สืบเนื่องจากในวันที่ 11 ก.ค.51 นี้เป็นวันหยั่งเสียงเพื่อสรรหาตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและงานทะเบียนของมหาวิทยาลัยฯ ผมเป็นคนแรกที่อาสาสมัครเข้าไปเพื่อทำหน้าที่นี้ ในใบสมัครเขาให้กรอกข้อมูลและแสดงวิสัยทัศน์เพียงกระดาษ เอ 4 เพียงแผ่นเดียว คงไม่สามารถบอกอะไรในความเป็นตัวของกระผมได้มากนัก วันนี้เลยถือโอกาสเอาบล็อกมาเขียนเพื่อให้ชาวราชภัฏรู้จักตัวตนของผมมากยิ่งขึ้น
ภูมิหลัง
ผมเกิดเป็นลูกชาวนาที่อำเภอหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช มีพี่น้อง 9 คนผมเป็นคนที่ 4 ในวัยเด็กพ่อเสียชีวิตตั้งแต่ผมเรียนชั้น ป.1 แม่ต้องเลี้ยงดูลูก ๆ ทั้งหมดอย่างยากลำบาก ผมต้องช่วยทำงานตั้งแต่เล็ก ๆ ทั้งหาบข้าว เลี้ยงวัว สารพัดอย่างที่ทำได้เพื่อที่จะได้เรียนหนังสือ กลางคืนหากุ้งในคลอง ภาษาบ้านเราเรียกว่า "ราวกุ้ง" ด้วยผลการเรียนออกมาดี ในลำดับต้น ๆ แม่จึงยอมให้เรียนหนังสือได้ ในขณะที่พี่ ๆ น้อง ๆ คนอื่นต้องหยุดเรียน ในช่วง ป.5-6 ต้องไปเป็นเด็กวัดศาลาแก้วซึ่งอยู่ใกล้กับโรงเรียนอาศัยข้าวก้นบาตรกิน แต่การได้อาศัยอยู่วัดมันทำให้ผมได้สิ่งดี ๆ มากมายติดตัวผมจนปัจจุบันนี้ ในเรื่องจิตใจที่สงบร่มเย็น ไม่ใจร้อน มองคนในแง่ดีและได้สิ่งอื่น ๆ อีกมากมาย บทสวดมนต์ต่าง ๆ ก็ท่องได้หมด สามารถนั่งสมาธิที่ใช้ระยะเวลาอันสั้น ก็สามารถทำให้จิตสงบได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
ตอนเรียนระดับมัธยม ได้เรียนที่ ร.ร.หัวไทรบำรุงราษฎร์ เป็น ร.ร.ประจำอำเภอ ต้องตื่นแต่เช้านั่งเรือจากบ้านไปตัวอำเภอ จากตลาดไปยังโรงเรียนระยะทางเกือบ 2 กม.ผมต้องเดินไปกลับทุกวัน ไม่เคยได้ขี่รถโดยสาร หรือมอเตอร์ไซต์รับจ้างเลย เพราะต้องการประหยัดเงินให้แม่นั่นเอง พี่น้องชาวราชภัฏมักจะเห็นว่าผมยังใช้วิธีการเดินไปมาระหว่างอาคารในมหาวิทยาลัย ตั้งแต่อาคาร 10 ไปอาคาร 2 อยู่เสมอก็ด้วยเหตุนี้กระมังครับ
ระดับมัธยมปลายผมหันไปเรียนด้านช่างไฟฟ้าที่วิทยาลัยเทคนิคระนอง ด้วยคิดว่าจบแล้วจะได้มีงานทำ ตอนปิดเทอมต้องรับจ้างทำงานก่อสร้าง เป็นช่างผูกเหล็กและช่างเดินท่อไฟฟ้าในอาคาร เมื่อมาเป็นกรรมการตรวจการจ้างในมหาวิทยาลัยฯจึงคุยกับผู้คุมงานได้รู้เรื่องเข้าใจตรงกัน บริษัทใดทำงานดีมีฝีมือหรือไม่มี ผมสามารถดูเป็น เมื่อจบปี 3 (ปี 2527) ผมมาสอบบรรจุเข้าทำงานในตำแหน่งช่างไฟฟ้าระดับ 1 ที่คณะแพทย์ มอ.หาดใหญ่ได้ทันทีทั้งที่มีคู่แข่งหลายคน ผมทำงานตั้งแต่อายุ 19 ปีเท่ากับนักศึกษาปี 1 ในปัจจุบัน ผมต้องรับผิดชอบงานไฟฟ้าของโรงพยาบาลตั้งแต่หลอดไฟธรรมดา ถึงไฟฟ้าแรงสูง (ช่างไฟฟ้าของ มอ.ต้องสับฟิวส์แรงสูงเอง) และเครื่องมือต่าง ๆ เช่นเครื่องมือแพทย์ที่มีราคาแพง ๆ ลิฟต์โดยสารจำนวน 16 ตัว ทำให้ผมสนใจด้านอิเลคทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ไปด้วย ผมสามารถดัดแปลงเอาเครื่องล้างฆ่าเชื้อวัสดุการแพทย์ที่เสียแล้วและบริษัทไม่รับซ่อมแล้วพร้องแทงจำหน่ายแล้ว มาเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อควบคุมให้มันฟื้นคืนชีพทำงานได้สำเร็จอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้ใช้ จนหัวหน้างานคนหนึ่งเคยพูดให้ได้ยินต่อหน้าว่า "เก่งกว่าวิศวกรซะอีก"
ในปี 2533 ได้เข้ามาศึกษาในสถาบันราชภัฏสงขลา สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ในวันเสาร์อาทิตย์ (กศ.บป.) ผมเรียนด้วยทำงานไปด้วยไปจบเอาในปี 2540 ใช้ระยะเวลาเรียนประมาณ 6 ปีกว่า ๆ เป็นรุ่นแรกและรุ่นเดียวของสาขานี้ มีอาจารย์หลายท่านที่สอนผม ตั้งแต่ อ.สมเดช รศ.ยาใจ ผศ.กัลยา อ.มีพร ศ.อำนวย ผศ.สัญญา ผศ.รัตนาและอีกหลายท่านที่ยังไม่ได้กล่าวนาม จะเห็นว่าผมสามารถเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยได้อย่างสบาย ผมได้เกรดสูงเป็นลำดับที่2 (ลำดับที่ 1 จบ ดร.แล้ว)
เมื่อจบการศึกษาแล้ว ช่วงกลางปีมีการรับสมัครอาจารย์ จึงมาสมัครสอบแข่งขันเพื่อโอนมาเป็นอาจารย์ สมัครสอบเข้าตามขั้นตอนและได้รับการคัดเลือก ทั้งที่เป็นม้านอกสายตา จึงได้เข้ามาสอนในปลายปี 2540 จนถึงปัจจุบัน ต่อมาในปี 43 ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี แล้วกลับมาเป็น ผอ.ศูนย์คอมพิวเตอร์ จากการชักชวนของ ผศ.ประสิทธิ์ สังขมณีและต่อด้วย ผศ.สุรชัย จนถึงปัจจุบัน
การทำงานในศูนย์คอมพิวเตอร์
เนื่องจากผมสนใจและเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องการพัฒนาระบบสารสนเทศ และระบบฐานข้อมูล จึงได้พัฒนาระบบงานบริหารงานบุคคลให้มหาวิทยาลัยใช้ และระบบงานสารบรรณอิเลคทรอนิกส์ให้กับธุรการใช้ โดยทั้งสองระบบไม่เคยคิดถึงรายได้จากการทำงานแม้แต่บาทเดียว (ผมเขียนโปรแกรมมาก่อนที่จะดำรงตำแหน่ง จำนวนบรรทัดที่เขียนเกินหนึ่งแสนบรรทัดใช้เวลามากกว่า 4 ปี เขียนตอนกลางคืน) ผมไม่มีเงินตอบแทนเลย เพราะไม่หวังว่าจะได้สิ่งตอบแทนจากมหาวิทยาลัยจากช่องทางใด ๆ ซึ่งถ้าเป็นมหาวิทยาลัยอื่นๆ หรือคนอื่นเขาจะเขียนเป็นงานวิจัย ซึ่งจะได้ทั้งเงินและเอาไปเป็นผลงานเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการได้ด้วย แต่ปรัชญาการทำงานของผมนั้นถูกปลูกฝังตอนเป็นเด็กวัดแล้วว่า "เงินไม่ใช่สรณะ เงินไม่ใช่ความสุข" แต่สรณะที่แท้จริงของผมคือ การไม่มีทุกข์ และการหมดทุกข์ นั่นคือความสุข (และระวังตัวอยู่เสมอว่า การมีหนี้สินเป็นความทุกข์ ผมจึงไม่มีหนี้สินใด ๆ)
หัวใจของนักบริหาร
การเป็นนักบริหารตามความเห็นของกระผมนั้น จะต้องมีสิ่งหนึ่งที่เขาพูดกันฮิตนั่นคือ การมีจิตเป็นสาธารณะ นั่นคือบุคคล ๆ นั่นจะต้องมองเห็นประโยชน์ส่วนรวมมาเป็นอันดับหนึ่ง ต้องช่วยเหลือสังคมตามความเหมาะสม สำหรับกระผมแล้ว เมื่อนักศึกษาจัดกิจกรรมออกค่ายครั้งใด ผมเป็นคนหนึ่งที่ต้องไปร่วมงานเข้าค่ายกิจกรรมกับนักศึกษา โดยไม่ต้องรีรอ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ค่าน้ำมันรถเอง
ผมเป็นสมาชิกชมรมผู้บริจาคโลหิตหมู่พิเศษ (A rh-) ซึ่งจากภาพมุมบนขวามือ ที่นอนให้เลือดด้วยเครื่องเพื่อสกัดเอาพลาสม่าไปใช้กับผู้ป่วย ผมบริจาคมาแล้วทั้งสิ้น 18 ครั้ง ทุกครั้งที่บริจาค จะเกิดจากโรงพยาบาลโทรศัพท์มาตามตัวเจาะจงมาที่กระผมทั้งสิ้น ผมถือว่าเป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันโดยไม่จำเป็นต้องรู้ชื่อเสียงเรียงนามของผู้รับ เป็นบุญกุศลสำหรับผู้ให้ นอกจากนี้ผมยังทำหน้าที่เป็นกรรมการฝ่ายทะเบียนของชมรม ได้ทำเว็บฐานข้อมูลชมรมอยู่ที่ http://202.29.16.20/blood/ เป็นโปรแกรมที่ต้องเขียนให้ฟรี ๆ อีกแล้วครับ
ผมเป็นคนทำบุญกับวัดหรือการกุศลต่าง ๆ อยู่เป็นนิจ เรื่องนี้ถามพี่แดงคนงานคณะวิทย์ได้ แต่ผมไม่ให้ทานกับขอทานบนสะพานลอย ซึ่งผมมีความเห็นว่าการให้ทานแบบนั้นเป็นการส่งเสริมให้มีการค้ามนุษย์เกิดขึ้น
ผู้บริหารจะต้องมีความโปร่งใส ไม่ทุจริต ไม่คอรัปชั่น เนื่องจากผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง ประกวดราคาบ้าง ผมเองไม่เคยหาผลประโยชน์จากสิ่งที่ไม่ควรจะได้ทั้งปวง แม้ตอนที่บริษัทมาเสนอเงื่อนไขต่าง ๆ ก็ไม่เคยใจอ่อน ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย อย่างตรงไปตรงมา นอกจากนี้ผมยังประหยัดเงินงบประมาณให้มหาวิทยาลัยในด้านต่าง ๆ อีก เช่น การไปราชการที่กรุงเทพ ปกติผมมีสิทธิ์เบิกค่ารถโดยสารชั้นวีไอพี หรือรถไฟได้ แต่ผมนั่งรถทัวร์ธรรมดา ก็เบิกธรรมดา แม้แต่รถแท็กซี่ใน กทม.ก็ไม่เคยเบิกเงินถึง 200 บาทตามกำหนดสูงสุดของระเบียบ เรื่องนี้ให้ถามพี่ประคอง ฝ่ายการเงินได้
