วันพุธที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

แนะนำ maps.google.com

ก่อนหน้านี้กูเกิล ได้ออก google earth ให้ผู้ใช้ได้ตะลึง งงงวยกับความอลังการของโปรแกรมประเภทแผนที่โลก ที่ถ่ายจากดาวเทียม ในระยะที่ใกล้มาก ทำเอากองทัพไทย วิพากษ์วิจารย์ว่ากูเกิลสามารถล้วงความลับได้ จริง ๆ แล้วในอดีตภาพถ่ายทางอากาศมีใช้ในวงการทหาร ที่ไม่ยอมนำมาเปิดเผยให้สาธารณชน มาใช้ให้เกิดประโยชน์ บัดนี้กูเกิลได้ออกเวอร์ชันใหม่ ที่นำโปรแกรมดังกล่าวมาทำงานบนเว็บ ที่ url http://maps.google.com/ ความสามารถของโปรแกรมนี้สามารถนำมาประยุกต์ในงานด้านธุรกิจหลาย ๆ ด้านแล้วแต่จินตนาการของแต่ละคน เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขายที่ดิน ขายโครงการบ้านจัดสรร หรือแนะนำที่ตั้งของร้านค้า ของโรงแรม ที่ประชุมงาน event ต่าง ๆ เป็นต้น

ความสามารถของ google maps ที่ผมได้ทดลองใช้ดูมีหลายด้าน ดังนี้
1. ถ้าเราทราบชื่อสถานที่เราสามารถพิมพ์ข้อความนั้นค้นหาได้เลย เช่น ตอนอาจารย์ ดร. อุษา สอนภาษาอังกฤษท่านบอกว่า ท่านจบจาก texas woman's university ในขณะที่อาจารย์ได้เล่าเรื่องมหาวิทยาลัยแห่งนี้อยู่ ผมอยากรู้ว่ามันอยู่ ณ ตำแหน่งใดของอเมริกา เลยใช้คำค้นว่า texas woman's university จึงได้เห็นถึงหลังคาตึกเรียนเลย
2. ครั้งหนึ่งเพื่อนกลุ่ม MTB ได้คุยกันเรื่องจีพีเอส ว่ามันสามารถบอกพิกัดเป็นเส้นละติจูด ลองติจูดที่แม่นยำระบบเมตรต่อเมตร จึงถามเพื่อนว่า พิกัดของ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาอยู่ที่ตำแหน่งใด ผมได้นำเอาตัวเลขพิกัดนั้นมาป้อนในคำค้นหา จึงได้เห็นหลังคาตึกหอประชุมเลยละครับ
3. พอไม่กี่วันมานี้กูเกิล ได้เพิ่มเส้นทางถนนและมีชื่อเป็นภาษาไทย จึงได้เข้ามาทดลองใช้ฟังก์ชัน หาเส้นทางจากจังหวัดนั้น ไปจังหวัดนี้ได้ โดยกูเกิลลากเส้นถนนที่แนะนำพร้อมบอกเลี้ยวซ้ายขวาไปตามหมายเลขถนนได้ พร้อมบอกระยะทางรวมและเวลาในการขับรถด้วย ถือว่าเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีรายการที่นำมาทำได้เช่น
  • การสร้างแผนที่ของตนเอง
  • มีรูปภาพ หมุด และสัญลักษณ์อื่นให้ใช้เพิ่มเติมในการทำแผนที่
  • แทรกรูปภาพประกอบการบรรยายหมุด หรือภาพได้
  • แทรกภาพเคลื่อนไหวได้

ด้วยประโยชน์นานับประการ ผมจึงเชิญชวนชาวไซเบอร์ หันมาใช้กูเกิลแมบให้เกิดประโยชน์กันเถอะ

และนี่คือตัวอย่างที่ผมได้ทดลองทำแนะนำเส้นทางจากราชภัฏสงขลาไปบ้านที่หัวไทรครับผม




ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น

วันอาทิตย์ที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

จริงหรือ ที่เขาว่านักศึกษาราชภัฏ ไม่สนใจที่จะศึกษาหาความรู้จากเว็บที่เป็นภาษาอังกฤษ

ตั้งหัวข้อประเด็นนี้ขึ้นมา ไม่ได้ตั้งใจเพื่อให้เป็นประเด็นให้ถกเถียงกัน แต่จากการได้รับรู้งานวิจัย จากคำบอกเล่าของอาจารย์ผู้สอนคอมพิวเตอร์ด้วยกัน จากประสบการณ์ตรงของผมเองทั้งจากการสอนให้ปฏิบัติ และการสังเกตและการรายงานผลของเครื่อง Server ของมหาวิทยาลัย

จากการสังเกต เมื่อผมให้นักศึกษาให้การบ้านการเขียนโปรแกรม หรือเนื้อหาต่าง ๆ ที่กำลังศึกษาอยู่ นักศึกษาบางคนสามารถค้นหาเนื้อหา หรือหาวิธีการแก้ปัญหาโดยการค้นคว้าด้วยตนเองได้ แทบนับจำนวนคนที่แก้ปัญหาได้ ส่วนนักศึกษาที่เป็นส่วนใหญ่มักจะหาข้อมูลไม่ได้ ต้องรอให้อาจารย์ทำให้ดู เมื่ออาจารย์ค้นหาเจอ แต่ถ้าเป็นเว็บที่เป็นภาษาอังกฤษ นักศึกษากลับปฎิเสธเว็บนั้นทันที ไม่พยายามแม้แต่จะอ่านหัวข้อหรือ source code แม้ว่าทั้งที่เราต้องเขียนโปรแกรมด้วยภาษาอังกฤษอยู่แล้ว นักศึกษาอยากได้เว็บที่เป็นภาษาไทย แต่อยากถามย้อนกลับไปว่า ถ้าเราปฏิเสธภาษาอังกฤษแล้ว เมื่อนักศึกษาจบออกไปแล้วจะหางานอะไรทำ ในเมื่อถ้าเราไปทำงานกับบริษัทที่ต้องการเทคโนโลยีใหม่ ๆ เราต้องรอให้คนไทยแปลเป็นภาษาไทยก่อนหรือ บริษัทเขาคงไม่รอเราด้วยหรอกนะ

เมื่อมีเวลาว่าง โอเคว่านักศึกษาชอบใช้เวลาว่างในการใช้อินเทอร์เน็ต เป็นสิ่งที่ดี ขอชื่นชม แต่เมื่อไปดูเนื้อหาที่นักศึกษาเข้าไปดูนั้น ส่วนใหญ่แล้วนักศึกษาจะเข้าเว็บที่เป็นบันเทิง เล่นเกมออนไลน์ ข่าวสังคม ดารา เว็บต่าง ๆ ยกเว้นเว็บที่ให้ความรู้ จริง ๆ แล้วถามว่าเว็บที่ให้ความรู้นั้นน้อยหรือไม่ เปล่าเลยมีการสอนทุกเรื่อง อยากรู้อะไร ได้รู้ทุกอย่าง เมื่อตอนที่ผมได้ใช้อินเทอร์เน็ตใหม่ ๆ ตลึงกับเนื้อหาความรู้อันมากมายในนั้น บอกกับตัวเองในใจว่า ถ้าความรู้อยู่ในอินเทอร์เน็ตมากมายขนาดนี้ เราจะเรียนให้จบปริญญาเอกให้ได้อย่างไม่ยากเหมือนเมื่อก่อนแล้ว

จากการดูกราฟการใช้ในอินเทอร์เน็ตของราชภัฏสงขลา เราจะใช้แบนวิดธ์ประมาณ 25-30 Mbps ซึ่งสูงมาก ๆ แล้วไปดูที่เครื่อง proxy server ซึ่งทำหน้าที่เก็บ URL ที่นักศึกษาและบุคลากรของเราเข้าไปยังเว็บนั้น ๆ ปรากฎว่า เว็บ sanook เป็นเว็บที่เข้าบ่อยที่สุด เมื่อไปดูเว็บที่คนเข้าน้อยที่สุดได้แก่เว็บที่เกี่ยวกับเว็บความรู้ อยากให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทราบว่าทุกครั้งที่ใช้คอมพิวเตอร์จะมีค่าใช้จ่ายที่เรามองไม่เห็นอยู่ ได้แก่ ค่าเช่าวงจรอินเทอร์เน็ต ค่าเช่าเครื่องคอมฯ ค่าไฟฟ้าเครื่องปรับอากาศ ค่าจ้างพนักงาน อื่น ๆ จิปาถะ อยากฝากให้เป็นข้อคิดหน่อยว่า ทำอย่างไรให้นักศึกษาใช้อินเทอร์เน็ตแล้ว เกิดประโยชน์สูงสุด มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะ ด้านคอมพิวเตอร์ เมื่อจบไปแล้วเป็นที่ต้องการของนายจ้าง มีเงินเดือนสูง ๆ จะไปศึกษาต่อก็สอบเข้าได้ อย่างคนมีภูมิความรู้ จะประกอบอาชีพส่วนตัวก็มีลูกค้าไว้ใจเรา รู้แล้วรีบทำเสียตั้งแต่วันนี้ ยังไม่สาย..... ผมขอเอาใจช่วย

วันอาทิตย์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐

วิธีแก้ปัญหา illigal post time

จากปัญหาที่นักเขียนบล็อกทั้งหลายของ blogger.com มีปัญหามาร่วม สองสัปดาห์ผมได้ทดลองแก้ปัญหา โดยเข้าไปดูการถามตอบ ใน http://groups.google.com/group/blogger/.... มีผู้แนะนำให้เปลี่ยนที่ภาษาไทย เป็นภาษาอังกฤษ

แต่ของผมได้ทดลองทำตามขั้นตอนตามด้านล่างนี้ ก็ใช้ได้

  1. เข้าไปบล็อกของเรา ให้คลิกที่ ตั้งค่า หรือ setting
  2. คลิกที่แถบเครื่องมือ การจัดรูปแบบ
  3. ที่รูปแบบเวลา ให้เลือก เช่น 11:16 น. (ไม่มีก่อนเที่ยงหรือหลังเที่ยง)
  4. ที่ภาษา ให้เลือก ไทย (ประเทศไทย ,TH)
  5. คลิกบันทึกการตั้งค่า

เพียงแค่นี้ ก็ใช้ได้แล้ว ทดลองทำดูครับ

วันอาทิตย์ที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐

Taweerat Software Development Model

ขึ้นหัวข้อเรื่องนี้ หลายคนอ่านแล้วไม่คุ้น ไม่เคยได้ยินมาก่อน ทฤษฎีใหม่หรือของเก่าที่ยังไม่ได้เรียนมาหรืออย่างไร โปรดอย่าพยายามค้นหาที่มาให้เสียเวลา

TSD Model เป็นชื่อโมเดลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อใช้ในการร่วมอภิปราย ถกประเด็นกับเพื่อน ๆ ในกลุ่มเพื่อใช้ในการสอบในสัปดาห์หน้า(11-11-50) ซึ่งทุกคนในกลุ่มต้องมีโมเดลของตนมาเสนอเพื่อคัดเลือกว่าโมเดลใดเหมาะสมกับสถานการณ์นั้น สำหรับแนวคิดโมเดลที่จะนำเสนอมีลำดับดังนี้

Define
กำหนดปัญหา กำหนดความต้องการของลูกค้า โดยขั้นตอนของกระบวนการนี้จำเป็นต้องเชิญลูกค้ามาเป็นส่วนร่วมในการดำเนินงาน โดยมีหัวหน้าทีมหรือ Project manager ที่ได้มาจากการคัดเลือกจากสมาชิกในทีม โดยคำนึงถึงผู้มีประสบการณ์ มีภาวะการเป็นผู้นำ มีความรู้ในการบริหารและที่สำคัญหัวหน้าทีมต้องเป็นที่ยอมรับของสมาชิก สามารถควบคุมงานให้ดำเนินการอย่างราบรื่นได้ ทั้งหมดที่ได้มาให้ได้มาจากการประชุม ในขั้นตอนนี้ให้ลูกค้าแสดงความคิดเห็นมากที่สุด ทีมงานคอยสอบถามความต้องการ บันทึก เขียนเป็นข้อ ๆ และวาดภาพผลลัพธ์ที่ได้ให้ลูกค้าเห็น เมื่อลูกค้าเห็นด้วย ให้กำหนดแผนดำเนินงาน กำหนดวันส่งมอบโดยประมาณการณ์

Analyse
เป็นการวิเคราะห์ หาวิธีแก้ปัญหาตามความต้องการของลูกค้า ในขั้นตอนนี้ต้องมีลูกค้าเข้ามาเป็นส่วนร่วม ร่วมกับทีมพัฒนามาระดมสมอง ผู้ใช้สามารถเพิ่มเติม หรือแก้ไขได้เรื่อย ๆ ในขั้นตอนนี้จะต้องคิดถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่น งานอาจช้าออกไป มีสิ่งแปรผันที่ไม่คาดคิดอาจเกิดขึ้น ในโมเดลอื่น ๆ จะมีการการวัดค่าออกมาทางสถิติได้มาก่อนการ analyse แต่โมเดลนี้จะมีการ measurement พร้อมกับ analyse แต่ไม่เน้นผลลัพธ์ที่ได้ว่าอยู่ในระดับใด แต่จะเน้นที่ความพอใจของลูกค้าสูงสุด

Improvement
กระบวนการทำระบบงานให้ดียิ่งขึ้นไป เน้นการทำซ้ำ (Iteration) ในแต่ละกระบวนการ และประเมินความพึงพอใจของ external customer ในขั้นตอนนี้ด้วย

Control
เป็นกระบวนการควบคุมกระบวนการให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง เน้นดูที่ timeline ที่ได้กำหนดไว้ในขั้นตอน define ว่าเป็นไปตามนั้นหรือไม่ แต่ถ้านำไปใช้กับระบบงานใหญ่จะต้องควบคุมการใช้งานจาก ทั้ง internal customer และ external customer ด้วย

