วันนี้ (30 ส.ค. 2553) ได้มีโอกาสเข้าฟังการปฐกถาพิเศษ หัวข้อ "คนดีของแผ่นดิน" โดย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เห็นว่า มีประโยชน์มาก จึงขอนำมาเผยแพร่ต่อไปยังนักศึกษาและผู้สนใจ และเพื่อเป็นข้อคิดเตือนใจให้กับตนเองด้วย พอจะสรุปใจความ ได้ดังนี้
การเป็นคนดี ไม่ต้องใช้เงิน ไม่ต้องลงทุน
เพียงใช้ความรัก เช่น รักพ่อ รักแม่ รักชาติ รักศาสนา รักพระมหากษัตริย์
เพราะคนเราเมื่อใจมีรักแล้ว จะทุ่มเท กำลังกาย ใจ เพื่อความรัก
คนดี
คนดี คือ คนที่มีคุณงาม ความดี
คนดี คือ คนที่มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นที่ต้องการและปรารถนาของคนอื่น
เราจะดูคนดี ดูได้อย่างไร
เราสามารถดูคนดีออกว่า คนนี้ คนนั้น เป็นคนดีหรือไม่ สามารถดูได้จาก....
- ดูจากพฤติกรรมของคนนั้น ๆ
- ดูจากจริยธรรม หมายถึง การปฏิบัติตน การประพฤติของเขา ถ้าดูพฤติกรรมอย่างเดียว อาจดูยาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาสั้น ๆ เขาอาจเสแสร้งก็ได้ ดังนั้นจึงต้องดูกันนาน ๆ
- ดูจากจิตใจ (mind) หมายถึง ความรู้สึกนึกคิด
- ดูที่คุณธรรม คนที่คิดดี คิดถูก คิดชอบ
- ดูที่จิตสำนึก ภาวะจิตทีตื่น ตื่นต่อสิ่งเร้าทั้ง 5 คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
การตรวจสอบคนดี
คนดีสามารถตรวจสอบได้ โดยมี 7 ข้อ
- ต้องรู้จักเหตุ-ผลที่กระทำลงไป เช่น เหตุเพราะไม่อ่านหนังสือ ผลคาดได้เลยว่าเราจะไม่มีความรู้ ไม่สามารถสอบผ่านได้ เมื่อเรารู้เหตุ คนดีมักระงับเหตุเพื่อไม่ให้เกิดผลที่ตามมา
- รู้จักผล การคาดการณ์ได้ว่า เหตุเกิดแบบนี้ ผลจะตามมาอย่างไร ในทางกลับกัน ถ้าเราทราบผล เรามาดำเนินการตามเหตุ เช่น ถ้าเราต้องการให้สอบได้ เราต้องหมั่นเพียรอ่านหนังสือ
- รู้จักตน รู้ศักยภาพตน รู้ฐานะตนว่ามีฐานะอย่างไร เก่งวิชาใด ใช้ความสามารถด้านนั้น
- รู้จักประมาณตน พอดี คำว่า พอ-ดี เช่น เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่แต่เพียงเศรษฐกิจอย่างเดียว รวมทั้งการดำเนินชีวิตด้วย
- เป็นคนรู้จักกาล หมายถึง เวลา เวลาใดควรทำอะไร เช่น เวลาเป็น นศ. ต้องรู้ว่าต้องอ่านหนังสือ ค้นคว้าหาความรู้
- รู้จักเทสะ แปลว่า สถานที่ สถานที่ใด ทำอะไร ไม่ควรทำอะไร
- รู้จักบุคคล รู้จักความแตกต่างระหว่างบุคคล จะได้วางตนได้ถูกต้อง
จิตสำนึก
จิตสำนึก มีอยู่ในตัวเรา สามารถสร้างขึ้นได้ ปลูกฝังได้ ครูอาจารย์ ควรปลูกฝังความดีให้แก่ นศ.
"การทำความดีจะว่ายากก็ยาก การรักษาความดีนั้นยากกว่า"
การรักษาความดี ต้องมีจิตใจมั่นคง หนักแน่น อดทน
ความดีติดตัวเราไปจนตาย ความไม่ดีก็ติดตัวเราไปจนตาย เช่นเดียวกัน
"ความดีที่เราทำ กับความชั่วที่เราทำนำมาหักลบเหมือนคณิตศาสตร์ไม่ได้"
ดังนั้น เราไม่ควรทำสิ่งที่ไม่ดีเลยในชีวิตนี้ อะไรจะมาคอยเตือนเราไม่ให้ทำสิ่งไม่ดี นั่นคือสติ
เราจะส่งเสริมให้คนทำความดีได้อย่างไร
โดยการยกย่องคนดี การยกย่องเพื่อเป็นเกียรติ แก่ผู้ทำดี
เป็นหน้าที่ของเราทุกคน ที่ต้องบ่มเพาะให้เด็ก เป็นคนดีให้ได้ ถ้าไม่ทำถือว่า บกพร่องต่อหน้าที่
เราจะหยุดยั้งไม่ให้คนชั่วเพิ่มขึ้นได้อย่างไร
การหยุดยั้งไม่ให้คนชั่วเพิ่มขึ้น โดยการตำหนิคนไม่ดี การตำหนิด้วยการ ใช้มาตรการลงโทษทางสังคม ที่ทุกคนต้องทำ
เช่น การไม่กราบไหว้ ไม่เคารพนับถือ ไม่คบค้าสมาคมกับคนที่ไม่ดี
สักวันหนึ่ง คนไม่ดีเหล่านั้นจะถึงคราววิบัติ
จบแค่นี้ครับ
จากปาฐกถาท่านให้ข้อคิดต่าง ๆ ดังกล่าวหลายอย่าง ทำให้คิดถึงตนเอง เวลานักศึกษา หรือใคร ๆ ไม่ยกมือไหว้เรา อาจเป็นเพราะว่าเราไม่สมควรแก่การเคารพหรือเปล่า ผมเคยถกกันพอสมควรกับเพื่อนอาจารย์ด้วยกัน ในเรื่องการไหว้
ผมจะไม่ไหว้กับคนทุก ๆ คนแม้ว่าเขาเหล่านั้นจะอาวุโสกว่า
เพื่อนที่เป็นอาจารย์ของผม มักตำหนิอาจารย์รุ่นน้อง ๆ หรือลูกศิษย์แม้แต่เจ้าหน้าที่ที่ไม่ไหว้เขา ว่าเป็นคนไม่ดี ผมมักจะเถียงว่า อย่าตัดสินว่าคนดี หรือคนไม่ดีที่การไหว้ ถ้าเขาไหว้เราแล้วเป็นคนดี อย่างนี้ถือว่าผิดจากปาฐกถาของพลเอกเปรม หรือจากบทคำสอนของศาสนา
การตัดสินว่าคนดีหรือไม่ดีจากการไหว้ จึงเห็นได้ในสังคมไทยโดยทั่วไป ตั้งแต่การเลือกตั้ง
ผู้สมัครที่เป็นนักการเมืองทุก ๆ ระดับ จึงใช้การไหว้ เพื่อจะให้ได้คะแนน เพราะเขารณรงค์บอกว่า ให้เลือกคนดี คนดีคือคนที่ยกมือไหว้เรา ....ฮา
แม้แต่การหยั่งเสียงเลือก ผอ. สำนัก ในมหาวิทยาลัย ยังใช้วิธีการนี้ได้ผล คือ การไปไหว้หาเสียง ไหว้ให้สวยเพื่อยืนยันว่า ดีกว่า ....ฮาอีกครั้ง
สำหรับบุคคลใด ที่ไม่ค่อยมีใครไหว้ หรือไหว้บ้างก็ขอไหว้แบบขอไปที ไหว้แบบเกรงใจ ให้ฝึกสังเกตให้ดีนะครับ เพราะเขาอาจจะลงโทษท่านทางสังคมก็ได้ แล้วอย่าเฉไฉเป็นว่า คนไม่ไหว้เราเป็นคนไม่ดี จริง ๆ แล้วตนเองอาจเป็นคนที่ไม่ดี ไม่น่าเคารพ ควรแก่การกราบไหว้ก็ได้
ดังนั้น ผมจึงไม่ไหว้ผู้อาวุโสทุกคนนะครับ ถ้าผมรู้ว่าท่าน....
- โกงกินเงินจากทางราชการแม้แต่เล็ก ๆ น้อย ๆ
- ศีล 5 ข้อ ยังรักษาไม่ได้ โดยเฉพาะข้อ 3 และข้อ 5
- เบียดเบียนคนอื่น แก่งแย่งแข่งขัน เห็นแก่ตัวอย่างไม่ละอายใจ อาศัยว่าตัวเองอาวุโสกว่าคนอื่น
- เอาเปรียบคนอื่น ๆ งานใดที่ได้เงินเพิ่ม รีบจองขอทำ ทีเป็นงานที่ต้องเสียสละไม่มีสิ่งตอบแทน กลับให้น้อง ๆ เขาทำ
- ฯลฯ
ฝึกสังเกตกันนะครับ