วันเสาร์ที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

บทที่ 1

บทที่ 1

บทนำ


ความเป็นมาของการค้นคว้าและพัฒนา
การประกันคุณภาพการศึกษาได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี พ.ศ. 2540 มาตราที่ 81 กำหนดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ(พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ และสุชาติ กิจพิทักษ์, 2545) ได้ให้หน่วยงานการศึกษาทุกระดับต้องมีมาตรฐาน มีการตรวจสอบคุณภาพการศึกษาจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพ หรือ สมศ. ซึ่งเป็นองค์กรมหาชนที่ทำหน้าที่ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายรัฐธรรมนูญ และนอกจากนี้หน่วยงานการศึกษาระดับอุดมศึกษายังมีการประเมินผลการปฏิบัติงานตามคำรับรองตาม สกอ. และ กพร. ด้วย ทำให้สถาบันอุดมศึกษาทุก ๆ สถาบันจำเป็นต้องรวบรวมข้อมูล มาประมวลผลเพื่อจัดทำเป็นรายงานจัดส่งให้ผู้ตรวจ ตรวจวัดต่อไป
มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาสังกัด สกอ. ต้องจัดเก็บ เตรียมข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นเอกสาร แล้วรวบรวมมาคำนวณเพื่อหาค่าเพื่อเป็นค่าคะแนนในแต่ตัวดัชนีชี้วัด ของแต่ละตัวชี้วัด เพื่อเป็นการประเมินสถาบันในทุก ๆ สถาบันการศึกษา พบว่ามหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะให้ความสำคัญกับการประกันคุณภาพที่นำเอาดัชนีชี้วัดมาประเมินคุณภาพเป็นอย่างมาก
ในปี พ.ศ.2550 ได้มีตัวดัชนีชี้วัดเพิ่มขึ้นจำนวน 22 ดัชนีชี้วัด มีตัวชี้วัดที่ 17 สำหรับวัดคุณภาพของการบริหารจัดการระบบฐานข้อมูลสารสนเทศของสถาบันอุดมศึกษา ประเด็นการวัดคุณภาพระบบสารสนเทศที่สนับสนุนการบริหารงานมหาวิทยาลัยฯ มีประเภทต่าง ๆ เช่น ฐานข้อมูลบุคลากร ฐานข้อมูลนักศึกษา ฐานข้อมูลหลักสูตร ฐานข้อมูลงานวิจัย ฯลฯ รวมทั้งการรักษาความปลอดภัย และตัวชี้วัดที่ 18 สำหรับวัดระดับความสำเร็จของการพัฒนาระบบฐานข้อมูลอุดมศึกษาด้านนักศึกษา บุคลากร และหลักสูตร ที่มหาวิทยาลัยฯ จะต้องจัดเก็บข้อมูลแล้วส่งข้อมูลทั้งหมดไปยัง สกอ. การวัดผลตามดัชนีชี้วัดทั้งสองข้อนี้ วัดโดยคุณภาพของระบบสารสนเทศและข้อมูลที่จัดส่งไป ถูกต้องตามเงื่อนไขที่กำหนดหรือไม่ ในกรณีที่มหาวิทยาลัยฯ ไม่มีระบบสารสนเทศทำให้ผลการประเมินมีคะแนนต่ำ อาจส่งผลต่อการจัดลำดับมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ได้ และผลกระทบต่อส่วนรวมของประเทศชาติที่เมื่อนำข้อมูลทั้งหมดไปรวมกันแล้ว ไม่สามารถประมวลผลให้ได้สารสนเทศที่เป็นจริงได้ และถ้านำสารสนเทศนี้ไปใช้ในการตัดสินใจจะทำให้เกิดผิดพลาดได้
มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มีภารกิจหลัก 6 ประการ ได้แก่
1. จัดการศึกษาเพื่อปวงชน อย่างหลากหลายรูปแบบ เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคคลในท้องถิ่น ให้มีคุณภาพ คุณธรรม และคุณค่า ทั้งต่อตนเอง ต่อท้องถิ่น และต่อสังคม ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
2. วิจัยเพื่อความเข้าใจในท้องถิ่นและสร้างสมความรู้จากท้องถิ่นเชื่อมโยงศาสตร์สากล นำผลไปใช้ในการร่วมปรับแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่น ตลอดจนพัฒนาสถาบัน และภารกิจ เพื่อให้สถาบันเป็นแหล่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ของท้องถิ่น
3. ผลิตและพัฒนาวิชาชีพครู โดยมุ่งผลิตและพัฒนาครูให้มีคุณภาพ คุณธรรม มีจิตวิญญาณของความเป็นครู ที่จะสามารถพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ และรัก ผูกพัน ภาคภูมิใจในวิชาชีพและท้องถิ่นของตน
4. บริการวิชาการและพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งและผสมผสานและประยุกต์องค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และศาสตร์สากล เพื่อพัฒนาชุมชนให้พัฒนาอย่างมีดุลยภาพและยั่งยืน สามรถคงไว้ซึ่งเอกลักษณะของไทยท้องถิ่นภาคใต้
5. ถ่ายทอดเทคโนโลยี ศึกษาค้นคว้า พัฒนาเทคโนโยลีที่เหมาะสมและนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ในการเรียนการสอนและบริการวิชาการแก่ชุมชน และเพื่อการปรับ พัฒนา แก้ปัญหาของท้องถิ่น
6. ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยมุ่งศึกษาค้นคว้า วิจัย เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น เผยแพร่โดยผ่านกระบวนการเรียนการสอนกิจกรรมนักศึกษา และสู้ชมชนด้วยรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถดำรงรักษาไว้ ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์และภาคภูมิใจวัฒนธรรมของตน
ด้วยพันธกิจดังกล่าวจึงได้จัดตั้งโครงสร้างการบริหารงานออกเป็นสถาบัน สำนักและคณะต่าง ๆ รวมทั้งหมด 13 หน่วยงาน ดังนี้
1. สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน
2. สถาบันวิจัยและพัฒนา
3. สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
4. สำนักศิลปะและวัฒนธรรม
5. สำนักงานอธิการบดี
6. สำนักกิจการนักศึกษา
7. คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
8. คณะครุศาสตร์
9. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
10. คณะวิทยาการจัดการ
11. คณะเทคโนโลยีการเกษตร
12. คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
13. คณะศิลปกรรมศาสตร์
ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการภายในมหาวิทยาลัยเพื่อให้ตอบสนองหน่วยงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยฯ นั้นมีอยู่จำนวนน้อยไม่ครอบคลุมการทำงานทั้งหมด นอกจากนี้ระบบสารสนเทศที่มีอยู่บางหน่วยงานไม่ได้จัดเก็บเป็นส่วนกลาง ทำให้เกิดการทำงานซ้ำซ้อน เสียเวลาในการทำงานและทำให้เพิ่มต้นทุนค่าจ้างบุคลากรมาป้อนข้อมูลที่ซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้น ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงมีนโยบายที่จะพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ มาใช้ในการบริหารงานให้ครอบคลุมทุก ๆ หน่วยงานโดยจัดเก็บฐานข้อมูลให้เป็นส่วนกลาง ระบบสารสนเทศที่จะนำมาใช้มี ดังนี้
1. ระบบสารสนเทศบุคลากร
2. ระบบสารสนเทศนักศึกษา
3. ระบบสารสนเทศหลักสูตร
4. ระบบสารสนเทศงานวิจัย
5. ระบบสารสนเทศงานนโยบายและแผน
6. ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารสำนักวิทยบริการ
7. ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการงานการเงินและบัญชี
8. ระบบสารสนเทศงานพัสดุ
9. ระบบสารสนเทศงานธุรการ
10. ระบบสารสนเทศกิจการนักศึกษาและระบบติดตามบัณฑิต
11. ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารสำนักส่งเสริมและวัฒนธรรม
12. ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารงานคณะ
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลายังมีนโยบายที่จะให้มีกลุ่มผู้ใช้ระบบสารสนเทศคลอบคลุมกลุ่มผู้ใช้ทุกกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้ระดับปฏิบัติการ ได้แก่ ธุรการ เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล ผู้ใช้ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ เช่น อาจารย์ กลุ่มผู้ใช้ที่เป็นผู้บริหารระดับกลาง เช่น คณบดี ผู้อำนวยการสำนักต่าง ๆ และผู้บริหารระดับสูง ได้แก่ อธิการบดี เป็นต้น
ในการพัฒนาระบบสารสนเทศในอดีต มีกระบวนการพัฒนาตามขั้นตอนที่เรียกว่า วงจรการพัฒนาระบบสารสนเทศ (Software Development Life Cycle: SDLC) (โอภาส เอี่ยมสิริวงศ์, 2548) ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนทั้งหมด 5 ขั้นตอน คือ การวางแผนโครงการ การวิเคราะห์ การออกแบบ การนำไปใช้ การบำรุงรักษา แต่การนำกระบวนการแบบนี้มาใช้ในการพัฒนาระบบขนาดใหญ่เช่นนี้ จะทำให้เกิดไม่มีคุณภาพ ขาดความน่าเชื่อถือ และไม่ได้มาตรฐาน หรืออาจมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น คุณภาพของสารสนเทศที่ได้ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้พัฒนาเป็นหลัก
ด้วยปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น จึงมีแนวคิดการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา โดยบูรณาการกับระเบียบวิธีคุณภาพซิกซ์ซิกม่า เป็นเครื่องมือแล้วมุ่งหวังที่ให้ระบบสารสนเทศที่ได้มีคุณภาพสูงสุด ระเบียบวิธีคุณภาพซิกซ์ซิกม่าเป็นทฤษฎีของนายมิเกล เจ แฮรี่ ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อลดความผิดพลาดในการผลิตสินค้าของบริษัทโมโตโรลา โดยกำหนดระดับของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต เป็นระดับซิกม่า (Sigma level) ซึ่งระดับซิกม่าที่ดีที่สุดนั้น คือ ค่าซิกม่าระดับ 6 หรือที่เรียกกันว่า ซิกซ์ซิกม่า อันเป็นระดับของกระบวนการผลิตที่ยอมให้มีสินค้าหรือผลผลิตมีความผิดพลาดเพียง 3.4 ชิ้นในล้านชิ้นเท่านั้น
ในปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ซิกซ์ซิกม่ากับงานต่าง ๆ เช่น ด้านธุรกิจ อุตสาหกรรมและบริการกัน พบว่าในการทำโครงการซิกซ์ซิกม่านั้นไม่ต้องลดความผิดพลาดจนอยู่ในระดับ 6 แต่ความผิดพลาดที่เกิดนั้นไม่ควรต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ กระบวนการทำโครงการซิกซ์ซิกม่ามีชื่อเรียกว่าดีเมอิก (DMAIC) ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ขั้นกำหนด (define) เป็นการกำหนดปัญหา ระบุลูกค้า สร้างแผนที่กระบวนการ กำหนดขอบข่ายของโครงงาน และผังการปรับโครงงาน
2. ขั้นวัดผลตัวชี้วัด (measure) เป็นขั้นตอนระบุวิธีวัดผลและตัวแปรที่ใช้ในการวัดผล อธิบายประเภทของข้อมูล และพัฒนาแผนการเก็บรวบรวมข้อมูล
3. ขั้นวิเคราะห์ (analyze) เป็นขั้นตอนการทบทวนเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ และดำเนินการวิเคราะห์ผลของตัวชี้วัด
4. ขั้นปรับปรุง (improve) เป็นขั้นตอนของการดำเนินการปรับปรุงการดำเนินงานตามที่วิเคราะห์เอาไว้ เพื่อให้ได้ค่าวัดผลจากตัวชี้วัดที่ดีขึ้น
5. ขั้นควบคุม (control) เป็นขั้นตอนดำเนินการควบคุมกระบวนการให้ดำเนินต่อไปโดยไม่ให้ความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเกิดขึ้นซ้ำอีก
จากปัญหาการพัฒนาระบบสารสนเทศในอดีตดังกล่าวมาแล้ว และผลดีของยุทธศาสตร์ซิกซ์ซิกม่า จึงได้นำเอาระเบียบวิธีคุณภาพซิกซ์ซิกม่ามาบูรณาการกับกระบวนการพัฒนาระบบสารสนเทศแล้วมุ่งหวังที่จะสร้างระดับคุณภาพให้ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาได้สูงสุด โดยนำกระบวนการทำโครงการซิกซ์ซิกม่ามีชื่อเรียกว่าดีเมอิก มาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบสารสนเทศของมหาวิทยาลัยฯ เพื่อสนับสนุนให้การบริหารงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้ ตามรูปแบบที่ผู้บริหารต้องการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาต่อไป




วัตถุประสงค์ของการค้นคว้า
เพื่อสร้างตัวแบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการบริหารและการจัดการงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ด้วยการบูรณาการกับระเบียบวิธีคุณภาพซิกซ์ซิกม่า เพื่อสร้างระดับคุณภาพการจัดการได้สูงสุด

สมมติฐานการวิจัย
เมื่อนำเอาระเบียบวิธีคุณภาพซิกซ์ซิกม่า มาบูรณาการกับการพัฒนาระบบสารสนเทศแล้วจะทำให้วิเคราะห์ความพึงพอใจของผู้ใช้ระดับผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารระดับกลาง ผู้ใช้ระดับความรู้และผู้ใช้ระดับปฏิบัติการได้ผลการวัดความพอใจสูงสุด และวัดคุณภาพเกิดคุณภาพได้สูงสุดอย่างไร ซึ่งสามารถสร้างเป็นตัวแบบได้ดังนี้

QITSixSigma = IT * MGT * QMSixSigma

กรอบแนวคิดในการวิจัย
ตัวแบบเทคโนโลยีสารสนเทศคุณภาพที่เกิดจากวิทยาการคุณภาพซิกซ์ซิกม่าบูรณาการกับกระบวนการพัฒนาระบบสารสนเทศ ทำให้เกิดวิทยาการคุณภาพอีกชนิดหนึ่งขึ้นมา สามารถเขียนเป็นไดอะแกรมดังนี้


1. ระเบียบวิธีการบริหารงานมหาวิทยาลัยฯ
2. ระเบียบวิธีการซิกซ์ซิกม่า
3. เทคโนโลยีสารสนเทศ QIT










ประโยชน์ของการค้นคว้า
1. ได้ตัวแบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับสนับสนุนการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาที่บูรณาการกับระเบียบวิธีคุณภาพซิกซ์ซิกม่า สำหรับนำไปใช้ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
2. เป็นแนวทางในการศึกษาค้นคว้าเพื่อใช้ในการพัฒนาระบบสารสนเทศให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ได้

ขอบเขตของการค้นคว้า
1. ตัวแบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับสนับสนุนการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาที่บูรณาการกับระเบียบวิธีคุณภาพซิกซ์ซิกม่า สำหรับนำไปใช้ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ประกอบด้วย ระบบบริหารงานบุคคล ระบบสารสนเทศงานวิจัย ระบบสารสนเทศงานนโยบายและแผน และระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ การเงินและบัญชีเท่านั้น
2. ตัวแบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับสนับสนุนการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาที่บูรณาการกับระเบียบวิธีคุณภาพซิกซ์ซิกม่า เพื่อรวบรวมข้อมูล สร้างและเก็บรายงานต่าง ๆ ตามขั้นตอนดีเมอิกโดยข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์เป็นข้อมูลปัจจุบัน (พ.ศ. 2550)

นิยามศัพท์เฉพาะ
1. ตัวแบบเทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาที่บูรณาการกับระเบียบวิธีคุณภาพซิกซ์ซิกม่า สำหรับนำไปใช้ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาคือ ตัวแบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สนับสนุนการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาที่นำเทคนิควิธีการจัดการคุณภาพแบบ ซิกซ์ซิกม่ามาใช้ในทุกกระบวนการที่ได้มาซึ่งระบบสารสนเทศทั้งหมด
2. ซิกซ์ซิกม่า คือ ระเบียบวิธีการการสร้างคุณภาพโดยใช้กระบวนการดีเมอิก ที่นำมาใช้กับกระบวนการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ทำเพื่อปรับปรุงกระบวนการการบริหารและจัดการภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา







บรรณานุกรม

พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ และสุชาติ กิจพิทักษ์. (2545). การประกันคุณภาพการศึกษา.
[Online], Available: http://www.moe.go.th/wijai/edu%20qa.htm, [2007, June 30].
มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา. (2550). ปรัชญา วิสัยทัศน์ พันธกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา.
[Online], Available: http://www.skru.ac.th/about/other.php, [2007, June 30].
โอภาส เอี่ยมสิริวงศ์. (2548). การวิเคราะห์และออกแบบระบบ. บริบัทซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด
จารึก ชูกิตติกุล. (2548). เทคโนโลยีสารสนเทศคุณภาพ: ปรัชญา สาระ และวิทยานิพนธ์.
คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีชั้นสูง ฉบับที่ 8 เดือนตุลาคม 2548,1-15.

ไม่มีความคิดเห็น: