วันเสาร์ที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒

การเขียนโปรแกรมด้วยภาษาไพธอน

สำหรับผู้ที่เริ่มการเขียนโปรแกรม ในครั้งแรก ๆ จะมองหาภาษาสำหรับการฝึกเขียน ถ้าเป็นประเภทศึกษาด้วยตนเองจะเริ่มต้นด้วยการเดินหาร้านหนังสือ หาหนังสือที่ฝึกการเขียนโปรแกรม แน่นอนว่าเจอหนังสือหลากหลาย โดยเฉพาะคนที่ไม่รู้จะปรึกษาใคร ถ้าดูจากปริมาณที่มีวางจำหน่ายจะพบว่า PHP + MySQL ออกมาเยอะเหลือเกิน รองลงมาก็เป็นกลุ่มของ Microsoft เช่น ASP, Visual Basic, หรือถ้ามาใหม่ก็เป็นตระกูล .Net

แต่ถ้ากลุ่มที่เป็นนักเรียน นักศึกษา จะเลือกซื้อหนังสือตามที่อาจารย์เขาแนะนำ หรือนำมาสอน เช่น โปรแกรมภาษาซี ถ้าทันสมัยหน่อยจะเป็นภาษาจาวา หรือประเภทยังคงอนุรักษ์นิยมอยู่จะสอนภาษาปาสคาล ซึ่งหนังสือตำราเรียนประเภทนี้จะสอนตามเนื้อหาที่กำหนด คือเริ่มจากเบื้องต้น ไปตามลำดับ กว่าจะจบเทอมจะมีการทำแบบฝึกหัด ยากบ้างง่ายบ้าง

สำหรับอีกกลุ่มหนึ่ง คือคนที่เรียนในศาสตร์ทางด้านการเขียนโปรแกรมมาแล้ว หรือมีประสบการณ์การเขียนโปรแกรมภาษาใดภาษาหนึ่งมาแล้ว ก็จำเป็นต้องหาโปรแกรมภาษาที่เป็นทางเลือก เริ่มเบื่อหน่ายกับการเขียนโปรแกรมที่เป็น Hard code คือประมาณว่า ต้องเขียนหรือพิมพ์คำสั่งตั้งแต่บรรทัดแรกจนบรรทัดสุดท้ายเลย แบบนั้นมันจะรู้สึกว่าน่าเบื่อมาก เมื่อฟังจากเพื่อน ๆ ในวงการเดียวกันว่า ภาษาโน้น ภาษานี้มีทั้งเครื่องมือ และฟังก์ชันมากมาย บางภาษาก็บอกว่าเขียนสั้น ๆ บางภาษาก็บอกว่านำของเก่ามาใช้ได้ เหมาะกับงานที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโปรแกรมบ่อย ๆ เป็นต้น ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงต้องพิจารณากันมาก ๆ ว่าจะเลือกอย่างไรดี หรือแม้แต่เทคโนโลยีที่ใช้ก็จำเป็นต้องเลือก

ต่อไปนี้จะนำเอาวิธีการที่ผู้เขียนเองกำลังทำอยู่ นั่นคือ เริ่มใช้ PHP ในการพัฒนา Application อยู่หลาย ๆ ระบบไม่ต่ำกว่า 10 ระบบ แต่พอกลับไปดูคำสั่งที่เขียน ซึ่งเขียนมาตั้งแต่งานชิ้นแรกจนชิ้นปัจจุบัน มันมีความแตกต่างกันมาก งานเก่า ๆ มันห่วย เขียนซะยืดยาว ใช้ฟังก์ชันไม่มากนัก แต่งานหลัง ๆ เริ่มมีฟังก์ชันสำเร็จรูปมากขึ้น แต่เบื่อกับการเขียนแบบ Hard code จังเลย จึงมองหาภาษาอื่น ๆ ดู เขาว่าเขียนด้วยจาวาแบบ object มันง่ายดีมีเครื่องมือช่วยเยอะ ไม่ต้อง Hard code กันทุกบรรทัด พอศึกษาลองดูมันใช่เลย แต่ต้องการทำให้ได้คุณภาพที่ดีก็จำเป็นต้องเขียน Converter และ Validate ด้วยเหมือนกันแต่น้อยลง พอทำท่าจะไปได้ แต่มีวิทยากรผู้รู้บอกว่าให้ลองใช้ Framework ดูเพราะมี component มากมายให้ใช้ จึงลองไปที่ JFS แต่ก็ยังต้อง Hard code อยู่เยอะนั้นแหละ ในขณะเดียวกัน มี Visual WebPack JSF ซึ่งสามารถสร้าง GUI ได้ ดูน่าสนใจทีเดียว แต่เมื่อทดลองสร้างงานออกมาเป็น Application เล็ก ๆ ทำไมมันจึง Run ช้าจังเลย ถ้าเจองานที่ซับซ้อนมาก ๆ จะเอาไหวหรือเปล่า จึงได้ลองกลับไปหาที่ PHP ที่เขาบอกว่ามี Framework จะทำให้เขียนโปรแกรมได้เร็ว จึงได้นำมาแนะนำสำหรับคนที่สนใจ เผื่อว่าจะคนหัวอกเดียวกันมาศึกษาเพื่อจะได้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

ในช่วงก่อนหน้านี้ ก็สนใจภาษาไพธอนที่ได้เขียนเป็นชื่อหัวคอลัมน์เอาไว้นี้แหละ และได้เคยเขียนเป็นเนื้อหา เป็นตอน ๆ ไว้ที่ http://pythonpages.googlepages.com/home ลองเข้าไปอ่านดูนะครับ ข้อเด่นของ python คือมันทำงานในลักษณะ shell script ใครที่เคยใช้ Math Labs จะชอบแบบนี้เขียนคำสั้งแล้วกด Enter จะได้ผลลัพธ์ออกมาเลย ถ้าต้องการเขียนเป็นไฟล์ก็ได้เช่นเดียวกัน เขาว่ากันว่าเป็นภาษาที่เขียนสั้นมาก เพียงบรรทัดเดียวสามารถทำงานได้แล้ว และผมว่ายังเหมาะกับผู้ที่ไม่เคยเขียนโปรแกรมมาก่อน ที่ต้องการศึกษาด้วยตนเองด้วย หรือแม้แต่ครูระดับมัธยมที่อยากจะสอนวิชาการเขียนโปรแกรม นำเอาภาษานี้ไปสอนนักเรียน เด็กน่าจะเรียนได้ดี ถ้าสนใจลองเข้าไปศึกษาที่เว็บของผม ตามลิงค์ที่ให้ไว้นะครับ ถ้ามีคนสนใจมาก ๆ จะเขียนเพิ่มเติมให้เรื่อย ๆ อาจจะเปิดอบรมให้ด้วย

สุดท้ายนี้จะขอแนะนำเว็บที่เหมาะสำหรับผู้ที่จะศึกษาด้วยตนเองนะครับ
ส่วนใหญ่จะเป็นภาษาอังกฤษครับ ถ้าไม่ปฏิเสธภาษาอังกฤษคงพัฒนาให้เก่งได้ มีดังนี้นะครับ

ศึกษา Java ครับ ที่ http://www.netbeans.org/download/sitemaps/www_map.html
ศึกษา Python ที่ http://www.python.org
ศึกษา PHP Framework ไปที่ http://www.phpframeworks.com/ มีเยอะนะครับเลือกเอาได้เลย