ขั้นตอนของทีมการพัฒนาระบบ ต้องมีการดำเนินงานตามขั้นตอนดังนี้

1. นำเอาการวิเคราะห์และกระบวนการทั้งหมดในขั้นต้นมาแบ่งงานออกเป็น Module
2. แบ่งโมดูลให้ทีมงานพัฒนาในรูปแบบของ Agile ใช้เทคนิคของ piar programmming หรือทำงานเป็นคู่ คนหนึ่งลงมือเขียนคำสั่ง อีกคน
3. เมื่อสำเร็จแต่ละโมดูลนำมาทดสอบใหญ่ และส่งมอบ ทำแบบประเมิน external customer

สรุป
Taweerat Software Development Model นำเอาโมเดลของ Six sigma มาบูรณาการกับ Agile มาใช้นั่นเอง (รอการปรับปรุงรายละเอียดเนื้อหา อย่าเพิ่งเชื่อนำไปใช้หรืออ้างอิง)

วันอาทิตย์ที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐

Web 2.1 Framework ตามแนวคิดของผม

ในปัจจุบันมีการพูดถึง Web 2.0 ซึ่งบอกว่าเป็นเทคโนโลยีตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งมิได้มีเทคโนโลยีที่เป็นรูปร่างที่สามารถเห็นได้ เช่น เว็บในอดีตมักจะมี e-mail, web board, chat MSN ICQ อ่านข่าวและค้นหาความรู้ เป็นต้น แต่ปัจจุบันเราสามารถทำอะไรได้หลายอย่างมากขึ้นบนเว็บ เช่น ดูทีวี ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือเรียน สั่งซื้อสินค้า ฯลฯ แทบจะพูดได้ว่าเป็นการดำรงชีวิตบนโลกเสมือนบนหน้าจอทีเดียว ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้ให้กรอบความคิดด้านเว็บชนิดนี้ว่า Web 2.0 ในบทความนี้จะสร้างแนวคิดกรอบความคิดของ Web 2.1 ไว้ล่วงหน้าถ้าหากว่าใครสนใจจะพัฒนาเว็บแนวนี้
กรอบความคิด Web 2.1 ประกอบด้วยเนื้อหาสาระสำหรับให้เป็น True life มีดังนี้


1. ตื่นเช้าขึ้นมาทำกิจวัตรประจำวันส่วนตัว ล้างหน้า แปรงฟัน ถ่ายเบาถ่ายหนัก อาบน้ำ แต่งตัว กิจวัตรเหล่านี้จะให้ทำงานบนเว็บ ใคร ๆ ก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นข้อนี้ให้ทำ manual

2. ขณะรับประทานอาหารมีหลายคนชอบดูทีวีดูข่าวสารบ้านเมือง ฟังความเห็นเหล่านักวิจารณ์ข่าว นักเล่าข่าว โดยทั่วไปจะต้องเปิดทีวี แต่เว็บ 2.1 จะต้องพัฒนาเว็บ application เพื่อให้ดูทีวีได้ทุกช่องข่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสามารถใช้รีโมทควบคุมการเลื่อนช่องข่าวได้ มีบางคนบอกว่าให้ซื้อการ์ดทีวีมาใส่ก็ใช้ได้แล้วไม่ต้องพัฒนาให้ยุ่งยาก แต่ไม่เข้าประเด็น Web based และไม่สามารถดูของต่างประเทศได้

3. การไปทำงานในอดีต จะต้องเดินทางไปยังสำนักงาน แต่เว็บ 2.1 จะต้องทำงานที่บ้านแบบออนไลน์ แต่การทำงานออนไลน์จากที่บ้านจะต้องทำงานได้เสมือนกับที่สำนักงานจริง แต่มีข้อจำกัดในตำแหน่งที่เป็นงานบริการ งานใช้แรงงาน แต่ระบบนี้จะเน้นที่กลุ่มผู้ใช้ที่เป็น Knowledge worker เป็นหลัก จะขอยกตัวอย่างระบบที่ต้องทำ เช่น ใช้การ chat ทั้งพูดและ พิมพ์ได้ โดยมีกล้องเว็บแคม มองเห็นสำนักงานและผู้ที่ทำงานที่บ้าน ในกรณีที่เป็นผู้บริหารจะต้องมีกล้องหลายกล้องเพื่อดูแลพนักงานได้ครบทุกหน่วยงาน ผู้บริหารต้องการสั่งงาน ใช้การ chat โดยตรงไปยังพนักงาน ต้องการติดตามงาน โดยดูจากกล้อง ถ้าต้องการเอกสาร ให้พนักงานส่งเอกสารผ่านทางเมล์ โดยถ่ายเอกสารแนบ ถ้าต้องการให้ลงลายเซ็น ให้ใช้ลายเซ็นดิจิตัล พร้อมกับส่งไฟล์กลับไปให้เจ้าหน้าที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ ถ้ามีการประชุมให้ใช้การวีดิโอคอนเฟอเร็นต์ ถ้าต้องกาติดต่อกับลูกค้า ผู้ร่วมทุนหรือลูกค้าให้เขาเหล่านั้นสมัครเป็นสมาชิกในเว็บขององค์กร เขาเหล่านั้นสามารถกระทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามสิทธิ์ของแต่ละคน

4. เมื่อมีโอกาสพักผ่อน web 2.1 จะสนับสนุนการดำเนินชีวิตตาม Life style เต็มที่ เช่น การดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ เล่นเกม ซึ่งแน่นอนว่าปัจจุบันเว็บโดยทั่วไปมีฟังก์ชันเหล่านี้ครบถ้วนอยู่แล้ว เพียงแต่ผู้พัฒนาจะต้องทำเว็บเหล่านั้นให้มาอยู่ในเว็บหน้าเดียวกับ Web 2.1 แต่ถ้าเว็บที่มีอยู่มี feature ต่าง ๆ ไม่ครบถ้วนจะพัฒนาขึ้นมาเองก็ได้ ในกรณีที่ไปพักผ่อนที่สวนสาธารณะ หรือทะเล หรือ สถานที่โปรด ให้พัฒนาระบบ Virtual reality ให้เสมือนจริงที่สุด อาจใช้ภาพจริงในรูปแบบ 3 มิติ


a. การฟังเพลงควรให้สั่งซื้อเพลงโดยการดาวน์โหลดเพลงได้ จ่ายด้วยเงินอิเลคทรอนิคส์ การทำ album เพลงในเครื่อง Server ของเราทั้งประเภท mp3 และรูปแบบเก่าให้ได้เหมือนจริงกับเครื่องเสียงยุคใหม่ ต่อลำโพงไปยังเครื่องขยายเสียง
b. การดูหนัง เราสามารถสั่งซื้อแบบได้ Soft copy ได้หรือแม้แต่การ Pay per view ได้ การชำระเงินและการจัดทำ album ทำได้เช่นเดียวกับการฟังเพลง
c. การอ่านข่าว มีทั้งอ่านข่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผู้พัฒนาจะต้องนำ RSS จากแหล่งข่าวที่มีชื่อเสียงมาอยู่ในเว็บ 2.1 ของเรา
d. การท่องเที่ยว ทำ 3D Virtual reality ในหน้าเว็บ ควรออกแบบให้มีการค้นหาแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่จากแหล่งต่าง ๆ ทั่วโลกได้
e. สิ่งสนใจเฉพาะบุคคล เช่น งานอดิเรก เว็บ 2.1 จะต้องมีให้ผู้ใช้ค้นหาเว็บที่เกี่ยวนำมาติดตั้งไว้ในหน้าเว็บของตนเองได้


5. การศึกษาหาความรู้ ต้องทำหน้าลิงค์ให้ไปยังแหล่งจัดการเรียนรู้ในเรื่องที่บุคคลคนนั้นสนใจ โดยจัดหมวดหมู่ความรู้ สามารถบันทึกแหล่งเรียนรู้ไว้เพื่อจัดหมวดหมู่เพื่อศึกษาเพิ่มเติม หรือถ้าเป็นลักษณะ e-book เทคโนโลยี Web 2.1 สามารถรู้ได้ว่าหน้าที่อ่านไว้ล่าสุดอยู่ที่หน้าใด เพื่อให้ผู้อ่านได้อ่านต่อเนื่องไปได้

6. การจดบันทึก ไดอารี่ หรือที่เรียกว่า Blog ซึ่งปัจจุบันมีอยู่แล้วแต่สมควรให้มีอยู่ใน Web 2.1 เพียงหน้าเดียว

ภาพแสดง Web 2.1 Framework

วันศุกร์ที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐

Six Sigma กับวงการไอที

เมื่อกล่าวถึง Six Sigma ในวงการไอทีหลายคนไม่รู้จักว่ามันคืออะไร มีชื่อไปทางหลักสถิติมันเกี่ยวอะไรกับไอที หรือการพัฒนาสารสนเทศมันเกี่ยข้องกันได้อย่างไร



เดิม six sigma เป็นกระบวนการพัฒนาคุณภาพในการผลิตสินค้าของบริษัทผลิตชิปไอซียี่ห้อโมโตโรล่า คิดกระบวนการผลิตสินค้าอย่างไรให้มีคุณภาพสูงที่สุด สินค้ามีโอกาสเสียหายเพียง 3.4 ชิ้นในหนึ่งล้านชิ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นที่มาของหลักสถิติทีว่า 6 ซิกม่า นั่นเอง ปัจจุบัน six sigma ได้นำมาใช้ในทุกแขนงอุตสาหกรรม และหลายหน่วยงานภาครัฐ เพื่อนำเอาวิธีนี้สร้างคุณภาพลดการสูญเสีย อันเป็นการลดต้นทุน ยกตัวอย่าง เช่น ฝ่ายซ่อมบำรุงการบินไทย ได้ประมาณการลดต้นทุนได้ในปี 2000 ถึง 15.2 ล้านยูเอสดอลลาร์ อยากทราบหลักการของ six sigma เป็นอย่างไรทำไมจึงดีมากมายเช่นนี้ ให้ลองค้นหาคำนี้จาก google ดูได้ แต่ผมพอสรุปแบบคร่าว ๆ ได้ดังต่อไปนี้




  1. Six sigma นำมาใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานในเชิงธุรกิจ โดยมีจัดมุ่งหมายเพื่อลดความผันแปร (variation) ของกระบวนการ เพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และเพิ่มกำไรขององค์กร

  2. วิธีการหรือยุทธศาสตร์ของ six sigma ใช้คือ DMAIC ซึ่งย่อมาจาก Define, Measurement, Analyse, Improvement, และ Control


  • Define หมายถึง การกำหนดปัญหา ปัญหาที่ต้องการจะแก้ด้วยวิธีการต่าง ๆ มีการสร้างทีมงานทำงานเป็นทีม มีการจัดตั้งโครงการ มีแผนดำเนินงาน มีข้อกำหนดความต้องการของลูกค้า มีการกำหนดผลลัพธ์ที่ได้ และสุดท้ายจะต้องทำเอกสารประกอบเป็นข้อความและภาพไดอะแกรมการทำงานประเภทต่าง ๆ

  • Measurement หมายถึง ขั้นตอนการวัดมีไว้เพื่อยืนยันและหาจำนวนปัญหา ซึ่งมีกระบวนการหรือขั้นตอนทั้งหมด 5 ขั้นตอน ได้แก่ กำหนดว่าจะวัดอะไรบ้าง แล้วจึงลงมือวัดจริง และคำนวณว่าอยู่ที่ซิกม่าที่เท่าไร ให้กำหนดว่าจะทำให้กระบวนการเพิ่มความสามารถได้อย่างไรบ้าง สุดท้ายได้แก่ การเปรียบเทียบกับมาตรฐาน

  • Analyze เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากการจัดเก็บในขั้นตอนที่สอง เพื่อหาปัญหาหลัก และวิเคราะห์หาวิธีการแก้ปัญหา ในขั้นตอนการวิเคราะห์มีประเด็นย่อยที่ต้องดำเนินการได้แก่ กำหนดว่าอะไรเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน การแก้ปัญหาควรใช้วิธีระดมสมอง ให้กำหนดว่าสิ่งใดจะทำให้ลูกค้าเห็นว่า สินค้าที่ผลิตออกมาตรงกับความต้องการ สร้างแผนผังกระบวนการทำงาน และประเมินความเสี่ยงที่มากับการปรับปรุงใหม่

  • Improvement หมายถึง การพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นมีขั้นตอนการทำทั้งหมด 3 อย่าง ได้แก่ การจัดทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลง การวางแผนในการนำไปปฏิบัติ การยืนยันให้สัตยาบันในการเปลี่ยนแปลง

  • Control เป็นขั้นตอนการควบคุมที่มีขั้นตอนย่อย 5 ขั้นตอน ได้แก่ จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานและการตรวจสอบ มีพัฒนากลยุทธการควบคุม ให้ชมเชยหรือรางวัลและประกาศยกย่องผลสำเร็จแก่ทีมงาน นำแผนการควบคุมไปปฏิบัติ




ภาพที่ 1 แสดงขั้นตอนของ Six sigma Methodology


เมื่อเห็นขั้นตอนการทำงานแล้วมันเกี่ยวกับไอทีได้อย่างไร ก็ให้นึกถึง SDLC หรือ Waterfall จะเห็นว่าเป็นขั้นตอนเช่นเดียวกัน แต่ของ six sigma จะเน้นความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ ให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการปรับปรุงคุณภาพได้แก่การสำรวจที่เรียกว่า CTQ หรือ Critical to Quality และมีทีมงานที่ได้รบการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีมีวุฒิบัติอย่างถูกต้อง เขาเรียกวุฒิบัติแต่ละกลุ่มเป็นเข็มขัดสีต่าง ๆ เหมือนนักยูโด โดยผู้ที่มีคุณวุฒิสูงสุดได้ Project champion รองลงมาได้แก่ master black belt ถัดจากนั้นเป็น black belt สุดท้ายได้แก่ green belt เป็นต้น เขาว่ากันว่าถ้าใครทำไปตามขั้นตอนได้ถูกต้องตรงกับหลักการ จะทำให้สินค้าหรือบริการมีคุณภาพสูงที่สุดเหนือยุทธศาสตร์คุณภาพแบบอื่น ๆ เชื่อเขาหรือไม่ให้ลองศึกษาและทดลองนำมาใช้กับองค์กรดูได้เลย

วันพฤหัสบดีที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐

ทีนี่ถึงคราวของ Agile

อาจารย์ได้เกริ่นนำว่าสัปดาห์หน้าจะนำเสนอเรื่อง Agile ผมทดลองค้นหา keyword คำว่า Agile ดูปรากฏว่ามีคนพูดถึงเรื่องนี้กันมากพอสมควร เพื่อเป็นการไม่ให้เสียเวลาเปล่าเมื่อค้นหาเจอจึงขอเขียนใน blog เพื่อจะได้ไม่ลืมและเพื่อได้ถ่ายทอดไปยังลูกศิษย์และเพื่อน ๆ ตลอดจนผู้อ่านด้วย

Agile เป็น Software Development Modelling อีกโมเดลหนึ่งในหลาย ๆ โมเดลที่มีเป้าหมายในด้านความ "รวดเร็ว ยืดหยุ่น พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง" พยายามลดความเสี่ยงของการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยการทำ Time box สั้น ๆ เรียกว่า iteration ซึ่งได้กล่าวไว้แล้วในเรื่อง extreme programming การพัฒนาโดยใช้โมเดลนี้จะต้องทำไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องหยุดแม้มีอะไรมากระทบ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ทีมพัฒนาจะต้องมีพูดคุยสื่อสารกันมากกว่าการใช้เครื่องมือ การทำงานจะยึดที่ผลที่ได้หมายถึงซอฟต์แวร์เป็นหลัก ให้ความสำคัญกับความพึงพอใจของลูกค้า ส่งมอบซอฟต์แวร์อย่างต่อเนื่อง และยอมรับข้อกำหนดที่เปลี่ยนแปลง ผู้ใช้หรือลูกค้าและทีมพัฒนาต้องทำงานร่วมกัน โปรแกรมเมอร์ไปทำงานที่ site ของลูกค้าและต้องเจอทุกวันจนงานจะแล้วเสร็จ ให้ใช้พูดกันต่อหน้า ไม่ต้องใช้โทรศัพท์หรืออีเมล์ การทำงานต้องปล่อยให้ทีมพัฒนาตัดสินใจเองได้

Agile Methodologies

  • Agile UP
  • XP (eXtreme Programming)
  • FDD (Feature Driven Development)
  • Scrum

เทคนิคการพัฒนาแบบ Agile

  • Agile model driven development(AMDD)
  • Code Refactor เป็นการแก้ไขคำสั่งซอฟต์แวร์เดี่ยวนั้นและ design เปลี่ยนเอง
  • Pair Programming (อ่านในตอนที่แล้ว)
  • Test Driven Development(TDD)เป็นเทคนิคการเขียน test case ก่อนที่จะเขียนชุดคำสั่ง

เมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่าเป็นสิ่งสวยหรู ผู้พัฒนามีความสุข งานประสบผลสำเร็จแน่นอน รวดเร็ว ลูกค้าพึงพอใจ แต่มีนักวิชาการได้เขียนบทความวิจัยมาเปรียบเทียบกับโมเดลอย่างอื่น น่าสนใจไม่น้อย โอกาสหน้าจะนำมาเขียนให้อ่าน โปรดติดตามตอนต่อไป ขอบคุณที่อ่าน เข้ามาอ่านแล้วโปรดลงแสดงความคิดเห็น ไว้เป็นร่องรอยหน่อยนะครับ

วันอังคารที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

การบริจาคโลหิตกับระบบสารสนเทศไปด้วยกันได้อย่างไร

ตั้งคำถามเพื่อให้เป็นประเด็นซะอย่างนั้นแหละ

คำถามที่ไม่ตรงประเด็นกับหัวข้อบ้าง

ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นสามกรณี ต่อไปนี้ท่านคิดว่า ท่านจะเลือกทำแบบใด ในการบริจาคโลหิต

  1. มี forward mail มาขอบริจาคโลหิตจากใครไม่รู้ ให้ไปบริจาคได้ที่ ร.พ. ????? วันนั้น วันนี้
  2. มีญาติผู้ป่วยมาขอร้องด้วยตนเอง เพื่อขอบริจาคโลหิตจากเรา
  3. ไปบริจาคโลหิตที่ ร.พ. เองโดยไม่ต้องรู้ว่ามีผู้ป่วยหรือไม่

จากตัวเลือกข้างบน มีประเด็นให้ถกกันมากมาย
แล้วแต่วิจารณาญาณของแต่ละคน ยกตัวอย่างเช่น บางคนคิดว่า ถ้าเป็นข้อแรก ถ้าผู้ได้รับเมล์ไปบริจาคพร้อม ๆ กันมันคงเหลือใช้ คนส่งเมล์อาจไม่ได้รับ ผู้รับอาจเป็นใครไม่รู้ ถ้าเป็นกรณีที่สอง แบบนี้ OK ได้ตรงความต้องการ
แต่ถ้าหากว่าเลือดผู้ป่วยกับเลือดผู้บริจาคกรุ๊ปเลือดไม่ตรงกัน เขาจะได้รับหรือเปล่า บาง ร.พ. ใช้วิธีการแลกเปลี่ยน แต่ในกรณีที่สามผู้ไปบริจาคโลหิตไปด้วยจิตใจที่ศรัทธาอยากบริจาคโดยไม่สนใจว่าใครจะได้รับ บางครั้งเลือดถ้าไม่ได้ใช้ใน 1 เดือนโลหิตนั้นจะใช้ไม่ได้ ต้องนำไปทิ้งทำลาย (แต่ปัจจุบันโลหิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ เหตุการณ์ที่นำไปทำลายจึงไม่มี) ส่วนใหญ่ ร.พ.จะเก็บข้อมูลที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ผู้บริจาคโลหิต เพื่อจะได้เรียกตัวได้ง่าย ผมถูกเรียกตัวอยู่บ่อย ๆ

ด้วยเหตุแห่งคำถามที่มีอยู่ว่า ถ้าผู้ที่ต้องการบริจาคโลหิตได้ถูกโทรศัพท์เรียกตัวเพื่อต้องการเลือดให้แก่ผู้ป่วย จะมีความรู้สึกว่าตัวเรามีคุณค่า ได้ทำบุญ ได้เป็นผู้ให้ จึงกระตือรือร้นที่จะไปบริจาค มากกว่าการเดินเข้าไปบริจาคด้วยตัวเอง จึงได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้บริจาคโลหิตขึ้นมาเป็นสื่อกลางระหว่างเจ้าหน้าที่คลังเลือดของ ร.พ. กับผู้ต้องการบริจาคโลหิต การทำงานของระบบนี้ เมื่อผู้ต้องการบริจาคโลหิต สมัครสมาชิก กรอกรายละเอียดหมู่เลือด ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลเหล่านั้นจะเก็บอยู่ในฐานข้อมูล ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ห้องคลังเลือดของแต่ละโรงพยาบาลก็สมัครเข้าใช้ระบบนี้เช่นกัน (ในส่วนของเจ้าหน้าที่) เจ้าหน้าที่จะสามารถค้นหาผู้ต้องการบริจาคโลหิต ที่มีคุณสมบัติตามความต้องการได้ เช่น อำเภอที่อยู่ใกล้เคียงกับ ร.พ. และหมู่เลือดที่ต้องการ

ระบบนี้ได้ออกแบบไว้ให้ใช้ได้กับ รพ.ทั่วประเทศ เพราะทำงานบนเว็บ แต่ในขณะนี้ยังไม่มีเจ้าหน้าที่คลังเลือดโรงพยาบาลใด ๆ เข้าไปสมัครสมาชิก อยากฝากประชาสัมพันธ์ ให้มีการใช้กันให้กว้างขวางเพื่อจะได้มีกำลังใจที่จะพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป เว็บดังกล่าว อยู่ที่ลิงค์ด้านล่างนี้นะครับ เชิญชวนให้ทดลองใช้กันนะครับ

http://202.29.16.20/blood/

XP คืออะไร อะไรคือ XP


ตั้งคำถามขึ้นมาแบบนี้หลายคนตอบได้ ง่ายมาก มันคือ Windows XP ใช่เปล่า?

คำตอบ คือไม่ใช่ครับ XP เมื่อพูดถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์ จะนึกถึงความสำเร็จ นึกถึงความเร็วในการพัฒนา และคุณภาพของซอฟต์แวร์ เพราะฉะนั้น XP ในตรงนี้ก็เป็นกระบวนการ วิธีการการพัฒนาซอฟต์แวร์อีกแบบหนึ่งที่จะนำเสนอ ดังนั้น XP จึงย่อมาจาก extreme programming

XP เป็นกระบวนการที่มีลำดับขั้นตอนเช่นเดียวกัน ดังนี้

1. Collecting user stories เป็นการเก็บรวบรวมเรื่องราวความต้องการของลูกค้า จริง ๆ แล้วการทำแบบอื่นๆ ก็เน้นแบบนี้เช่นกัน แต่กระบวนการรวดเร็วกว่า ใช้กระดาษโน้ตแผ่นเล็ก ๆ ให้ผู้ใช้ระบบเขียนความต้องการ โดยไม่มีการพูดคุยด้านเทคโนโลยี หรือฐานข้อมูล หรืออัลกอริทึ่ม เป็นการพูดคุยกันระหว่างโปรแกรมเมอร์กับผู้ใช้โดยตรง โดยไม่ผ่านนักวิเคราะห์ระบบ เมื่อโปรแกรมเมอร์ ทราบความต้องการแล้วรวบรวมจำนวน stories นำมากำหนดวันแล้วเสร็จในงานนั้น ๆ เพื่อกำหนดวันส่งมอบต่อไป
2. Create Spike Solution เป็นการนำเอา user stories มาหากระบวนการแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางการเขียนโปรแกรม โดยเน้นการเขียนโปรแกรมแบบง่าย ๆ ไม่ต้องซับซ้อน ถ้าแก้ปัญหาคนเดียวไม่ได้ แนะนำให้ใช้วิธีการ Pair Programming เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้น
3. Release Planning เป็นการวางแผนการดำเนินงานทั้งหมดจนแล้วเสร็จ กระทั่งส่งมอบงานให้ผู้ใช้ วิธีการคือให้นำ user stories ทั้งหมดนำมาให้ทีมโปรแกรมเมอร์พิจารณางานแล้วเสร็จ โดยพิจารณาตาม story แต่ละ story แล้วบวก ลบ 20 % จะได้วันแล้วเสร็จ
4. Iteration Planning ขั้นตอนนี้เป็นการทำซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะ XP ใช้วิธีการส่งมอบงานไปเรื่อย ๆ เมื่องานก้าวหน้าแต่ละ story แล้วทดสอบระบบเมื่อผ่านเรียบร้อย จึงส่งมอบงานและนำ story ใหม่มาทำอีก แต่งานเดิมทดสอบไม่ผ่านต้องทำซ้ำ ให้ดูภาพประกอบ



ที่มา : www.extremeprogramming.org


5. Development หมายถึงขั้นตอนการพัฒนาระบบเป็นการเขียนชุดคำสั่ง แต่ XP Model จะมีกระบวนการย่อยเพิ่มขึ้น เช่น มีการ Stand up meeting เป็นการพูดคุยกันก่อนการทำงานในแต่ละวันเพื่อหาปัญหาและวิธีแก้ปัญหา และนอกจากนี้ยังนำเอาวิธีการที่เรียกว่า Pair Programming มาใช้ในการพัฒนาด้วย
6. Acceptance Tests เป็นกระบวนการทดสอบจากผู้ใช้ ที่ผู้ใช้ได้กำหนดความต้องการเอาไว้ ว่าถูกต้องตรงกันหรือไม่ มีคุณภาพหรือไม่ กระบวนการตรวจสอบคุณภาพก็อยู่ในกระบวนการนี้ด้วย โดยจะต้องมีทีมตรวจสอบคุณภาพมาจากภายนอกด้วย แต่ต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับทีมพัฒนาโปรเจ็คนี้ด้วย
7. Small Releases การส่งมอบงานไปทีละขั้น ทีละฟังก์ชันเป็นเรื่องภาพลักษณ์ทางธุรกิจที่ดี ทำให้ผู้ใช้มองเห็นความก้าวหน้าของโปรเจ็ค เห็นความน่าเชื่อถือทีมพัฒนา และเมื่อเจอปัญหาอีกจะได้เร่งแก้ไขแต่เนิ่น ๆ

วันอาทิตย์ที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

การพัฒนาซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ด้วยวิธี Pair programming

ด้วยกระบวนการพัฒนาระบบสารสนเทศ ตั้งแต่อดีตที่ศึกษากันมาและใช้กันโดยทั่วไปจะใช้กระบวนการที่เรียกว่า Waterfall หรือ JAD (Joint Application Development) หรือ RAD (Rapid Application Development) แต่หลาย ๆ คนนำมาใช้แล้วยังมีปัญหา ปัญหาที่เกิดใช่ว่าจะทำงานออกมาไม่ได้ แต่ปัญหาในตรงนี้ได้แก่ งานออกมาไม่มีคุณภาพ งานเสร็จไม่ทันกำหนดการ งานไม่ตรงกับ user requirement บ้าง โปรแกรมเมอร์ลาออกในขณะที่งานไม่เสร็จบ้าง ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้มีนักวิชาการด้านคอมพิวเตอร์ คิดหาหลักการและวิธีมาแก้ปัญหาหลากหลายวิธี แต่มีวิธีของ Dr. Williams แห่งมหาวิทยาลัย North Carolina State อเมริกาได้เสนอการพัฒนาโดยใช้เทคนิคง่าย ๆ โดยให้โปแกรมเมอร์ 2 คนพัฒนาโปรแกรมเดียวกัน หมายถึงรับผิดชอบร่วมกันทุก ๆ ฟังก์ชัน หรือทุก ๆ class โดยให้คนใดคนหนึ่งเขียนโปรแกรม อีกคนหนึ่งให้คำแนะนำและทดสอบผลการทำงาน ในขณะเดียวกันเมื่อครบกำหนดเวลา ก็ให้สลับกันทำหน้าที่จากคนให้คำแนะนำไปเขียนคำสั่ง คนเขียนคำสั่งมาเป็นผู้ทดสอบ อาจสลับกันทุก ๆ หนึ่งชั่วโมง อย่างน้อยในวันหนึ่ง ๆ จะต้องเปลี่ยนกันหนึ่งครั้ง
วิธีการแบบนี้ Dr. Williams ให้ข้อคิดเห็นว่า เป็นการทำงานคล้ายการขับรถแข่ง มีคนขับและมี Navigator คอยควบคุม แต่ด้านคอมพิวเตอร์ให้สลับกัน ทำให้มีข้อดีหลายอย่าง เช่น

1. สร้างวินัยในการทำงาน มีคนคอยบอกกล่าวในสิ่งที่ถูกต้อง ตรงกับคำพูดที่ทันสมัยว่า "ไปถูกทางแล้ว" นั่นเอง
2. การเขียนคำสั่งออกมาดี ถูกต้องมากกว่า ออกแบบชุดคำสั่งได้ดีกว่า
3. ทำงานกันอย่างมีชีวิตชีวามากกว่า หรือเรียกว่ากระฉับกระเฉงมากกว่า
4. ถ้ามีใครคนหนึ่งคนใด ออกไป คำสั่งที่มีลักษณะเฉพาะตัวของคนนั้นยังมีคนสืบต่อไปได้ ถ่ายทอดไปยังคนใหม่ได้
5. การล่าช้าน้อยกว่า นำเอาโปรแกรมเมอร์ 2 คนทำงานแยกกัน

จะเห็นว่าการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้วยวิธีนี้ น่าสนใจไม่น้อย สำหรับองค์กรที่มีบุคลากรมาก มีปัญหาการลาออกบ่อย คงแก้ปัญหาได้ดี

วันอาทิตย์ที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

เปรียบเทียบ Six sigma และ SDLC

บทนำ
การพัฒนาระบบสารสนเทศนั้น มีปัจจัยหลายอย่างที่มีส่วนจะทำให้ระบบงานสารสนเทศประสบผลสำเร็จได้ ในอดีตการนิยามความสำเร็จอาจเป็นเพียงระบบสามารถใช้งานได้ ไม่มีข้อผิดพลาดถือว่าเพียงพอแล้ว แต่ปัจจุบันการคำนึงถึงคุณภาพของระบบ รวมไปถึงความพึงพอใจ หรือตรงกับความต้องการของผู้ใช้ หรือดีกว่าที่ผู้ใช้คาดหมายเอาไว้ จึงจะจัดได้ว่าประสบผลสำเร็จ มีคุณภาพ วิธีการหรือขั้นตอนในอดีตกับขั้นตอนวิธีการพัฒนาจึงแตกต่างกันหรือเหมือนกันดังนี้

การพัฒนาระบบสารสนเทศโดยใช้กระบวนการของ Six sigma
กระบวนการพัฒนาระบบสารสนเทศโดยใช้กระบวนการ six sigma ซึ่งนำเอาเครื่องมือที่ชื่อว่า DMAIC มาใช้ในกระบวนการ ประกอบด้วย D หมายถึง Define M หมายถึง Measure A หมายถึง Analyze I หมายถึง Improvement C หมายถึง Control ในแต่ละกระบวนการทั้ง 5 ขั้นตอนนั้น ประกอบด้วยขั้นตอนย่อยอีก ดังนี้
1. ขั้นตอนกำหนดนิยาม (Define phase) ประกอบด้วยขั้นตอนย่อย ๆ ที่ต้องคำนึงถึง มีทั้งหมด 8 ประเด็น ได้แก่
1.1 การกำหนดปัญหา ปัญหาที่ต้องการจะแก้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ในกระบวนการนี้ แนะนำให้ใช้เทคนิคที่ชื่อว่า SMART ในการกำหนดปัญหา ซึ่งคำว่า SMART ย่อมาจาก S Specific เป็นการกำหนดคุณลักษณะของเป้าหมายที่สามารถวัดได้เป็นหน่วยปริมาณ Measurable หมายถึงผลลัพธ์ที่ได้จะต้องวัดค่าได้ เช่นเดียวกับข้อแรก Attainable คือ มีเป้าหมายที่สามารถกระทำให้สำเร็จได้ Relevant หมายถึง พัฒนากระบวนการให้ลูกค้ามีความพึงพอใจ ตรงกับที่กำหนดเอาไว้ Timebound หมายถึง การคาดหวังว่าจะต้องพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นในระยะเวลาต่อไป
1.2 ขั้นตอนสร้างทีมงาน การที่จะทำงานได้สำเร็จนั้น เกิดจากการสร้างทีมงานที่ดี ต้องมั่นใจว่าทีมงานมีแรงดลบันดาลใจที่จะทำงานนี้ให้สำเร็จตามกำหนดระยะเวลา ทีมงานที่สร้างขึ้นมาควรประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการนี้โดยเฉพาะ เช่น ในองค์กรที่มีหน้าที่ครบทุกด้านจะประกอบด้วย ฝ่ายประสานงาน ฝ่ายบริการลูกค้า ฝ่ายสินเชื่อ ฝ่ายบุคคลหรือทรัพยากรมนุษย์ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ฝ่ายตรวจสอบภายใน ฝ่ายกฎหมาย เป็นต้น และมีผู้นำที่เป็น Master black belt, Green belt เป็นต้น มีการจัดประชุมแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน มีกำหนดเวลาเริ่มประชุม เวลาปิดประชุมที่จะต้องตรงเวลา มีวาระการประชุม ทุกคนมีส่วนร่วมแสดงความเห็น ควรงดการตั้งคำถามที่ไม่มีผลดีในที่ประชุม แต่ให้พูดแต่ในสิ่งที่เกี่ยวข้อง ห้ามพูดถึงบุคคล และควรประชุมกันอย่างสนุกสนาน
1.3 ขั้นตอนจัดตั้งโครงการ เมื่อสร้างทีมงานสำเร็จงานแรกที่ต้องทำคือ จัดทำโครงการอย่างเป็นทางการ โดยการทำเอกสารโครงการถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งของกระบวนด้วย six sigma เอกสารประกอบด้วย ตารางคำถามคำตอบโครงการ เพื่อให้เข้าใจตรงกันโดยตั้งคำถามและตอบคำถาม รวมทั้งหาวิธีการแก้ไข โดยทีมงาน การทำเอกสารเหล่านี้ต้องได้มาการประชุม
1.4 พัฒนาแผนดำเนินการ แผนการดำเนินการโครงงานควรกำหนดเป้าหมาย เอาไว้ก่อนล่วงหน้า และหลังจากนั้นควรจัดทำกิจกรรมหรืองานย่อย ๆ ว่าควรทำงานใด ๆ บ้างและทุกคนควรรู้ว่ากิจกรรมนั้นดำเนินการอยู่ในขั้นตอนใด ความก้าวหน้าอยู่ในลำดับใด มีการทำงานเป็นทีม ทุกคนในทีมยอมรับแผนงานที่ออกมา
1.5 กำหนดความต้องการของลูกค้า โดยผู้พัฒนาระบบจะต้องทราบความต้องการลูกค้าที่แท้จริง และเทคนิคการใช้ซิกซ์ซิกม่าจะกำหนดให้นิยามความหมายลูกค้า อันได้แก่ ลูกค้าระดับสูงและลูกค้าภายนอกองค์กร รวมไปถึงพนักงานภายในองค์กรของผู้จัดทำซิกซ์ม่าก็ถือว่าเป็นลูกค้าด้วย
1.6 กำหนดผลลัพธ์ ผลลัพธ์ที่ได้จากกระบวนการผลิตหรือการบริการที่สามารถวัดออกมาได้ แต่บางครั้งผลลัพธ์ที่วัดไม่ได้จะรวมอยู่ด้วย
1.7 ลำดับความสำคัญความต้องการของลูกค้า ในประเด็นนี้หมายถึงการฟังความเห็นของลูกค้า ว่าลูกค้าต้องการอะไรบ้างแล้วนำความต้องการเหล่านี้มาเรียงลำดับตามความสำคัญ นอกจากนี้ทีมงานซิกซ์ซิกม่าต้องสำรวจความพึงพอใจของสินค้าและบริการด้วย หลังจากได้ข้อกำหนดหรือความต้องการจากลูกค้าแล้ว จึงมีการประชุมทีมงานอย่างต่ำ 2 ครั้งมีประเด็นคำถาม คำตอบ วิธีแก้ปัญหาด้วยการช่วยกันระดมความคิดในทีมงาน การประชุมในครั้งที่ 2 นั้นประชุมเพื่อทำให้กระบวนการทำงานได้ผลดียิ่งขึ้น
1.8 จัดทำเอกสาร การทำเอกสารกระบวนการทำงานที่เป็นปัจจุบัน ให้เป็นแผนภาพที่ทุกคนเข้าใจง่าย มีภาพแสดงการไหลของกระบวนการ เพื่อที่จะบอกให้ทีมงานทราบถึงการประเมินกระบวนการได้ ซึ่งเอกสารกระบวนการทำงานจะมีการแบ่งระดับชั้นของการใช้ ได้แก่ ระดับสูง ระดับรายละเอียด และระดับแผนผังหน้าที่ ที่จะบอกว่าใครมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง ในขั้นตอนใด
ในขั้นสุดท้ายของการ define ให้จัดทำข้อสรุปความต้องการของลูกค้า และข้อกำหนด สร้างเป็นตารางความต้องการในแต่ละข้อ ให้คะแนนหรือลำดับความสำคัญของลูกค้า และลำดับความสำคัญของยุทธศาสตร์ในทีมของซิกซิกม่า
2. ขั้นตอนการวัด (Measurement phase) ขั้นตอนการวัดมีไว้เพื่อยืนยันและหาจำนวนปัญหา ซึ่งมีกระบวนการหรือขั้นตอนทั้งหมด 5 ขั้นตอน ได้แก่ กำหนดว่าจะวัดอะไรบ้าง ลงมือวัดจริง และคำนวณว่าอยู่ที่ซิกม่าเท่าไร กำหนดว่าจะทำให้กระบวนการเพิ่มความสามารถได้อย่างไร สุดท้ายได้แก่ การเปรียบเทียบกับมาตรฐาน
2.1 กำหนดการวัด สิ่งที่จะวัดมีอะไรบ้าง เช่น มีชนิดตัวแปรอะไรบ้างที่มีผลต่อคุณภาพพร้อมค่าประมาณการเป็นตาราง หาคุณค่า ในการวัดที่จะให้ได้ผลดีนั้นจะต้องมีลักษณะดังนี้ การตรงประเด็น สามารถกระทำได้ ถูกต้องทำได้ตรงตามเวลาและทำได้ง่าย
2.2 ลงมือวัดจริง โดยนำตัวแปรที่ได้จากข้อ 2.1 มาวัดให้ได้อยู่ในรูปของตัวเลข เช่น ค่าเฉลี่ย ค่ามัธยฐาน ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน เป็นต้น นำผลที่ได้สร้างเป็นผังกราฟชนิดต่าง ๆ
2.3 คำนวณค่าที่ได้ เมื่อวัดเสร็จแล้วคำนวณค่าที่ได้มาเปรียบเทียบว่าอยู่ในระดับซิกม่าใด ในทีมงานจะต้องกำหนดความสำคัญก่อนที่จะวัดจริง รายการที่ต้องกำหนดได้แก่ ข้อบกพร่อง สิ่งผิดปกติ หน่วยวัด และโอกาส เป็นต้น
2.4 กำหนดเพิ่มความสามารถ ทีมงานจะเพิ่มสมรรถนะ กระบวนการทำงานได้อย่างไร การกระทำอย่างนี้ส่งผลไปถึง ลูกค้า และทีมงานต้องมีตัวดัชนีความสามารถ รวมไปถึงการลดรอบการทำงาน
2.5 เปรียบเทียบกับมาตรฐาน วัตถุประสงค์ของการเปรียบเทียบหรือวัดมาตรฐานเพื่อวัดว่าบริษัทหรือองค์กรดีที่สุดหรือยัง มีการสร้างหัวหน้าทีมเพิ่มขึ้นเพียงใด มีการเปรียบเทียบความแตกต่างกับคู่แข่งว่าเหนือคู่แข่งหรือไม่
3. ขั้นตอนการวิเคราะห์ (Analyze phase) เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากการจัดเก็บในขั้นตอนที่สอง เพื่อหาปัญหาหลัก และวิเคราะห์หาวิธีการแก้ปัญหา ในขั้นตอนการวิเคราะห์มีประเด็นย่อยที่ต้องกระทำได้แก่ กำหนดว่าอะไรเป็นปัญหาให้เกิดความคลาดเคลื่อน ควรระดมสมองเพื่อแก้ปัญหาให้ดียิ่งขึ้น กำหนดว่าสิ่งใดจะทำให้ลูกค้าเห็นว่า สินค้าที่ผลิตออกมาตรงกับความต้องการ สร้างแผนผังกระบวนการทำงาน และประเมินความเสี่ยงที่มากับการปรับปรุงใหม่
3.1 กำหนดว่าอะไรเป็นปัญหาให้เกิดความคลาดเคลื่อน ความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นได้แก่ความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นประจำ และความคลาดเคลื่อนกรณีพิเศษ ทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ทีมงานต้องสืบหาต้นตอของสาเหตุ และเมื่อทราบสาเหตุแล้วทีมงานต้องนำมาแสดงให้ที่ประชุมทราบเพื่อระดมความคิดสาเหตุที่จะเกิดขึ้นตามมา
3.2 การระดมความคิดเพื่อให้กระบวนการดียิ่งขึ้น กระบวนการแก้ปัญหาที่ดีได้มาจากการระดมสมองความคิด ที่ทีมงานช่วยกันออกความเห็น จะเป็นการรับรู้ได้ดีกว่า และมีต้นทุนต่ำ
3.3 กำหนดว่าสิ่งใดจะทำให้ลูกค้าเห็นว่าสินค้าที่ผลิตออกมาตรงกับความต้องการ โดยการสำรวจความพึงพอใจจากลูกค้าจากข้อเท็จจริง นำข้อมูลที่ได้มาจัดลำดับในโปรแกรมตารางทำการ (spreadsheet)
3.4 สร้างแผนผังกระบวนการทำงาน หลังจากได้คะแนน หรือระดับความต้องการในข้อ 3.3 แล้ว นำมาจัดทำแผนผังการทำงาน เช่น การให้ลูกค้าได้รับบริการทางเว็บไซต์ เป็นต้น
3.5 ประเมินความเสี่ยงที่จะมากับการปรับปรุงใหม่ สิ่งที่ปรับปรุงขึ้นมาใหม่อาจไม่ใช่เป็นสิ่งที่ถูกต้องสมบูรณ์ ทีมงานต้องนำมาประเมินและปรับปรุงใหม่
4. การพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น (Improvement phase) ขั้นตอนการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นมีขั้นตอนการทำทั้งหมด 3 ประเด็น ได้แก่ การจัดทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลง การวางแผนในการนำไปปฏิบัติ การ การยืนยันให้สัตยาบันในการเปลี่ยแปลง
4.1 การทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงให้ได้มาซึ่งคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น อาจมีเครื่องมือคุณภาพอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องได้แก่ แผนผังกระบวนการวิเคราะห์ ไคเซ็น Poka-Yoke เป็นต้น
4.2 การวางแผนนำไปปฏิบัติ การวางแผนนำไปปฏิบัติมีวิธีการหลายอย่างเช่น ทดลองทำเป็นโครงการนำร่อง หรือนำเอาวิธีการของวงจรเดมมิ่ง อันได้แก่ การวางแผน ดำเนินการ ตรวจสอบ นำผลที่ได้ประเมินเพื่อวางแผนใหม่
4.3 การให้สัตยาบันเปลี่ยนแปลง เป็นการนำแผนการที่ได้กระทำในไปปฏิบัติให้เกิดผล เช่น การประชุมรายสัปดาห์ ทำแผนผังความก้าวหน้า เป็นต้น
5. ขั้นตอนการควบคุม (Control phase) ขั้นตอนการควบคุมมีขั้นตอนย่อย 5 ประเด็น ได้แก่ จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานและการตรวจสอบ พัฒนากลยุทธการควบคุม ให้ชมเชยหรือรางวัลและประกาศยกย่องผลสำเร็จ นำแผนการควบคุมไปปฏิบัติ
5.1 จัดทำคู่ มือการปฏิบัติงานและการตรวจสอบ หลาย ๆ บริษัทนิยมใช้ มาตรฐานระเบียบการปฏิบัติงาน และมีการควบคุมภายใน
5.2 พัฒนากลยุทธการควบคุม กลยุทธการควบคุมนิยมใช้ ควบคุมกระบวนการด้วยหลักสถิติ เช่น Run chart, Control chart เป็นต้น
5.3 ชมเชยหรือให้รางวัล พร้อมประกาศเกียรติคุณแก่ทีมงานที่ประสบผลสำเร็จ
5.4 นำแผนการควบคุมไปสู่การปฏิบัติ ในทีมงานทราบกันดีว่า การควบคุมเป็นสิ่งดี จึงควรนำแผนไปสู่การปฏิบัติและตรวจสอบการควบคุม นำผลการปฏิบัติไปรายงานสู่ผู้ที่ยังไม่ได้ปฏิบัติ

การพัฒนาระบบด้วยวงจรการพัฒนาระบบ
การพัฒนาระบบงานด้วยวงจรการพัฒนาระบบ (System Development Life Cycle:SDLC) มีขั้นตอนในการดำเนินงานเป็นลำดับ ทำให้การพัฒนาเป็นไปตามลำดับขั้นตอน อีกทั้งในบางส่วนของการออกแบบได้เลือกรูปแบบของ Spiral Model ขึ้นและมีประสิทธิผลดียิ่งขึ้นด้วย โดยวงจรการพัฒนาระบบงานมีขั้นตอนการทำงานเรียงตามลำดับ 7 ขั้นตอน ได้แก่
1 กำหนดปัญหาของระบบเดิม (Problem Definition) ขั้นตอนนี้เป็นการกำหนดขอบเขตของปัญหา สาเหตุของปัญหา ตลอดจนกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหา นักวิเคราะห์ระบบจะต้องศึกษาระบบงานเดิม(Current System) โดยหาเป้าหมายที่ชัดเจนของงาน ต่าง ๆ ประกอบกับนำคอมพิวเตอร์เข้าไปใช้ในส่วนต่าง ๆ ของระบบจากการสุ่มตัวอย่าง การสอบถามหาข้อมูล การสัมภาษณ์ การออกแบบสอบถาม การสังเกตพฤติกรรมของผู้ใช้และสิ่งแวดล้อมเพื่อสืบค้น เก็บรวบรวมข้อมูลที่เป็นความต้องการของระบบจากผู้ใช้ เพื่อกำหนดวัตถุประสงค์ที่สามารถวัดผลได้ ตลอดจนกำหนดขอบเขตของการพัฒนาระบบ ทำเอกสารขออนุมัติทำโครงการ งบประมาณ
2. การวิเคราะห์ระบบ (Analysis) การวิเคราะห์ระบบจะรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากขั้นตอนที่ 1 มาเขียนเป็นไดอะแกรม การไหลของข้อมูล (Data Flow Diagram) พจนานุกรมข้อมูล (Data Dictionary) และโครงสร้างการตัดสินใจ (Structured decision) มาช่วยในการวิเคราะห์ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ถูกต้อง และนักวิเคราะห์ระบบต้องมีการทำงานร่วมกับผู้ใช้ระบบเพื่อได้ความต้องการจากผู้ใช้โดยแท้จริง นำผลการวิเคราะห์ไปจัดทำเอกสารและให้มีการลงนาม
3. การออกแบบระบบ (Design) หลังจากการวิเคราะห์ระบบแล้ว ขั้นตอนนี้จะต้องทำการวางโครงสร้างของระบบงาน ทั้งในรูปลักษณะทั่วไปและเฉพาะ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการแจกแจงรายละเอียดที่แน่ชัดของแต่ละงาน ซึ่งขั้นตอนนี้จะได้ Purpose System เพื่อทำการออกแบบ Output, Input, E-R model และ Database เพื่อให้ได้ระบบงานที่สมบูรณ์ เพื่อส่งขั้นตอนนี้ไปยังโปรแกรมเมอร์ในการเขียนชุดคำสั่งต่อไป
4. การพัฒนาระบบ (Development) ขั้นตอนนี้จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างโปรแกรมเมอร์ และนักวิเคราะห์ระบบเพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งจะต้องนำส่วนที่ได้จากการวิเคราะห์ในขั้นตอนที่ 2 และการออกแบบในส่วนที่ 3 มาใช้ โดยโปรแกรมเมอร์จะเป็นผู้เขียนโปรแกรม ตรวจสอบข้อผิดพลาด กำหนดความปลอดภัยของระบบและทดสอบโปรแกรมรวมถึงทำเอกสารโปรแกรมสำหรับผู้ใช้ระบบอีกด้วย
5. การทดสอบระบบ (Testing) ก่อนที่จะนำระบบที่สร้างขึ้น ไปใช้จริงนั้นจะต้องมีการทดสอบระบบก่อน ซึ่งบางครั้งผู้ทดสอบอาจเป็นตัวโปรแกรมเมอร์เองหรือในบางกรณีอาจให้ นักวิเคราะห์ระบบ และผู้ใช้ระบบทดสอบ ซึ่งการทดสอบมี 3 วิธี คือ Module Test, Component Test และ Final Test
6. การนำไปใช้งานจริง (Implement) หลังจากทดสอบเสร็จสิ้น จึงนำระบบมาติดตั้งให้แก่ผู้ใช้ระบบ ได้ทดลองใช้จริง และผู้ใช้ต้องผ่านการทดสอบ ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนสุดท้ายของนักวิเคราะห์ระบบ ที่ต้องรับผิดชอบ
7. การบำรุงรักษาและพัฒนาระบบต่อ (Maintenance) หลังจากนำระบบใหม่มาติดตั้งให้กับผู้ใช้ระบบ ผู้ใช้ระบบยังไม่คุ้นเคยกับการทำงานของระบบใหม่ ดังนั้นจึงต้องมีการอบรม ให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง คอยดูแลบำรุงรักษาฐานข้อมูล และช่วยเหลือผู้ใช้ระบบในการปฏิบัติงาน

บทสรุป

ข้อที่แตกต่างหรือข้อที่เหมือนกัน รวมทั้งข้อเด่น ข้อด้อยระหว่างการพัฒนาสารสนเทศด้วยการใช้เครื่องมือ Six sigma กับวิธีการ SDLC

Six sigma
จุดเด่น
  • มีการนำลูกค้าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ
  • มีขอบเขตของโครงการที่แน่นอน
  • มั่นใจในความสำเร็จของโครงการแม้ว่าหัวหน้าโครงการลาออก

จุดด้อย
  • ยังไม่พบตำราใด ๆ กล่าวไว้


SDLC

จุดเด่น
  • เป็นขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก จึงเหมาะสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์เพียงซื้อหนังสือมาอ่านแล้วทำตาม
  • วิธีการมีความสอดคล้อง ต่อเนื่องกันไปทำให้ลดต้นทุนได้ โดยทีมงานสามารถนำไปใช้กับโครงการอื่น ๆ ได้
จุดด้อย
  • ในการทำซ้ำ การจัดทำเอกสารอาจไม่ตรงกับผู้ใช้ทุก ๆ คน
  • ผู้ใช้ระบบหรือลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมเพียงครั้งเดียว อาจเก็บข้อกำหนดไม่ครบ
  • ในการพัฒนาระบบขนาดใหญ่ที่ใช้เวลานาน หัวหน้าโครงการอาจลาออกได้ ทำให้โครงการหยุดชะงัก


เอกสารอ้างอิง

1. Tayntor, Christine B., Six Sigma Software Development, Boca Raton, Auerbach Publications, 2002.
2. James R. Evans and William M. Lindsay, An introduction to Six Sigma & Process Improvement, Thomson South-Western, 2005.
3. Kendall, K.E. and Kendall, J.E., System analysis and design, 4th ed., Prentice Hall International, 1998
4. William, D.S., Business Systems Analysis and Design, International Thomson
Publishing, 1994
5. Jeffrey, W.L. and Lonnie, B.D., Systems Analysis and Design Methods,
4th ed., Irwin McGraw-Hill, 1998
6. R. Anil, V. Sechadri, A Chavala, and M. Vemurai, A Methodology for Managing
Multi-Disciplinary Program with Six sigma approach, International Engineering Conference, 2004
7. Antonico Calos Tonini,Mauro de Mesquita Spinola and Fernando Jose Barbin Laurindo ,Six Sigma and Software development Process: DEMAIC Improvements, PICMET,2006
8. Jiju Antony and Ricardo Banuelas, Design for Six Sigma , Manufacturing Engineer, 2002
9. Yousef Gaolipour Kanani, Study and Analysis of control phase role for increasing the Success of Six Sigma project, IEEE International Conference on management of innovation and Technology, 2006
10. Craig Gygi, Neil Recarlo and Bruce Williams, Six Sigma for Dummies, Wiley Publishing Inc, 2005

วันเสาร์ที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

ระบบสมองฝังตัว

ในวันที่ 9-12 ต.ค.50 ได้เข้าร่วมอบรมโครงการสมองฝังตัว (Embeded System) ที่สมาคมสมองกลฝังตัวไทย ร่วมกับ SiPA และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จัดขึ้นมา เพื่อให้อาจารย์ได้ไปถ่ายทอดการพัฒนาระบบสมองกลฝังตัวให้แก่นักเรียน นักศึกษา ได้นำไปใช้ในการสร้างหุ่นยนต์ หรือสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆที่ต้องการให้มันฉลาด ในครั้งนี้วิทยากรได้แนะนำอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ได้แก่ ชุดพัฒนาที่ชื่อว่า Arm7 ลองใช้คำค้น Arm7 ที่ google ดูจะเห็นว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ต่าง ๆ ใช้ arm กันมากมาย ภาษาที่ใช้ในการพัฒนาเป็นภาษาซี แต่คำสั่งต่าง ๆ ต้องตรงกับชิปที่เลือกใช้ ผู้เขียนโปรแกรมต้องเปิดดู datasheet ตลอด และที่สำคัญผู้เขียนคำสั่งจะต้องเขียนตาม ฮาร์ดแวร์ที่ได้เชื่อมต่อเอาไว้ จัดว่าเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร แต่ก็สนุกสนานดี

จากการอบรมในครั้งนี้จึงมีแนวคิด การนำไปใช้ในเรื่องต่าง ๆ และมีเว็บที่เกี่ยวข้องที่ต้องจดจำเอาไว้กลัวจะลืม มีดังนี้

เว็บที่ขาย arm www.ett.co.th
เว็บต่างประเทศ http://www.moteiv.com/products/
เว็บของสมาคม http://www.tesa.or.th/

ลองเข้าไปศึกษาค้นคว้าดูนะครับ เหมาะสำหรับคนที่มีไฟ คนที่มีเวลาว่างไม่รู้จะทำอะไร
นักประดิษฐ์ หรือเป็นงานอดิเรกนักคอมพิวเตอร์ หรือคนที่เบื่อเขียนโปรแกรมอย่างเดียว

วันอังคารที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

ครอบครัวนักกีฬา


ขออนุญาตเขียนถึงตัวเองและครอบครัว ซึ่งโดยปกติแล้วไม่ค่อยได้พูดถึง แต่เห็นว่าเป็นตัวอย่างหรือแบบอย่างที่ดีให้แก่นักศึกษาได้ หรือผู้อ่านที่สนใจเพื่อนำไปเป็นแง่คิด ยังไม่ต้องเชื่อ หรือทำตามก็ได้ ต้องพิสูจน์ด้วยตนเอง
ที่ตั้งหัวข้อครอบครัวกีฬา ก็เพราะว่า ครอบครัวของผมทั้ง 4 คนจะเล่นกีฬากันเมื่อมีเวลาว่าง กีฬาที่เล่นมีหลายชนิด มีเทนนิสที่เล่นกันได้ทุกคน(พ่อกับแม่เล่น ดึงลูกมาเล่นด้วย) แบตมินตัน (อันนี้เล่นตามลูก) ปิงปอง(เล่นตามลูกคนโต) สุดท้ายได้แก่จักรยานเสือภูเขา (ลูก ๆ เล่นตามพ่อ)
เทนนิส ผมเล่นเทนนิสตั้งแต่อายุ 19 ปี เล่นอย่างจริงจัง ตั้งแต่ตื่นเช้า มาน็อคกับบอร์ดคนเดียว จนกระทั่งควบคุมบอลได้ จึงลงสนามได้ ตีโต้ตอบไปมา เมื่อเล่นได้แล้วจึงเล่น set นับแต้ม ส่วนใหญ่เล่นตอน 17.00 น. ถึง 3-4 ทุ่ม บางครั้งเล่นถึงเที่ยงคืน เล่นอย่างนี้จนเข้าขั้นเก่ง จึงไปตีแข่งขันกับทีมอื่น มหาวิทยาลัยอื่น จนกระทั่งเป็นตัวแทนนักกีฬาบุคลากรทบวงมหาวิทยาลัย ลงแข่งขั้นแรกที่ม.บูรพา และเคยไปอีกครั้งหนึ่งที่ ม.แม่โจ้ เชียงใหม่ เคยได้แชมป์รายการแข่งกีฬาบัณฑิต ประเภทคู่ที่ ม.รามคำแหง ปี 2544
วิธีชักชวนลูกมาตีเทนนิสด้วย โดยการชักจูงมาน็อคบอร์ด โชคดีที่ลูกชักจูงง่าย เพราะดูแล้วเขาชอบกีฬาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เพียงซื้อแร็คเก็ตเทนนิสให้ แต่พอชวนลงในสนามเขาไม่อยากเข้าไปตี ตอนแรกต้องให้เงินเป็นรางวัลแต่ละครั้ง แต่ถ้าอยากให้เขาเล่นจริงจัง เขากลับไม่ชอบ เพราะว่ามีคนเล่นเทนนิสมากหลังจากภราดร ได้แชมป์ ต้องแย่งแข่งขันกันเข้าสนาม จึงล้มเลิกที่จะเล่นอย่างจริง ๆ จัง ๆ
แบตมินตั้น เล่นตามลูก บังเอิญที่โรงเรียนของลูกเขาเล่นกันมาก เขาขอให้ซื้อไม้แบตให้ จึงซื้อเล่นกัน ได้เล่นกันทั้ง 4 คน แต่นาน ๆ สักครั้ง สนามแบตยังไม่มาตรฐาน มีกีฬาอื่นมาแย่งพื้นที่ (ยังไม่จบนะครับ มีเวลาจะมาเขียนต่อครับ)
มาเขียนเพิ่มเติมครับ จริง ๆ แล้วได้บันทึกเป็นไฟล์ movie เอาไว้แล้วตอนเล่นเทนนิส ส่วนปิงปองกะว่าจะไปบันทึกกันในวันหยุด ยังหาวันหยุดไม่ได้เลย ค่อยมีเวลาจะบันทึกมาเพิ่มเติมอีกทีหนึ่ง
สำหรับวันนี้ จะพูดถึงจักรยานเสือภูเขา นึกถึงตอนปั่นจักรยานกันใหม่ ๆ เรามีจักรยานแบบเสือภูเขาสามคัน ได้ทดลองปั่นดูว่าไปได้ไกลเพียงใด ในครั้งแรก ๆ จะปั่นไปตามหมู่บ้านรอบ ๆ ที่พัก บางครั้งนึกสนุกชวนลูกปั่นข้ามภูเขาจากอำเภอหาดใหญ่ ไปอำเภอนาหม่อมระยะทางไปกลับประมาณ 40 กม. ข้ามภูเขาสองลูก ลูกคนเล็กอายุเพิ่ง 8 ขวบยังไปถึง พอมีเวลาว่างจึงชวนกันปั่นไปเที่ยวน้ำตกโตนงาช้างระยะทางไปกลับ 70 กม. ก็ยังไปได้สบาย ๆ จึงวางแผนว่าในช่วงปิดเทอมจะปั่นจากหาดใหญ่ไปพัทลุง วางแผนการใช้เส้นทางที่เป็นถนนเล็ก ๆ ลัดเลาะไปตามหมู่บ้านริมทะเลสาบสงขลา ได้แผนที่จากสมาชิกเสือภูเขาด้วยกัน วันนั้นตื่นแต่เช้า ออกเดินทาง ไปถึงพัทลุงค่ำมืดได้ระยะทาง 123 กม. ทั้ง ๆ ที่ถ้าขับรถไประยะทางที่ใช้ถนนใหญ่จะได้ระยะทางเพียง 110 กม.โดยประมาณ
และนี่คือ link หลักฐานที่ได้ post ไว้ในกระทู้กลุ่มจักรยานเสือภูเขาครับ http://www.thaimtb.com/cgi-bin/viewkatoo.pl?id=113821
ปัจจุบันนี้ถ้าฝนไม่ตก ผมจะใช้จักรยานปั่นไปทำงานอยู่เรื่อย ๆ เพื่อเป็นตัวอย่างให้เด็กนักศึกษา และเพื่อสุขภาพของตนเอง ระยะทางไปกลับ 50 กม. เท่านั้นเอง ในการนี้ขอเชิญผู้รักสุขภาพ รักการออกกำลัง
มาใช้จักรยานในการเดินทาง แล้วท่านจะพบว่า มันดีกว่ากันเยอะเลย

ทำไมเว็บไซต์ชื่อดังทั้งหลายไม่ใช้ภาษาจาวา

ภาษาจาวา ของบริษัทซันไมโครซิสเต็ม www.sun.com/java เป็นโปรแกรมภาษาที่แจกจ่ายให้ใช้ฟรี ๆ มีหลักสูตรเรียนในระดับอุดมศึกษา
ทั้งปริญญาตรี โท จนปัจจุบันได้ข่าวว่า โรงเรียนชั้นมัธยมยังถูกขอร้อง เชิงบังคับให้นำมาสอน ผมเองได้ศึกษาในช่วงชั้นระดับปริญญาโท ทั้งเรียน ทั้งฝึกอบรม
และศึกษาด้วยตนเอง รู้สึกว่าเป็นการออกแบบสถาปัตยกรรมด้านซอฟต์แวร์ที่ดีมาก ในด้าน write onece run anywhere ไม่สนใจ platform
ไม่ว่าจะเป็นวินโดวส์ Linux unix FreeBSD หรืออื่น ๆ รวมไปทั้งเคยเห็นอาจารย์นำไปสอนในการเขียนโปรแกรมกับ Chip ในหุ่นยนต์ หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือ ซันได้ออกแบบมาให้ทำงานได้ทั้ง Desptop application, Client-Server, และ Webbase application รวมไปถึงกราฟิก มัลติมีเดีย ทำได้สารพัดอย่าง แต่ทำไมจึงเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียงทั้งหลายไม่นิยมนำภาษาจาวา มาใช้? ตัวอย่างต่อไปนี้ เป็นการเลือกใช้โปรแกรมต่าง ๆ
---------------------------------------------------------------
Web site OS Webserver language DBMS
----------------------------------------------------------------
Youtube Linux Apache Python MySQL
wikipeadia Linux Apache PHP MySQL
Livejournal Linux Apache Perl MySQL
MySpace Windows IIS ASP.NET SQLserver
Digg Linux Apache PHP MySQL
----------------------------------------------------------------
ที่มา
http://royal.pingdom.com/?p=173

จากตารางด้านบนจะเห็นว่า OS ที่ใช้สำหรับทำ Server นิยมใช้ของ Linux และอื่น ๆ จะเลือกที่เป็นของฟรี
ใครที่เห็นว่าของฟรี มักจะไม่มีคุณภาพอาจจะไม่จริงเสมอไปในวงการ IT ที่มีรายการของไมโครซอฟต์อยู่หนึ่งรายการ เป็นเพราะว่า Myspace เป็นของไมโคซอฟต์นั่นเอง ถ้าไปใช้ของคนอื่นจะให้เชื่อได้อย่างไรว่า ของตัวเองดีจริง

ในความเห็นของผม ตั้งแต่ได้มีโอกาสติดตั้งเครื่อง server เพื่อบริการเว็บได้ทดลองใช้ทั้ง Linux, FreeBSD,และ Windows จึงขอแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันได้เลยว่า
1. FreeBSD เสถียรภาพสุด ๆ ไม่เคยสร้างความปวดหัวให้กับ admin เลย
2. Linux มีปัญหาเรื่อง filesystem บ้างเมื่อไฟฟ้าดับ มี Hacker cracker มากวนใจบ้าง
3. Windows ถูกบังคับให้ใช้ด้วย Application ที่ไม่สามารถรันบน OS อื่นได้ต้องจำใจใช้ โดนทั้งไวรัส Hacker cracker spam worm สารพัดชนิด แทบจะไว้ใจไม่ได้เลย สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับ admin สุด ๆ

มาพูดภาษาจาวากันต่ออีกนิดหนึ่งเพื่อสรุปว่า ทำไมจึงไม่ค่อยมีใครใช้กัน ผมวิเคราะห์ด้วยเหตุผลส่วนตัวได้ดังนี้
1. ภาษาจาวา เหมาะกับการเขียนในเชิง OOP ต้องวิเคราะห์แบบ OO มีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มีน้อย สถาบันการศึกษาได้ผลิตไปสู่ตลาดบ้างแต่ยังไม่กล้านำไปใช้อย่างจริงจัง
2. ขาดตัวอย่าง application ที่ประสบผลสำเร็จ ไม่มีกลุ่มที่แลกเปลี่ยนความรู้กันวงกว้าง น.ศ. ที่เรียนจาวาบอกว่าไม่กล้าทำโปรเจ็คด้วยจาวา อาจจบการศึกษาช้า สู้ PHP ไม่ได้มีหนังสือค้นคว้ามากมาย ผู้รู้มากมายถามใครก็ได้
3. ยังทำงานช้า หมายถึงการประมวลผลช้ากว่า PHP มาก
4. มีภาษาใหม่ที่ทำงานความสามารถได้ใกล้เคียงภาษาจาวาเกิดขึ้นมา เช่น Python หรือ Ruby on rails เขียนสั้นกว่าเยอะ

แต่อย่างไรก็ตามความพิเศษของจาวา ยังเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดใจให้น่าใช้ อยู่อีกเยอะเพียงแต่ผู้เรียน ผู้สนใจให้ความสำคัญ ศึกษาเพิ่มเติมจนชำนาญ จะเห็นว่าการเขียนด้วยภาษาจาวาสนุก มีความสละสลวยในเนื้อหาของคำสั่ง ถ้าออกแบบ UML ออกมาดี เขียนคำสั่งจะง่ายมาก

สิ่งใด ๆ ที่ทำได้ยาก ๆ มันจะมีคุณค่าเสมอ ขอให้ตั้งใจศึกษาความรู้จะมากับท่านเอง

วันเสาร์ที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

บทที่ 1

บทที่ 1

บทนำ


ความเป็นมาของการค้นคว้าและพัฒนา
การประกันคุณภาพการศึกษาได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี พ.ศ. 2540 มาตราที่ 81 กำหนดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ(พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ และสุชาติ กิจพิทักษ์, 2545) ได้ให้หน่วยงานการศึกษาทุกระดับต้องมีมาตรฐาน มีการตรวจสอบคุณภาพการศึกษาจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพ หรือ สมศ. ซึ่งเป็นองค์กรมหาชนที่ทำหน้าที่ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายรัฐธรรมนูญ และนอกจากนี้หน่วยงานการศึกษาระดับอุดมศึกษายังมีการประเมินผลการปฏิบัติงานตามคำรับรองตาม สกอ. และ กพร. ด้วย ทำให้สถาบันอุดมศึกษาทุก ๆ สถาบันจำเป็นต้องรวบรวมข้อมูล มาประมวลผลเพื่อจัดทำเป็นรายงานจัดส่งให้ผู้ตรวจ ตรวจวัดต่อไป
มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาสังกัด สกอ. ต้องจัดเก็บ เตรียมข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นเอกสาร แล้วรวบรวมมาคำนวณเพื่อหาค่าเพื่อเป็นค่าคะแนนในแต่ตัวดัชนีชี้วัด ของแต่ละตัวชี้วัด เพื่อเป็นการประเมินสถาบันในทุก ๆ สถาบันการศึกษา พบว่ามหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะให้ความสำคัญกับการประกันคุณภาพที่นำเอาดัชนีชี้วัดมาประเมินคุณภาพเป็นอย่างมาก
ในปี พ.ศ.2550 ได้มีตัวดัชนีชี้วัดเพิ่มขึ้นจำนวน 22 ดัชนีชี้วัด มีตัวชี้วัดที่ 17 สำหรับวัดคุณภาพของการบริหารจัดการระบบฐานข้อมูลสารสนเทศของสถาบันอุดมศึกษา ประเด็นการวัดคุณภาพระบบสารสนเทศที่สนับสนุนการบริหารงานมหาวิทยาลัยฯ มีประเภทต่าง ๆ เช่น ฐานข้อมูลบุคลากร ฐานข้อมูลนักศึกษา ฐานข้อมูลหลักสูตร ฐานข้อมูลงานวิจัย ฯลฯ รวมทั้งการรักษาความปลอดภัย และตัวชี้วัดที่ 18 สำหรับวัดระดับความสำเร็จของการพัฒนาระบบฐานข้อมูลอุดมศึกษาด้านนักศึกษา บุคลากร และหลักสูตร ที่มหาวิทยาลัยฯ จะต้องจัดเก็บข้อมูลแล้วส่งข้อมูลทั้งหมดไปยัง สกอ. การวัดผลตามดัชนีชี้วัดทั้งสองข้อนี้ วัดโดยคุณภาพของระบบสารสนเทศและข้อมูลที่จัดส่งไป ถูกต้องตามเงื่อนไขที่กำหนดหรือไม่ ในกรณีที่มหาวิทยาลัยฯ ไม่มีระบบสารสนเทศทำให้ผลการประเมินมีคะแนนต่ำ อาจส่งผลต่อการจัดลำดับมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ได้ และผลกระทบต่อส่วนรวมของประเทศชาติที่เมื่อนำข้อมูลทั้งหมดไปรวมกันแล้ว ไม่สามารถประมวลผลให้ได้สารสนเทศที่เป็นจริงได้ และถ้านำสารสนเทศนี้ไปใช้ในการตัดสินใจจะทำให้เกิดผิดพลาดได้
มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มีภารกิจหลัก 6 ประการ ได้แก่
1. จัดการศึกษาเพื่อปวงชน อย่างหลากหลายรูปแบบ เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคคลในท้องถิ่น ให้มีคุณภาพ คุณธรรม และคุณค่า ทั้งต่อตนเอง ต่อท้องถิ่น และต่อสังคม ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
2. วิจัยเพื่อความเข้าใจในท้องถิ่นและสร้างสมความรู้จากท้องถิ่นเชื่อมโยงศาสตร์สากล นำผลไปใช้ในการร่วมปรับแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่น ตลอดจนพัฒนาสถาบัน และภารกิจ เพื่อให้สถาบันเป็นแหล่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ของท้องถิ่น
3. ผลิตและพัฒนาวิชาชีพครู โดยมุ่งผลิตและพัฒนาครูให้มีคุณภาพ คุณธรรม มีจิตวิญญาณของความเป็นครู ที่จะสามารถพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ และรัก ผูกพัน ภาคภูมิใจในวิชาชีพและท้องถิ่นของตน
4. บริการวิชาการและพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งและผสมผสานและประยุกต์องค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และศาสตร์สากล เพื่อพัฒนาชุมชนให้พัฒนาอย่างมีดุลยภาพและยั่งยืน สามรถคงไว้ซึ่งเอกลักษณะของไทยท้องถิ่นภาคใต้
5. ถ่ายทอดเทคโนโลยี ศึกษาค้นคว้า พัฒนาเทคโนโยลีที่เหมาะสมและนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ในการเรียนการสอนและบริการวิชาการแก่ชุมชน และเพื่อการปรับ พัฒนา แก้ปัญหาของท้องถิ่น
6. ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยมุ่งศึกษาค้นคว้า วิจัย เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น เผยแพร่โดยผ่านกระบวนการเรียนการสอนกิจกรรมนักศึกษา และสู้ชมชนด้วยรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถดำรงรักษาไว้ ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์และภาคภูมิใจวัฒนธรรมของตน
ด้วยพันธกิจดังกล่าวจึงได้จัดตั้งโครงสร้างการบริหารงานออกเป็นสถาบัน สำนักและคณะต่าง ๆ รวมทั้งหมด 13 หน่วยงาน ดังนี้
1. สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน
2. สถาบันวิจัยและพัฒนา
3. สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
4. สำนักศิลปะและวัฒนธรรม
5. สำนักงานอธิการบดี
6. สำนักกิจการนักศึกษา
7. คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
8. คณะครุศาสตร์
9. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
10. คณะวิทยาการจัดการ
11. คณะเทคโนโลยีการเกษตร
12. คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
13. คณะศิลปกรรมศาสตร์
ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการภายในมหาวิทยาลัยเพื่อให้ตอบสนองหน่วยงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยฯ นั้นมีอยู่จำนวนน้อยไม่ครอบคลุมการทำงานทั้งหมด นอกจากนี้ระบบสารสนเทศที่มีอยู่บางหน่วยงานไม่ได้จัดเก็บเป็นส่วนกลาง ทำให้เกิดการทำงานซ้ำซ้อน เสียเวลาในการทำงานและทำให้เพิ่มต้นทุนค่าจ้างบุคลากรมาป้อนข้อมูลที่ซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้น ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงมีนโยบายที่จะพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ มาใช้ในการบริหารงานให้ครอบคลุมทุก ๆ หน่วยงานโดยจัดเก็บฐานข้อมูลให้เป็นส่วนกลาง ระบบสารสนเทศที่จะนำมาใช้มี ดังนี้
1. ระบบสารสนเทศบุคลากร
2. ระบบสารสนเทศนักศึกษา
3. ระบบสารสนเทศหลักสูตร
4. ระบบสารสนเทศงานวิจัย
5. ระบบสารสนเทศงานนโยบายและแผน
6. ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารสำนักวิทยบริการ
7. ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการงานการเงินและบัญชี
8. ระบบสารสนเทศงานพัสดุ
9. ระบบสารสนเทศงานธุรการ
10. ระบบสารสนเทศกิจการนักศึกษาและระบบติดตามบัณฑิต
11. ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารสำนักส่งเสริมและวัฒนธรรม
12. ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารงานคณะ
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลายังมีนโยบายที่จะให้มีกลุ่มผู้ใช้ระบบสารสนเทศคลอบคลุมกลุ่มผู้ใช้ทุกกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้ระดับปฏิบัติการ ได้แก่ ธุรการ เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล ผู้ใช้ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ เช่น อาจารย์ กลุ่มผู้ใช้ที่เป็นผู้บริหารระดับกลาง เช่น คณบดี ผู้อำนวยการสำนักต่าง ๆ และผู้บริหารระดับสูง ได้แก่ อธิการบดี เป็นต้น
ในการพัฒนาระบบสารสนเทศในอดีต มีกระบวนการพัฒนาตามขั้นตอนที่เรียกว่า วงจรการพัฒนาระบบสารสนเทศ (Software Development Life Cycle: SDLC) (โอภาส เอี่ยมสิริวงศ์, 2548) ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนทั้งหมด 5 ขั้นตอน คือ การวางแผนโครงการ การวิเคราะห์ การออกแบบ การนำไปใช้ การบำรุงรักษา แต่การนำกระบวนการแบบนี้มาใช้ในการพัฒนาระบบขนาดใหญ่เช่นนี้ จะทำให้เกิดไม่มีคุณภาพ ขาดความน่าเชื่อถือ และไม่ได้มาตรฐาน หรืออาจมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น คุณภาพของสารสนเทศที่ได้ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้พัฒนาเป็นหลัก
ด้วยปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น จึงมีแนวคิดการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา โดยบูรณาการกับระเบียบวิธีคุณภาพซิกซ์ซิกม่า เป็นเครื่องมือแล้วมุ่งหวังที่ให้ระบบสารสนเทศที่ได้มีคุณภาพสูงสุด ระเบียบวิธีคุณภาพซิกซ์ซิกม่าเป็นทฤษฎีของนายมิเกล เจ แฮรี่ ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อลดความผิดพลาดในการผลิตสินค้าของบริษัทโมโตโรลา โดยกำหนดระดับของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต เป็นระดับซิกม่า (Sigma level) ซึ่งระดับซิกม่าที่ดีที่สุดนั้น คือ ค่าซิกม่าระดับ 6 หรือที่เรียกกันว่า ซิกซ์ซิกม่า อันเป็นระดับของกระบวนการผลิตที่ยอมให้มีสินค้าหรือผลผลิตมีความผิดพลาดเพียง 3.4 ชิ้นในล้านชิ้นเท่านั้น
ในปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ซิกซ์ซิกม่ากับงานต่าง ๆ เช่น ด้านธุรกิจ อุตสาหกรรมและบริการกัน พบว่าในการทำโครงการซิกซ์ซิกม่านั้นไม่ต้องลดความผิดพลาดจนอยู่ในระดับ 6 แต่ความผิดพลาดที่เกิดนั้นไม่ควรต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ กระบวนการทำโครงการซิกซ์ซิกม่ามีชื่อเรียกว่าดีเมอิก (DMAIC) ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ขั้นกำหนด (define) เป็นการกำหนดปัญหา ระบุลูกค้า สร้างแผนที่กระบวนการ กำหนดขอบข่ายของโครงงาน และผังการปรับโครงงาน
2. ขั้นวัดผลตัวชี้วัด (measure) เป็นขั้นตอนระบุวิธีวัดผลและตัวแปรที่ใช้ในการวัดผล อธิบายประเภทของข้อมูล และพัฒนาแผนการเก็บรวบรวมข้อมูล
3. ขั้นวิเคราะห์ (analyze) เป็นขั้นตอนการทบทวนเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ และดำเนินการวิเคราะห์ผลของตัวชี้วัด
4. ขั้นปรับปรุง (improve) เป็นขั้นตอนของการดำเนินการปรับปรุงการดำเนินงานตามที่วิเคราะห์เอาไว้ เพื่อให้ได้ค่าวัดผลจากตัวชี้วัดที่ดีขึ้น
5. ขั้นควบคุม (control) เป็นขั้นตอนดำเนินการควบคุมกระบวนการให้ดำเนินต่อไปโดยไม่ให้ความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเกิดขึ้นซ้ำอีก
จากปัญหาการพัฒนาระบบสารสนเทศในอดีตดังกล่าวมาแล้ว และผลดีของยุทธศาสตร์ซิกซ์ซิกม่า จึงได้นำเอาระเบียบวิธีคุณภาพซิกซ์ซิกม่ามาบูรณาการกับกระบวนการพัฒนาระบบสารสนเทศแล้วมุ่งหวังที่จะสร้างระดับคุณภาพให้ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาได้สูงสุด โดยนำกระบวนการทำโครงการซิกซ์ซิกม่ามีชื่อเรียกว่าดีเมอิก มาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบสารสนเทศของมหาวิทยาลัยฯ เพื่อสนับสนุนให้การบริหารงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้ ตามรูปแบบที่ผู้บริหารต้องการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาต่อไป




วัตถุประสงค์ของการค้นคว้า
เพื่อสร้างตัวแบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการบริหารและการจัดการงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ด้วยการบูรณาการกับระเบียบวิธีคุณภาพซิกซ์ซิกม่า เพื่อสร้างระดับคุณภาพการจัดการได้สูงสุด

สมมติฐานการวิจัย
เมื่อนำเอาระเบียบวิธีคุณภาพซิกซ์ซิกม่า มาบูรณาการกับการพัฒนาระบบสารสนเทศแล้วจะทำให้วิเคราะห์ความพึงพอใจของผู้ใช้ระดับผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารระดับกลาง ผู้ใช้ระดับความรู้และผู้ใช้ระดับปฏิบัติการได้ผลการวัดความพอใจสูงสุด และวัดคุณภาพเกิดคุณภาพได้สูงสุดอย่างไร ซึ่งสามารถสร้างเป็นตัวแบบได้ดังนี้

QITSixSigma = IT * MGT * QMSixSigma

กรอบแนวคิดในการวิจัย
ตัวแบบเทคโนโลยีสารสนเทศคุณภาพที่เกิดจากวิทยาการคุณภาพซิกซ์ซิกม่าบูรณาการกับกระบวนการพัฒนาระบบสารสนเทศ ทำให้เกิดวิทยาการคุณภาพอีกชนิดหนึ่งขึ้นมา สามารถเขียนเป็นไดอะแกรมดังนี้


1. ระเบียบวิธีการบริหารงานมหาวิทยาลัยฯ
2. ระเบียบวิธีการซิกซ์ซิกม่า
3. เทคโนโลยีสารสนเทศ QIT










ประโยชน์ของการค้นคว้า
1. ได้ตัวแบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับสนับสนุนการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาที่บูรณาการกับระเบียบวิธีคุณภาพซิกซ์ซิกม่า สำหรับนำไปใช้ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
2. เป็นแนวทางในการศึกษาค้นคว้าเพื่อใช้ในการพัฒนาระบบสารสนเทศให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ได้

ขอบเขตของการค้นคว้า
1. ตัวแบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับสนับสนุนการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาที่บูรณาการกับระเบียบวิธีคุณภาพซิกซ์ซิกม่า สำหรับนำไปใช้ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ประกอบด้วย ระบบบริหารงานบุคคล ระบบสารสนเทศงานวิจัย ระบบสารสนเทศงานนโยบายและแผน และระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ การเงินและบัญชีเท่านั้น
2. ตัวแบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับสนับสนุนการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาที่บูรณาการกับระเบียบวิธีคุณภาพซิกซ์ซิกม่า เพื่อรวบรวมข้อมูล สร้างและเก็บรายงานต่าง ๆ ตามขั้นตอนดีเมอิกโดยข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์เป็นข้อมูลปัจจุบัน (พ.ศ. 2550)

นิยามศัพท์เฉพาะ
1. ตัวแบบเทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาที่บูรณาการกับระเบียบวิธีคุณภาพซิกซ์ซิกม่า สำหรับนำไปใช้ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาคือ ตัวแบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สนับสนุนการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาที่นำเทคนิควิธีการจัดการคุณภาพแบบ ซิกซ์ซิกม่ามาใช้ในทุกกระบวนการที่ได้มาซึ่งระบบสารสนเทศทั้งหมด
2. ซิกซ์ซิกม่า คือ ระเบียบวิธีการการสร้างคุณภาพโดยใช้กระบวนการดีเมอิก ที่นำมาใช้กับกระบวนการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ทำเพื่อปรับปรุงกระบวนการการบริหารและจัดการภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา







บรรณานุกรม

พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ และสุชาติ กิจพิทักษ์. (2545). การประกันคุณภาพการศึกษา.
[Online], Available: http://www.moe.go.th/wijai/edu%20qa.htm, [2007, June 30].
มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา. (2550). ปรัชญา วิสัยทัศน์ พันธกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา.
[Online], Available: http://www.skru.ac.th/about/other.php, [2007, June 30].
โอภาส เอี่ยมสิริวงศ์. (2548). การวิเคราะห์และออกแบบระบบ. บริบัทซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด
จารึก ชูกิตติกุล. (2548). เทคโนโลยีสารสนเทศคุณภาพ: ปรัชญา สาระ และวิทยานิพนธ์.
คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีชั้นสูง ฉบับที่ 8 เดือนตุลาคม 2548,1-15.

