วันพุธที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

แนะนำ maps.google.com

ก่อนหน้านี้กูเกิล ได้ออก google earth ให้ผู้ใช้ได้ตะลึง งงงวยกับความอลังการของโปรแกรมประเภทแผนที่โลก ที่ถ่ายจากดาวเทียม ในระยะที่ใกล้มาก ทำเอากองทัพไทย วิพากษ์วิจารย์ว่ากูเกิลสามารถล้วงความลับได้ จริง ๆ แล้วในอดีตภาพถ่ายทางอากาศมีใช้ในวงการทหาร ที่ไม่ยอมนำมาเปิดเผยให้สาธารณชน มาใช้ให้เกิดประโยชน์ บัดนี้กูเกิลได้ออกเวอร์ชันใหม่ ที่นำโปรแกรมดังกล่าวมาทำงานบนเว็บ ที่ url http://maps.google.com/ ความสามารถของโปรแกรมนี้สามารถนำมาประยุกต์ในงานด้านธุรกิจหลาย ๆ ด้านแล้วแต่จินตนาการของแต่ละคน เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขายที่ดิน ขายโครงการบ้านจัดสรร หรือแนะนำที่ตั้งของร้านค้า ของโรงแรม ที่ประชุมงาน event ต่าง ๆ เป็นต้น

ความสามารถของ google maps ที่ผมได้ทดลองใช้ดูมีหลายด้าน ดังนี้
1. ถ้าเราทราบชื่อสถานที่เราสามารถพิมพ์ข้อความนั้นค้นหาได้เลย เช่น ตอนอาจารย์ ดร. อุษา สอนภาษาอังกฤษท่านบอกว่า ท่านจบจาก texas woman's university ในขณะที่อาจารย์ได้เล่าเรื่องมหาวิทยาลัยแห่งนี้อยู่ ผมอยากรู้ว่ามันอยู่ ณ ตำแหน่งใดของอเมริกา เลยใช้คำค้นว่า texas woman's university จึงได้เห็นถึงหลังคาตึกเรียนเลย
2. ครั้งหนึ่งเพื่อนกลุ่ม MTB ได้คุยกันเรื่องจีพีเอส ว่ามันสามารถบอกพิกัดเป็นเส้นละติจูด ลองติจูดที่แม่นยำระบบเมตรต่อเมตร จึงถามเพื่อนว่า พิกัดของ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาอยู่ที่ตำแหน่งใด ผมได้นำเอาตัวเลขพิกัดนั้นมาป้อนในคำค้นหา จึงได้เห็นหลังคาตึกหอประชุมเลยละครับ
3. พอไม่กี่วันมานี้กูเกิล ได้เพิ่มเส้นทางถนนและมีชื่อเป็นภาษาไทย จึงได้เข้ามาทดลองใช้ฟังก์ชัน หาเส้นทางจากจังหวัดนั้น ไปจังหวัดนี้ได้ โดยกูเกิลลากเส้นถนนที่แนะนำพร้อมบอกเลี้ยวซ้ายขวาไปตามหมายเลขถนนได้ พร้อมบอกระยะทางรวมและเวลาในการขับรถด้วย ถือว่าเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีรายการที่นำมาทำได้เช่น
  • การสร้างแผนที่ของตนเอง
  • มีรูปภาพ หมุด และสัญลักษณ์อื่นให้ใช้เพิ่มเติมในการทำแผนที่
  • แทรกรูปภาพประกอบการบรรยายหมุด หรือภาพได้
  • แทรกภาพเคลื่อนไหวได้

ด้วยประโยชน์นานับประการ ผมจึงเชิญชวนชาวไซเบอร์ หันมาใช้กูเกิลแมบให้เกิดประโยชน์กันเถอะ

และนี่คือตัวอย่างที่ผมได้ทดลองทำแนะนำเส้นทางจากราชภัฏสงขลาไปบ้านที่หัวไทรครับผม




ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น

วันอาทิตย์ที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

จริงหรือ ที่เขาว่านักศึกษาราชภัฏ ไม่สนใจที่จะศึกษาหาความรู้จากเว็บที่เป็นภาษาอังกฤษ

ตั้งหัวข้อประเด็นนี้ขึ้นมา ไม่ได้ตั้งใจเพื่อให้เป็นประเด็นให้ถกเถียงกัน แต่จากการได้รับรู้งานวิจัย จากคำบอกเล่าของอาจารย์ผู้สอนคอมพิวเตอร์ด้วยกัน จากประสบการณ์ตรงของผมเองทั้งจากการสอนให้ปฏิบัติ และการสังเกตและการรายงานผลของเครื่อง Server ของมหาวิทยาลัย

จากการสังเกต เมื่อผมให้นักศึกษาให้การบ้านการเขียนโปรแกรม หรือเนื้อหาต่าง ๆ ที่กำลังศึกษาอยู่ นักศึกษาบางคนสามารถค้นหาเนื้อหา หรือหาวิธีการแก้ปัญหาโดยการค้นคว้าด้วยตนเองได้ แทบนับจำนวนคนที่แก้ปัญหาได้ ส่วนนักศึกษาที่เป็นส่วนใหญ่มักจะหาข้อมูลไม่ได้ ต้องรอให้อาจารย์ทำให้ดู เมื่ออาจารย์ค้นหาเจอ แต่ถ้าเป็นเว็บที่เป็นภาษาอังกฤษ นักศึกษากลับปฎิเสธเว็บนั้นทันที ไม่พยายามแม้แต่จะอ่านหัวข้อหรือ source code แม้ว่าทั้งที่เราต้องเขียนโปรแกรมด้วยภาษาอังกฤษอยู่แล้ว นักศึกษาอยากได้เว็บที่เป็นภาษาไทย แต่อยากถามย้อนกลับไปว่า ถ้าเราปฏิเสธภาษาอังกฤษแล้ว เมื่อนักศึกษาจบออกไปแล้วจะหางานอะไรทำ ในเมื่อถ้าเราไปทำงานกับบริษัทที่ต้องการเทคโนโลยีใหม่ ๆ เราต้องรอให้คนไทยแปลเป็นภาษาไทยก่อนหรือ บริษัทเขาคงไม่รอเราด้วยหรอกนะ

เมื่อมีเวลาว่าง โอเคว่านักศึกษาชอบใช้เวลาว่างในการใช้อินเทอร์เน็ต เป็นสิ่งที่ดี ขอชื่นชม แต่เมื่อไปดูเนื้อหาที่นักศึกษาเข้าไปดูนั้น ส่วนใหญ่แล้วนักศึกษาจะเข้าเว็บที่เป็นบันเทิง เล่นเกมออนไลน์ ข่าวสังคม ดารา เว็บต่าง ๆ ยกเว้นเว็บที่ให้ความรู้ จริง ๆ แล้วถามว่าเว็บที่ให้ความรู้นั้นน้อยหรือไม่ เปล่าเลยมีการสอนทุกเรื่อง อยากรู้อะไร ได้รู้ทุกอย่าง เมื่อตอนที่ผมได้ใช้อินเทอร์เน็ตใหม่ ๆ ตลึงกับเนื้อหาความรู้อันมากมายในนั้น บอกกับตัวเองในใจว่า ถ้าความรู้อยู่ในอินเทอร์เน็ตมากมายขนาดนี้ เราจะเรียนให้จบปริญญาเอกให้ได้อย่างไม่ยากเหมือนเมื่อก่อนแล้ว

จากการดูกราฟการใช้ในอินเทอร์เน็ตของราชภัฏสงขลา เราจะใช้แบนวิดธ์ประมาณ 25-30 Mbps ซึ่งสูงมาก ๆ แล้วไปดูที่เครื่อง proxy server ซึ่งทำหน้าที่เก็บ URL ที่นักศึกษาและบุคลากรของเราเข้าไปยังเว็บนั้น ๆ ปรากฎว่า เว็บ sanook เป็นเว็บที่เข้าบ่อยที่สุด เมื่อไปดูเว็บที่คนเข้าน้อยที่สุดได้แก่เว็บที่เกี่ยวกับเว็บความรู้ อยากให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทราบว่าทุกครั้งที่ใช้คอมพิวเตอร์จะมีค่าใช้จ่ายที่เรามองไม่เห็นอยู่ ได้แก่ ค่าเช่าวงจรอินเทอร์เน็ต ค่าเช่าเครื่องคอมฯ ค่าไฟฟ้าเครื่องปรับอากาศ ค่าจ้างพนักงาน อื่น ๆ จิปาถะ อยากฝากให้เป็นข้อคิดหน่อยว่า ทำอย่างไรให้นักศึกษาใช้อินเทอร์เน็ตแล้ว เกิดประโยชน์สูงสุด มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะ ด้านคอมพิวเตอร์ เมื่อจบไปแล้วเป็นที่ต้องการของนายจ้าง มีเงินเดือนสูง ๆ จะไปศึกษาต่อก็สอบเข้าได้ อย่างคนมีภูมิความรู้ จะประกอบอาชีพส่วนตัวก็มีลูกค้าไว้ใจเรา รู้แล้วรีบทำเสียตั้งแต่วันนี้ ยังไม่สาย..... ผมขอเอาใจช่วย