหลักฐานความผิดต่าง ๆ ที่นายเรืองไกรได้มา เขาบอกว่า ได้จากการสืบค้นจากอินเทอร์เน็ตทั้งหมด จะเห็นว่า ผลของการเผยแพร่ข่าวสาร หรือสิ่งต่าง ๆไว้บนเว็บไซต์จะเป็นประโยชน์สูงสุดในการตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อมูลการทุจริต การไหลของเงิน โดยกระบวนการตรวจสอบจะเป็นหน้าที่ของประชาชนคนไทยทุกคน สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ ต่อไปคนที่คิดจะทุจริตคงต้องระมัดระวังกันมากขึ้น จนเลิกที่จะคิดทุจริต ประเทศไทยก็จะมีแต่ผู้ทำงานอย่างสุจริต ได้เป็นผู้บริหาร เป็นนายกรัฐมนตรี ประชาชนมั่งมีศรีสุข ชุมชนเข้มแข็ง อะไร ๆ ก็จะดีขึ้น

วันศุกร์ที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

การเป็นผู้บริหาร

ในช่วงวันที่ 20-24 ต.ค. 2551 ผมได้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการการบริหารจัดการอุดมศึกษา ที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้นหลังจากจัดการสอบปลายภาคเสร็จ หลังจากอบรมเสร็จ มหาวิทยาลัยฯ ก็เปิดเรียนทันที ทำให้ภาคเรียนนี้ไม่ได้มีเวลาทำงานอย่างอื่นเลย

สำหรับการอบรมทั้ง 5 วันมีวิทยากรระดับชั้นนำของประเทศมาให้ความรู้ เช่น
  • ดร.สุชาติ เมืองแก้ว บรรยายเรื่องการบริหารจัดการอุดมศึกษา
  • ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ บรรยายเรื่องทิศทางการอุดมศึกษาในยุคโลกาภิวัฒน์ และการวางแผนกลยุทธ์
  • ดร.มานิต บุญประเสริฐ บรรยายเรื่องคุณธรรม จริยธรรมสำหรับผู้บริหาร และภาวะผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา
  • รศ.ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน บรรยายเรื่อง การบริหารการเงินและรายได้อุดมศึกษา
  • ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ บรรยายเรื่อง การประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา
  • ผศ.ดร.ไพโรจน์ ด้วงวิเศษ อธิการบดี มาเล่าประสบการณ์และแนวคิดในการเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏ
ในเอกสารจำนวนมากในนั้นได้เจอเอกสารที่เขียนโดย รศ.ดร.ทองคูณ หงส์พันธุ์ อดีตเลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ เขียนได้ดีน่าจะนำมาเป็นข้อคิด แนวทางในการคัดเลือกผู้บริหาร หรือสำหรับผู้ที่อยากเป็นผู้บริหารได้สำรวจตัวตนว่ามีคุณสมบัติที่ควรเป็นผู้บริหารหรือไม่ คุณลักษณะ ๑๕ ประการ ของผู้บริหารที่ท่านเขียนเอาไว้มีดังนี้

ความสำเร็จ ความล้มเหลวของการเป็นผู้บริหารของแต่ละคนขึ้นอยู่กับคุณลักษณะ ๑๕ ประการที่แต่ละคนได้สร้างสมไว้ จะมีมากน้อยแตกต่างกันไป

  1. คนประเทศนี้ มีลักษณะความเป็นผู้นำ ชอบนำคนอื่น ชอบเป็นหัวแถว มากกว่าเป็นหางแถว
  2. คนประเภทนี้ ชอบเสี่ยง ชอบท้าทาย ชอบทำงานที่ยาก ๆ ยิ่งรู้ว่าต้องเสี่ยงแต่ก็อยากทำอย่างเสี่ยง
  3. คนประเภทนี้ ถือว่า การทำงานหนักคือดอกไม้ของชีวิต พวกนี้ไม่กลัวงานหนัก มีความสุขอยู่กับการทำงานหนัก มีโรคอึดสูง
  4. คนประเภทนี้ อยากรู้อยากเห็นและอยากลอง ไม่อยากอยู่หางแถว ปลายแถว อยากรู้อยากลอง เสนอให้คนที่มีอำนาจเขาก็ไม่เอาด้วย เป็นคนอนุมัติเสียเองก็จะได้ทำสมอยาก
  5. คนประเภทนี้ มีความคิดแปลก ๆ ใหม่ ๆ อยากทำในสิ่งที่ตนคิด การเป็นผู้บริหารสามารถนำความคิดมาปฏิบัติได้ง่ายกว่า
  6. คนประเภทนี้ ชอบบริการ ชอบรับใช้ช่วยเหลือผู้อื่น มีความคิดความเชื่อว่า การเป็นผู้บริหารนั้นแท้ที่จริงคือ ผู้บริการ ผู้รับใช้ คนอื่น
  7. คนประเภทนี้ ชอบอำนาจ เพราะอำนาจนำมาซึ่งสิ่งที่ตนอยากทำทั้งเพื่อตนเอง หรือเพื่อองค์กร เพื่อผู้อื่น
  8. คนประเภทนี้ ชอบเป็นผู้ชนะ เกลียดการเป็นผู้แพ้ มักจะเอาชนะปัญหาอุปสรรค หรือแม้แต่เอาชนะคนอื่น
  9. คนประเภทนี้ มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูง อยากทำอะไรให้สำเร็จ มุมานะและวิริยะแรงกล้า มี ลูกฮึดสูง
  10. คนประเภทนี้ มีจิตมุ่งมั่นที่จะพัฒนา เห็นอะไรที่ไม่ถูกต้องเห็นอะไรที่ไม่ดี ทนไม่ได้ อยากทำให้ได้ ทำให้ดี ต้องทำให้ได้ทำให้สำเร็จ ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ ไม่ได้ต้องได้
  11. คนประเภทนี้ มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง เชื่อในศักยภาพของตน เชื่อในอำนาจภายในของตน คนมีความเชื่อมั่นในตนเองสูง บางครั้งก็กลายเป็นคน ดื้อ
  12. คนประเภทนี้ มีจิตสาธารณะ มีจิตสำนึกต่อส่วนรวมสูง ชอบทำงานเพื่อคนอื่น เพื่อองค์การ เพื่อส่วนรวม
  13. คนประเภทนี้ ชอบเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ มีความสูขอยู่กับการให้ ชอบร้องเพลง พี่มีแต่ให้ ให้จนเกษียณแล้วก็ยังอาศัยบ้านแม่ยายอยู่
  14. คนประเภทนี้ เป็นผู้มีจิตกุศลสูง ชอบช่วยเหลือคนอื่น ทนไม่ได้ที่จะเห็นคนอื่นมีทุกข์ เดือดร้อน มีปัญหา
  15. คนประเภทนี้ ถือว่า งานคือชีวิต ชีวิตคืองาน บันดาลสุข มีความสุขอยู่กับการทำงาน
หลายข้อผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง แต่บางข้อผมมีความเห็นแตกต่าง เช่น
  • ข้อที่ ๑ มีลักษณะความเป็นผู้นำ ชอบนำคนอื่น ผมมีความเห็นว่าควรใช้คำว่า ภาวะผู้นำ มากกว่า เพราะความเป็นผู้นำอาจจะเป็นบุคคลทั่วๆ ไปสามารถมีความเป็นผู้นำได้ เช่น หัวหน้าโจร หัวหน้าแก๊งชิงทรัพย์ รีดไถ แต่ภาวะผู้นำนั้น มาจากการได้รับฉันทามติ หรือจากกฏหมายให้เป็นผู้นำจึงเกิด ภาวะผู้นำ
  • ข้อที่ ๘ ชอบเอาชนะ เกลียดการแพ้ ผมมีความเห็นว่าบางครั้งการแพ้บ้างเพื่อเป็นกระจกส่องหลัง หรือเป็นเหมือนเบรคของรถยนต์ ลดความแรง ให้เราได้รู้ตนเองบ้าง แล้วจึงค่อยมาพยายามใหม่ แต่ที่น่ากลัวคือการไม่รู้จักมีน้ำใจนักกีฬา เอาชนะกันโดยไม่ใช้กติกา ดังเช่นในแวดวงการเมืองในยุคปัจจุบัน
  • ข้อที่ ๑๑ เชื่อมั่นในตนเองสูง หรือ ดื้อ ผมคิดว่า น่ากลัวกว่าข้ออื่น ๆ กลัวไม่เป็นประชาธิปไตย กลัวบริหารแบบ CEO ในยุครัฐบาลทักษิณ
ท่านผู้อ่านมีความเห็นอย่างไร เชิญแลกเปลี่ยนทางช่องทาง แสดงความคิดเห็นด้านล่างได้ครับ