การเป็นผู้บริหารต้องมั่นใจในตนเอง เชื่อมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ตกเป็นเครื่องมือของคนหนึ่งคนใด แต่ต้องยืดหยุ่น อารมณ์นิ่งสงบเมื่อเจอปัญหา ยิ่มแย้มเมื่อเจอผู้มาติดต่อ ในเรื่องมั่นใจในสิ่งที่ถูกต้อง ผมจะมั่นใจในสิ่งที่จะกระทำ เช่น ไม่ดื่มสุราแม้เพื่อนชวน แต่ร่วมวงกับเพื่อนได้ ไม่เที่ยวกลางคืน ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่ตามกระแสค่านิยมที่ผิด ๆ ผมจะแก้ปัญหาที่ตนเองซึ่งจะง่ายกว่าให้คนอื่นมาแก้ปัญหาให้เรา เช่น ผมจะไม่รอให้รัฐบาลมาช่วยเหลือลดราคาน้ำมันให้ แต่ผมจะแก้ด้วยการปั่นจักรยานมาทำงาน แม้ว่าบางคนอาจไม่เห็นด้วย แต่ผมก็ได้ศึกษาหาข้อมูลมาแล้วว่า ปลอดภัยจึงกล้าตัดสินใจทำลงไป
การเป็นผู้บริหารต้องมีความรู้ในสาขาที่จะทำมาเป็นอย่างดี จะได้ตัดสินใจได้ถูกต้อง ปัจจุบันการบริหารการจัดการทุกอย่างต้องใช้ไอทีเข้ามาช่วย ให้งานเสร็จอย่างรวดเร็ว ลดการใช้แรงงานคน และถูกต้องมากยิ่งขึ้น เช่น การส่งเกรดทางอินเทอร์เน็ตของงานทะเบียน จะลดคนคอยตรวจทานการบวกคะแนน การคิดเกรด ลงได้หลายคน รวมทั้งลดงานฝ่ายทะเบียนที่ต้องมาบันทึกเข้าสู่คอมพิวเตอร์ด้วย
ในอนาคตที่กำลังให้นักศึกษาคอมพิวเตอร์ช่วยทำนั่นคือ การส่งข้อสอบ การเบิกข้อสอบ และคืนข้อสอบจะใช้ระบบบาร์โค้ตที่กระดาษซองข้อสอบเพื่อลดภาระงานอาจารย์ฝ่ายต่าง ๆ ได้ เพื่อที่จะให้อาจารย์ไปทำงานอย่างอื่นที่เหมาะสมกว่า
ลืมบอกไปว่า กระดาษที่ปะติดหน้าซองข้อสอบเป็นข้อเสนอของกระผมเอง ไปยัง ผอ.พิพัฒน์ ท่านก็เข้าใจสั่งการให้โปรแกรมเมอร์เขียนโปรแกรมให้ ทำให้สะดวกมากยิ่งขึ้น ปกติผมต้องหาเอกสารว่าวิชานี้สอบห้องไหน เวลาใด ฯลฯ ใช้เวลาครึ่งวันสำหรับทำซองข้อสอบ 4-5 ซองแต่ปัจจุบันลดเวลาได้เยอะมาก ๆ การเขียนโปรแกรมอาจใช้เวลานานแต่เมื่อเสร็จแล้ว ผู้ใช้คลิกเพียงปุ่มเดียวมันจะสร้างกระดาษปะหน้าซองมาให้อาจารย์ทุกคนทุกวิชาครับ เห็นไหมละครับว่าถ้ามีความรู้ มีวิสัยทัศน์ ก็สามารถจะใช้ให้มันเกิดประโยชน์ได้แน่นอน
มองไปในอนาคต
ผมเคยได้เข้าร่วมเข้าฟังการปาถกฐาของเลขาธิการ สกอ.ที่กล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยไทย ในอนาคตจะต้องแข่งขันกันมากยิ่งขึ้น สถาบันการศึกษาต้องพัฒนาตัว โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษามีเพิ่มมากขึ้น วิทยาลัยเทคนิคสามารถเปิดสอนในระดับปริญญาตรีได้ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ต่างก็แข่งขันกันรับนักศึกษา ในขณะที่นักศึกษาน้อยลง แน่นอนว่าสถาบันเก่าจะต้องปรับปรุงคุณภาพทั้งการเรียนการสอน อาคารสถานที่ให้น่าเรียน อาคารเรียนสะอาด อาจารย์สอนอย่างมีคุณภาพ ใช้ไอทีเข้ามาสอน สอนอะไรที่ใหม่ ๆ ทันโลกทันเหตุการณ์ นักเรียน นักศึกษาอยากจะเรียน ปัญหาและความต้องการเหล่านี้ ผมคิดว่าเราจะต้องพัฒนาให้ไปในแนวทางที่ต้องการได้ ถ้าเราตั้งข้อสมมุติฐานว่าเราจะผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ แล้วให้นิยามคำว่า คุณภาพว่า
เหนือความคาดหมาย
นี้คือความคิด ความตั้งใจของผมที่จะทำ
กิจกรรมต่าง ๆ จะมีดังนี้ การให้การอบรมพัฒนาอาจารย์ พัฒนาหลักสูตร การปรับปรุงวัสดุหรือสื่อการสอนให้ทันสมัย พร้อมใช้ตลอดเวลา ห้องเรียนต้องสะอาด
ที่เขียนมายืดยาวก็เพราะจะบอกว่าผมอาสาเข้ามาทำงานที่สำนักส่งเสริมฯ ตามที่คิดหวังว่าจะมาพัฒนาให้มหาวิทยาลัยฯ มีความก้าวหน้า อำนวยความสะดวกให้แก่อาจารย์และนักศึกษา คุณสมบัติต่าง ๆ ของผมมีพร้อม ผมทำงานหนักมาตลอดชีวิต เพราะเป็นลูกชาวนา เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ผมปั่นจักรยานออกจากบ้านตั้งแต่ 6 โมงถึงราชภัฏ 7 โมงกว่า ๆ มาทำงานต่ออย่างไม่เหน็ดเหนื่อย กลับบ้านหลัง 5 โมงทุกวัน
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ทุกท่านมอบความไว้วางใจให้กระผมได้ทำงาน ขอบคุณทุกท่านมา ณ ที่นี่
นี่คือลิงค์ภาพถ่ายบอกตัวตนของผมได้ดียิ่งขึ้น ใครอยากมีบล็อกแบบนี้ อยากอับโหลดภาพแบบนี้เป็นของตนเอง แสดงความจำนงให้ผมจัดอบรมให้ก็ได้ครับ 3 ชั่วโมงทำเป็นครับ
๓ ความคิดเห็น:
..น้ำใจท่าน ทวีรัตน์ จัดไว้.. สูง..
คอยค้ำจูง.. คุณธรรม นำวิถี..
หากไทยแท้.. ดูที่จิต.. คิดสิ่งดี...
เพราะจิตมี.. ธรรมเลิศ เกิดข้างใน...
ส.กฤษณ์แก้ว
22 กค 51 : 02.34 น.
ทวี เกิดเกดแก้ว ประกายธรรม
รัตน์ แก้วแห่งกรรมดี สร้างไว้
นวล ประกายเจริดจรัส กรรมดี ดีก่อ
ช่วย ส่งเสริมธรรมะ ศรัทธา แรงถึง
ขอขอบคุณบทกวี ของทั้งสองท่านเป็นอย่างสูง
อ่านแล้วชื่นใจดีจัง
นึกไม่ถึงว่าน้องหลินเป็นเจ้าบทเจ้ากลอนด้วย
ขอบคุณมากครับ
แสดงความคิดเห็น