วันอังคารที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

Cloud Computing

ความหมายของ Cloud แปลตามตรงหมายถึง ก้อนเมฆ คำว่า computing หมายถึง การคำนวณ ถ้าจะเอาคำทั้งสองมารวมกัน จะแปลว่า การประมวลผลก้อนเมฆ มันจะมีความหมายที่ไม่ถูกต้องนัก นักคอมพิวเตอร์ เขาพยายาม ให้คำจำกัดความ การเรียกการประมวลผลแบบกระจาย หรือกริดคอมพิวเตอร์ ให้เป็นนามธรรม (Abstract) มากขึ้น คือจะไม่มองอะไรเพียงด้านเดียวเหมือนในอดีต เช่นการมองในมุมมองของนักคอมพิวเตอร์ มักจะมองคอมพิวเตอร์เป็นเพียงฮาร์ดแวร์ และมีโปรแกรมระบบปฏิบัติการโปรแกรมภาษา และโปรแกรมประยุกต์เป็นซอฟต์แวร์ มีการเชื่อมโยงกันเป็นเน็ตเวิร์ค และมีผู้ที่เชี่ยวชาญคอยควบคุมการทำงานให้ได้ 24 ชั่วโมง คูณ 7 วัน นั้นเป็นมุมมองในรูปแบบเก่าๆ ซึ่งเขาว่าเป็นมุมมองที่แคบเกินไป เขาพยายามให้มองในด้านอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ได้แก่ มุมมองทางธุรกิจ การยืดหยุ่น การขยายตัวในอนาคต การให้การบริการ การลดต้นทุน เป็นต้น

เมื่อมองในแง่ของการบริการทางธุรกิจ เขาเปรียบ Cloud computing เป็นเสมือนกับการให้บริการสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ที่เราไม่จำเป็นต้องรู้ว่า โรงผลิตไฟฟ้ามาจากไหน ตั้งอยู่ที่ใด ขอเพียงให้บ้านของเรามีไฟฟ้าใช้ก็เพียงพอ สิ้นเดือนเราชำระเงินค่าบริการตามหน่วยที่เราใช้ไฟฟ้า เดือนไหนใช้มากเกินไป ในเดือนถัดไปเราลดค่าใช้จ่ายโดยการควบคุมลดการใช้ไฟฟ้าลงมา เป็นต้น Cloud computing ก็เช่นกัน เราไม่จำเป็นต้องรู้ว่า Hosting นั้นตั้งอยู่แห่งหนใด เมื่อเราบันทึกข้อมูลต่าง ๆ เราไม่ต้องรู้ว่าข้อมูลเก็บในไดร์ฟใด ไม่จำเป็นต้องรู้ว่ามีเครือข่ายวางอยู่ ณ ประเทศใดบ้าง ขอเพียงให้มี Application ต่าง ๆ ที่เราต้องการใช้เป็นพอ หรืออาจบริการฐานข้อมูล ให้บริษัทเก็บข้อมูลใน Cloud computing เมื่อถึงเวลากำหนดชำระค่าบริการ เราก็จ่ายตามปริมาณการใช้ทรัพยากรของเขา มันก็ดูยุติธรรมดี

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า Cloud computing เป็นการบริการประมวลผลคอมพิวเตอร์จากผู้ให้บริการ โดยบริษัทผู้ให้บริการจะจัดหาทรัพยากรที่เกี่ยวข้องมาบริการ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ประมวลผลขนาดใหญ่ อาจจะอยู่เป็นกลุ่มก้อนเหมือนก้อนเมฆที่กระจัดกระจายวางอยู่ทั่วโลก ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าโปรแกรมที่ทำงานมันทำที่เครื่องใด ๆ โดยบริษัทผู้ให้บริการสนับสนุนทั้งผู้ดูแลระบบหรือ System Administrator ซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้อง ระบบสำรองข้อมูลระบบรักษาความปลอดภัย และ Bandwidth ที่สามารถใช้การภายองค์กรได้

เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้งานที่เป็นปัจจุบัน (ที่ไม่ใช้บริการ Cloud computing) เช่น องค์กรหรือบริษัทที่ต้องการสร้างเว็บเพื่อขายสินค้าออนไลน์ ในขั้นต้นดำเนินการ เราต้องซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ Server จำนวนหนึ่ง จ้างผู้ดูแลระบบ จ้างโปรแกรมเมอร์สร้างเว็บไซต์ ค่าบริการเชื่อมโยงเครือข่าย เมื่อเปิดดำเนินการใหม่ ๆ ลูกค้ายังไม่มาก Web server ยังรองรับได้แต่เมื่อกิจการเจริญรุ่งเรือง Server ไม่สามารถรองรับได้ จำเป็นต้องซื้อเครื่องมาเพิ่ม เพิ่มคนดูแล ขยาย Bandwidth เป็นการลงทุนไปเรื่อย ๆ ไม่มีสิ้นสุด ในทางกลับกันถ้าลงทุนสร้างเว็บแล้ว ไม่มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการ ค่าใช้จ่ายที่ได้ซื้อเครื่องไปแล้ว ค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าสถานที่ ฯลฯ จิปาถะ อาจทำให้บริษัทขาดทุนได้ เหตุผลเหล่านี้ที่บริษัทผู้ให้บริการมักนำมาอ้างเชิญชวนให้ใช้บริการ และหลายๆ องค์กรต่างก็เห็นด้วย ดังนั้นถ้าองค์กรเหล่านั้นหันมาใช้บริการจาก Cloud computing ไม่ว่าจะมีลูกค้าน้อย ท่านจะจ่ายน้อย ลูกค้ามากก็จ่ายเพิ่มขึ้น เป็นการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ ประหยัดการลงทุน

ในฐานะที่เป็นผู้ที่อยู่วงการคอมพิวเตอร์ ขอนำเสนอผลกระทบกับนักคอมพิวเตอร์ในด้านต่าง ๆ และสาขาที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
  1. System Administrator ในกรณีถ้าท่านมุ่งหวังอยากเป็น System Administrator ขององค์กรธุรกิจ ถ้าองค์กรหรือบริษัทหันไปใช้บริการ Cloud computing กันมาก ท่านอาจจะหางานยากมากขึ้น เพราะมีการแข่งขันแย่งกันสมัครงานกันมากขึ้น แต่ในทางกลับกันถ้าท่านเป็นหนึ่งในยุทธจักร ท่านจะได้ทำงานกับบริษัทที่เป็น Cloud computing หรือถ้าหากบริษัทที่บริการ Cloud computing เกิดขึ้นมากท่านจะได้รับการจ้างงานด้วยค่าจ้างที่สูงมากควบคู่กับแรงกดดันมากเช่นกัน แรงกดดันจากความคาดหวังของลูกค้าที่จะไม่ให้เกิดการ Downtime เกิดขึ้นเลย หรือท่านอาจจะเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Cloud computing เสียเองถ้ามีเงินทุนเพียงพอ
  2. Programmer นักพัฒนาเว็บไซต์ หรือเขียนโปรแกรมจะต้องปรับตัวเช่นกัน เพราะ Cloud computing จะ Support ไม่ได้ทุกภาษา แต่จะกำหนดภาษาที่บริษัทรับบริการรองรับเท่านั้น เช่น www.gogrid.com รองรับภาษาเฉพาะ Java, PHP, Python, และ Ruby เท่านั้น หรือ Google.com สนับสนุน 2 ภาษา ได้แก่ Java และ Python เท่านั้น เป็นต้น ดังนั้น ถ้าท่านต้องการเป็นผู้ได้รับคัดเลือกท่านต้องเชี่ยวชาญภาษาเหล่านี้ แต่คาดว่าองค์กรธุรกิจยังคงจ้างงานโปรแกรมเมอร์ เช่นเดิม เพราะผู้ให้บริการจะไม่บริการพัฒนาโปรแกรมเฉพาะทางไว้ให้
  3. Network Administrator ผู้บริหารเครือข่ายอาจจะกระทบน้อยกว่าสาขาอื่น เพราะทุก ๆ องค์กรจำเป็นต้องเชื่อมโยง ยังต้อง Configuration Router, Core switch ต่าง ๆ เช่นเดิม
  4. Database Designer นักออกแบบฐานข้อมูลเป็นสาขาที่กระทบน้อยที่สุด คล้าย ๆ กับ Network Administrator เพราะองค์กรจำเป็นต้องออกแบบฐานข้อมูลของตนเอง หรืออาจจะซื้อโปรแกรมสำเร็จรูป ซึ่งในปัจจุบันก็เป็นในลักษณะนี้เหมือนๆ เดิม
  5. Help Desk ช่างเทคนิคที่ทำหน้าที่คอยแก้ปัญหาเมื่อเวลาเครื่องคอมพิวเตอร์มีปัญหา ก็ไม่ได้รับผลกระทบเช่นกันเพราะ Cloud computing ยังคงใช้เครื่อง Client ในการติดต่อกับ Cloud computing
เมื่อพิจารณาผลดีผลเสียแล้ว ขอให้ผู้อ่านตัดสินใจว่าจะปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยได้อย่างไร ยืนอยู่ได้ พร้อมการแข่งขันตลอดเวลา รวมทั้งนักไอทีที่ต้องปรับตัวเช่นเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น: