ในอดีตตอนผมเรียนหนังสือระดับปริญญาตรี ได้ลงเรียนวิชา การเมืองการปกครอง มีอาจารย์บรรยายให้ฟังว่า "การเมืองเป็นเรื่องของกลุ่มผลประโยชน์ ที่จะเฝ้าระวังปกป้องไม่ให้กลุ่มของพวกตนสูญเสียผลประโยชน์ไป" ในตอนนั้นอยากจะเถียงอาจารย์ว่าคงไม่จริง อย่ามองการเมืองในเชิงลบเกินไป คงจะมีคนดีที่เห็นแก่ประเทศชาติคงจะมีอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย แต่เมื่อมาทบทวนอีกที ที่อาจารย์พูดถูกต้องทีเดียว เพราะว่าไม่ว่าใครมาทำหน้าที่เป็นรัฐบาล บุคคลกลุ่มนั้นจะเข้ามาตักตวงเอาผลประโยชน์ไปให้กลุ่มของตนเอง ถึงแม้ว่าไม่ได้เป็นนักการเมืองก็เช่นเดียวกัน เช่น เป็นหัวหน้าฝ่าย หัวหน้าแผนก ผู้อำนวยการ คณบดี อธิการบดี ฯลฯ แม้แต่นักกฏหมายก็ไม่เว้น ซึ่งเราต้องกล่าวถึงรายละเอียดของการนิยามของคำว่า"กลุ่ม" เสียก่อน ยกตัวอย่างเช่น พรรคการเมืองหนึ่งมีบรรพบุรุษ พื้นฐานมีอาชีพเป็นเกษตกร เมื่อได้บริหารประเทศ จะมีนโยบายหรือออกกฏหมายให้สินค้าเกษตรมีราคาสูง มีการช่วยเหลือเกษตรกรในด้านการประกันราคาพืชผล อาจจะมีนโยบายกีดกันพ่อค้าคนกลาง อย่างนี้แสดงว่าเอื้อให้ผลประโยชน์ต่อกลุ่มของตน กีดกันผู้ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มของตนเอง ในทางกลับกันถ้ารัฐบาลที่มาจากกลุ่มพ่อค้า นโยบายหรือกฎหมายต่างๆ จะออกมาสนองต่อกลุ่มของตนเอง เช่น การขายรัฐวิสาหกิจที่มีผลกำไรดี ให้เข้าตลาดหลักทรัพย์ แล้วออกกฏให้กลุ่มพวกตนมีสิทธิซื้อหุ้นในราคาพาร์ ในจำนวนที่มาก ๆ ออกกฏว่าเมื่อขายได้กำไรไม่ต้องเสียภาษี อย่างนี้เป็นต้น นี่คือหลักการของการเมือง
ทีนี่มาว่ากันถึงเรื่องกลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่ใช่การเมืองบ้าง เช่น ข้าราชการหรือผู้ที่ทำงานในส่วนของราชการรัฐวิสาหกิจ เมื่อมีโอกาสร่างระเบียบหรือออกกฏเกณฑ์ต่าง ๆ ก็ไม่แพ้การเมืองเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ลูกจ้าง เมื่อเกษียณอายุจะไม่มีสิทธิ์รับเงินบำนาญ การเซ็นชื่อทำงานต้องเซ็นตอนเช้าและเย็น ส่วนข้าราชการเซ็นเช้าอย่างเดียว หรือบางหน่วยงานเซ็นสัปดาห์หรือเดือนละครั้ง เป็นต้น ทายซิว่าใครเป็นผู้เขียนกฏ ร่างกฏนี้ขึ้นมา
เราจะเห็นได้ว่าไม่ว่าใครจะมาบริหารประเทศ หรือบริหารองค์กร พวกเขาเหล่านั้นจะมองไปที่กลุ่มของตนเองก่อนเสมอ เพราะฉะนั้นการนิยาม "คนดี" ของ กกต. หรือของใคร ๆ จะให้นิยามแตกต่างกัน ถ้าถามชาวบ้านว่าคนดีที่เขาเลือกเป็นเช่นไร เขาอาจตอบว่า 'ตอนงานบวชลูกชาย มี "คนดี" มาช่วยงานให้เหล้า 1 ลัง' ก็ได้ บางคนนิยาม"คนดี" คือคนมีเงิน มีฐานะร่ำรวย มีนโยบายถูกใจชาวบ้านเหลือเกิน อันนี้เขาก็นิยามเป็นคนดีเสียแล้ว ความจริงตามหลักศาสนาหรือหลักของความจริงมีการกำหนดคุณลักษณะของคนดีเอาไว้แล้ว แต่ กกต. ไม่ยอมเอามาบอก หรือว่ากกต.ก็ยังนึกไม่ออกเหมือนกัน(ฮา) เอาไว้คราวต่อไปจะมาเขียนคุณลักษณะของคนดีมาให้อ่านกันครับ
เราจะเลือกคนดีอย่างไร คนดีในลักษณะการเมือง "ควรเป็นตัวแทนของคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ" ควรรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ ประเทศไทยมีกลุ่มคนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร และรับจ้าง จึงสมควรเลือกตัวแทนของคนที่จะมาดูแลผลประโยชน์ให้กับคนเหล่านี้ ตามสภาพที่เป็นไปได้
ถ้าในครั้งนี้เราได้รัฐบาลเป็นใครที่ไหนก็ไม่รู้ มารักษาผลประโยชน์ให้ใครก็ไม่รู้ แล้วเราจะมีวิธีการจะจัดการ อย่างไร? มีบางคนเสนอแนะในบล็อก บล็อกหนึ่งว่า จะหาวิธีการที่จะไม่เสียภาษีหรือเสียภาษีให้น้อยที่สุด โดยการคำนวณว่าปีนี้จะเสียภาษีเท่าไร ให้นำเงินเหล่านั้นไปบริจาคซื้อวัสดุ ครุภัณฑ์ให้แก่ โรงเรียน แล้วนำใบเสร็จไปหักลดหย่อนภาษีให้หมด วิธีนี้เหมาะสำหรับบุคคลหรือองค์กรที่เสียภาษีมาก ๆ ซึ่งเหมือนๆ กับการเสียภาษีให้กับรัฐแต่ไม่ต้องให้รัฐไปใช้จ่ายในเรื่องที่ตนเองไม่เห็นด้วย (ไม่รู้มันเอาเข้ากระเป๋าใครบ้าง) ซึ่งถือเป็นการนำเงินของเราไปบริหารประเทศซะเอง วิธีนี้ก็เป็นทางออกที่ดี เหมาะกับคอการเมืองมาก ๆ
ถ้าเราบอกว่าไม่พอใจ สส. หรือคณะรัฐบาลปัจจุบันจะทำอย่างไร ผมมีข้อเสนอแนะดังนี้
- เขียนบล็อกบอกคนทั่วไปว่า เราไม่ชอบรัฐบาลนี้ ข้อนี้อย่าได้นิ่งเฉย แม้ไม่เกิดผล แต่เป็น feedback อย่างหนึ่งให้เขารู้ แต่ถ้าเขาทำดี เราจงแสดงความขอบคุณและให้กำลังใจเขาด้วย
- พูดคุยกับคนรอบข้างว่า เราไม่ชอบรัฐบาลนี้ด้วยเหตุผลใด
- เมื่อถึงขีดระดับความไม่พอใจเพิ่มขึ้น จงรวมกลุ่มกันแสดงความเห็น(บางคนเรียกว่าประท้วง) ว่าเราไม่เห็นด้วยนะ เลือกตั้งครั้งต่อไปจะต่อต้านเต็มที่
- เดินขบวณปลุกระดมให้พ่อแม่พี่น้องร่วมชะตากรรมเดียวกัน ให้ลุกฮือกันทั่วประเทศ
- ในการเลือกตั้งคราวหน้า ถ้าท่านคิดว่าท่านดีกว่าคนเก่า อย่าได้รีรอ รีบสมัครเข้าสังกัดพรรคการเมือง ลงสนามแข่งให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย
อันตัวกระผมเองเริ่มที่จะทนพฤติกรรมของนักการเมืองกับการย้ายข้าราชการชั้นสูงในขณะนี้ไม่ไหวแล้วเช่นกัน เพราะผมถือข้าราชการเป็นกลุ่มพวกพ้องเดียวกันกับผม การย้ายแต่ละคนก็ให้เหตุผลการย้ายที่ฟังไม่ขึ้น โกหก ไม่ละอายต่อบาป อยากบอกไปยังบุคคลทั่วไปว่า เราไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐบาลชุดนี้ และขอสาปแช่งให้ผลการกระทำของเขาเหล่านั้น ให้มีอันเป็นไป แต่ถ้าเขาทำโดยบริสุทธิ์ใจ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประชาชน และประเทศชาติก็ขอให้รับผลดีนั้น ๆ ด้วยเทอญ ขอเจริญพร สาธุ
๒ ความคิดเห็น:
เห็นด้วยครับ
เห็นด้วยนะคะอาจารย์แล้วตอนนี้การเมืองภายใน
ไปถึงไหนแล้วล่ะคะ ยังพอมีพื้นที่สำหรับ "คนดี"
ได้ "ลงมือทำ" อีกบ้างไหม
หรือว่ามีสิทธิ์ แค่ "นั่งดู" ได้อย่างเดียว..
แต่ถึงแม้จะได้แค่ "นั่งดู"
ก็จะเป็น "คนนั่งดู" ที่เป็น "คนดี" ค่ะ
แสดงความคิดเห็น