วันเสาร์ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐

แนะนำการเขียนโปรแกรมภาษา

ด้วยประสบการณ์คลุกคลีอยู่กับคอมพิวเตอร์ มาตั้งแต่ปลายปี 2533 คือตั้งแต่เริ่มเรียนสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ครั้งแรก ในระดับอนุปริญญา มีประสบการณ์ด้านโปรแกรมภาษาคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ยุคภาษา pascal ภาษา C จนกระทั่งปัจจุบัน ภาษาพวก visual เช่น visual basic, visual C, visual C# และภาษากลุ่ม Object ได้แก่ Java, .NET และอื่น ๆ ปัจจุบันกำลังสนใจภาษาต่าง ๆ ได้แก่ php และที่ชื่นชอบเป็นพิเศษขณะนี้ ได้แก่ Python ซึ่งได้รับคำแนะนำมาจากคุณจักรกฤษ แสงแก้ว ทำให้หลงใหลภาษานี้อย่างดื่มด่ำ ถอนตัวไม่ขึ้น หากท่านผู้อ่านสนใจในสิ่งที่ผมทราบ เชิญเข้ามาสอบถามได้เลยครับ
ยินดียิ่งสำหรับนักศึกษา ที่เรียนสาขาคอมพิวเตอร์ ที่กำลังเรียนการเขียนโปรแกรม ทั้งจาก ม.ราชภัฏสงขลา หรือ มหาวิทยาลัยอื่น ๆ เข้ามาสอบถามได้ครับ

ไปศึกษาดูงานที่ประเทศเวียดนาม




เมื่อตอนปิดเทอมปี 2550 มีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศเวียดนาม ทั้งเวียดนามเหนือ เมืองฮานอย เวียดนามกลาง เมืองเว้ ดานัง และเวียดนามใต้ เมืองโฮจิมินต์ ได้ข้อคิดมาเตือนใจพวกเราชาวไทยหลาย ๆ เรื่อง ทั้งด้านการศึกษา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และการเป็นอยู่ประจำวัน
1. ด้านการศึกษา คนเวียดนามมีค่านิยมที่ดี มีความเห็นว่าการศึกษาทำให้ หลุดพ้นจากความยากจนได้ (เช่นเดียวกับคนไทยโดยทั่วไป) จึงส่งลูกเข้าศึกษาให้จบปริญญาตรี ถึงแม้ว่าเงินเดือนจะน้อย แต่ค่าครองชีพถูกมาก เขาจึงพอใจกับการทำงาน ในระดับปริญญาตรี เงินเดือนถามจากไกด์ ไกด์ได้รับประมาณ 2,700 บาท เท่ากับอาจารย์วุฒิปริญญาโท คนที่จบการศึกษาจะไม่ตกงาน เพราะอัตราการเจริญเติบโต 8 % มากกว่าเมืองไทย มีบริษัทต่างชาติ ไปจองตัวนักศึกษาที่กำลังจะจบจากมหาวิทยาลัยฯ ผู้บริหารในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งฮานอย บอกว่ามีนักศึกษา สามหมื่นกว่าคนเข้าเรียน หลายสาขา สาขาที่น่าจับตา คิดว่าล้ำหน้ากว่าไทย ได้แก่ เทคโนโลยีอากาศยาน มีห้องแลป ในอนาคตเราอาจจะได้ข่าวว่า เวียตนามส่งยิงกระสวยอวกาศได้

2. ด้านวัฒนธรรม ผมไปดูงานด้านวัฒนธรรมต่าง ๆ ของชาวเวียดนาม มีไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับบ้านเรา ด้วยความที่ต้องมีสงครามมาเป็นเวลานาน แต่วัฒนธรรมการเป็นอยู่ ความขยันขันแข็ง ความคิดเห็นทางการเมือง จะแตกแต่งจากบ้านเรา เวียตนามมีความอดทนสูงกว่า ค้าขายเก่งกว่า กลางวันตอนเที่ยง จะมีคนอยู่กลางทุ่งนา ทุ่งนาไม่มีหญ้า เขาทำนาไม่มีวันหยุด ปีละ 3 ครั้ง ปั่นจักรยานในชีวิตการเดินทาง ผู้หญิงขยันกว่าผู้ชาย ผู้หญิงค้าขาย ผู้ชายเล่นหมากรุก เลี้ยงนกเหมือนเหมือนบ้านเรา แต่ที่เวียตนามผู้หญิงจะน้อยกว่าผู้ชายมาก ผู้หญิงจึงต้องดูแลตัวเองให้ดี ไม่ให้แสงแดดโดนผิวหนัง ปั่นจักรยานต้องใส่ปลอกแขน เพราะกลัวจะขึ้นคาน ไกด์บอกว่าการแต่งงานกับผู้หญิงเวียดนามไม่ต้องมีสินสอดทองหมั้น คนไทยที่นั่น popular พอสมควร เพราะคนไทยไปที่นั่นบ่อยมาก ซื้อ ซื้อ ซื้อ ๆ ๆ ๆ


3. ด้านการบริการ เราได้ใช้บริการสายการบินของเวียตนาม จึงเห็นการบริการของ air hostess สาวชาวเวียตนาม หน้าตาดี สวยผิวขาวแต่ขาดรอยยิ้ม หน้าบึ้งนิด ๆ ขออะไร ไม่ค่อยได้ สู้ hostess การบินไทยไม่ได้เลย สาวเวียตนามเหนือ เวียตนามใต้ไม่ค่อยใส่ใจบริการ สนใจแต่เงินในกระเป๋าลูกค้า แต่สาวเวียตนามกลาง เอาอกเอาใจเก่ง หนุ่ม ๆ ก็สนใจคุยกับลูกค้า ในส่วนนี้ประเทศไทยมี service mind มากกว่า


ในภาพแสดงการพายเรือด้วยเท้า ของชาวเวียดนาม ที่ฮาลองบก(ตอนใต้ของฮานอย)

วันอาทิตย์ที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐

ยักษ์ใหญ่ IBM ให้ดาวน์โหลดโปรแกรมออฟฟิศไปใชฟรี ๆ

บริษัทไอบีเอ็ม เจ้าตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ และซอฟต์แวร์ด้านออฟฟิศ ที่มีชื่อว่า IBM lotus symphony ประกอบด้วย lotus symphony document เป็นโปรแกรม word document โปรแกรม lotus symphony presentation เป็นโปรแกรมสำหรับ presentation เหมือนกับ MS Power Point และโปรแกรม lotus symphony spreatsheet เช่นเดียวกับ Excel เชิญ ๆ ชาวสมาชิกที่ชอบของฟรีดาวน์โหลดมาใช้ดู ถ้าหากต้องซื้อ MS office มาใช้ในราคาหลักหมื่น ขอแนะนำให้ใช้ของฟรีจากไอบีเอ็ม ดีกว่าครับ รองรับ ทั้ง linux, apple, windows


ลิงค์ตามนี้เลยครับ http://symphony.lotus.com/software/lotus/symphony/home.jspa


ดูตัวอย่างภาพ

วันอาทิตย์ที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐

ปัญหา 8 ประการที่ระบบสารสนเทศไม่ประสบผลสำเร็จ ในองค์กรของส่วนราชการ

บทนำ
เมื่อกล่าวถึง ระบบสารสนเทศ มีคนจำนวนมากมักมองไปที่ระบบงานคอมพิวเตอร์ ที่มีใช้ในองค์กรหรือบริษัทที่เป็นเอกชน ด้วยเหตุที่เขาเหล่านั้นมักมีประสบการณ์โดยตรงจากการเห็น หรือมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจดังกล่าว เช่น เมื่อไปใช้บริการซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ จะเห็นพนักงานใช้เครื่องอ่านรหัสแท่ง มาอ่านรหัสที่สินค้าแล้วพิมพ์ใบเสร็จบอกราคารวม ให้ผู้ซื้อทราบพร้อมบอกจำนวนเงินที่ต้องทอน เป็นต้น หรือตัวอย่างการจองตั๋วรถทัวร์โดยสารปรับอากาศ หรือจองตั๋วรถไฟ ตลอดจนเครื่องบิน ในปัจจุบันต้องจองผ่านระบบสารสนเทศทั้งนั้น ทั้งเป็นการจองด้วยตนเองที่เป็นแบบออนไลน์และการไปจองโดยมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทจัดการให้ ทั้งหมดนี้เป็นการนำเอาระบบสารสนเทศมาใช้ในการจัดการและการบริหารองค์กรทั้งสิ้น


เมื่อย้อนกลับมาดูระบบสารสนเทศที่มีใช้ในหน่วยงานราชการต่าง ๆ จะเห็นว่าหน่วยงานหลาย ๆ หน่วยงานนำระบบ ไอทีมาใช้ในการจัดการและการบริหารเช่นกัน เช่น กรมสรรพากร นำระบบสารสนเทศมาใช้ในการจัดเก็บภาษี กรมการปกครองนำระบบสารสนเทศมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กรมอุตุนิยมวิทยา นำเอาระบบการพยากรณ์อากาศมาใช้ และหน่วยงานอื่นอีกมากมาย รวมทั้งมหาวิทยาลัย แต่มีหน่วยงานจำนวนไม่มากนักที่ประสบผลสำเร็จจากการใช้ระบบสารสนเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้เท่าเทียมเช่นเดียวกับองค์กรธุรกิจ เมื่อสำรวจปัญหาของการนำระบบสารสนเทศไปใช้ในหน่วยงานราชการแล้วจะพบว่าปัญหาหลัก ๆ ที่ทำให้ระบบดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ มีดังนี้ 

1) ขาดข้อกำหนดวิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ นโยบายและมาตรฐานด้านไอที 
2) ขาดการวางแผนแม่บทที่ดี 
3) ขาดงบประมาณ 
4) ขาดการติดตาม 
5) ขาดความรู้ทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ 
6) การพัฒนาระบบสารสนเทศที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด 
7) การเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลบ่อยครั้ง 
8) ระบบสารสนเทศขาดคุณภาพ

1.ขาดข้อกำหนดวิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ นโยบายและมาตรฐานด้านไอที


หน่วยงานราชการโดยทั่วไปจะมีวิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ นโยบายตามภารกิจของหน่วยงานนั้น ๆ เป็นหลัก ครรชิต มาลัยวงศ์ (2546) ให้ความเห็นว่าส่วนราชการยังขาดข้อกำหนดวิสัยทัศน์หรือไม่ให้ความสำคัญกับไอที อาจเป็นไปได้ทั้งการขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวจากผู้บริหารระดับสูง ทั้งที่หน่วยงานเหล่านี้ควรกำหนดวิสัยทัศน์ให้เป็นจริงจัง วิสัยทัศน์นั้นเปรียบเสมือนกับภาพในอนาคตอันสวยงามของหน่วยงาน เป็นภาพของสิ่งที่คาดหวังจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดจากการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานด้วยแล้ว จะทำให้ทุกคนมีความรู้สึกร่วมกัน นอกจากหน่วยงานหลักแล้ว หน่วยงานย่อยในองค์กรจะต้องกำหนดวิสัยทัศน์ของการใช้ระบบสารสนเทศให้ชัดเจนด้วย เช่น กำหนดว่าจะใช้สารสนเทศทำหน้าที่อะไรบ้างเพื่อให้ตอบสนองและสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของหน่วยงานหลักได้ นอกจากนี้หน่วยงานต้องกำหนดวัตถุประสงค์และกลยุทธ์อย่างเหมาะสม สำหรับนโยบายหน่วยงานจะต้องมีนโยบายในการได้มาซึ่งระบบสารสนเทศที่ชัดเจนแน่นอน เช่น อาจจะจัดซื้อโดยตรงจากผู้ผลิตซอฟต์แวร์หรือจ้างบริษัทภายนอกมาพัฒนาให้หน่วยงาน หรืออาจจะจัดตั้งหน่วยงานเพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศขึ้นโดยตรงก็ได้ นอกจากนี้ในเรื่องของการกำหนดมาตรฐานสารสนเทศ จัดได้ว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่มาตรฐานด้าน ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ระบบเครือข่าย ข้อมูล รหัสข้อมูล ตำแหน่ง ฯลฯ ถ้าหากหน่วยงานไม่ได้กำหนดมาตรฐานตั้งแต่ตอนต้นจะทำให้เกิดปัญหาข้อมูลไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ การถ่ายโอนข้อมูลจะกระทำไม่ได้ เพราะแต่ละหน่วยงานต่างกำหนดรหัสขึ้นมาเองที่ไม่สอดคล้องกัน หรือขัดแย้งกัน

2.ขาดการวางแผนแม่บทที่ดี


แผนแม่บทมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อองค์กร หากขาดแผนแม่บทแล้ว ปัญหาต่าง ๆ จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เปรียบเสมือนการเดินวกไปวนมาอย่างไร้จุดมุ่งหมาย แผนแม่บทเปรียบได้กับแผนที่ แผนดำเนินงาน เช่น แผนการจัดซื้อครุภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ แผนการพัฒนาระบบสารสนเทศ เป็นต้น แผนแม่บทนิยมเขียนขึ้นมาเพื่อให้ใช้งานได้ระยะเวลาครอบคลุม 3-5 ปี จะต้องระบุรายละเอียดต่าง ๆ ที่สำคัญ ๆ ลงไปในแผน เช่น สถาปัตยกรรมฮาร์ดแวร์ จะใช้เครื่องชนิดเมนเฟรมคอมพิวเตอร์หรือ client-server หรือเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีธรรมดา และสถาปัตยกรรมเครือข่าย ตลอดจนลักษณะการเชื่อมโยงของเครือข่ายทั้งหมดของหน่วยงาน แผนกำหนดลำดับความสำคัญก่อนหลัง ของการพัฒนาระบบและแผนการพัฒนาระบบสารสนเทศ ตลอดจนแผนการพัฒนาบุคลากรด้านไอทีของหน่วยงานเพื่อรองรับการขยายงาน เป็นต้น หากองค์กรใดขาดการวางแผนแม่บทที่ดีแล้ว องค์กรเหล่านั้นจะไม่สามารถนำระบบสารสนเทศไปใช้ให้ประสบผลสำเร็จได้

3.ขาดงบประมาณ


งบประมาณเป็นเรื่องที่ชี้เป็นชี้ตายในระบบสารสนเทศสำหรับจะใช้ในองค์กรทุกองค์กร ผู้บริหารส่วนใหญ่เมื่อได้รับทราบงบประมาณ การขออนุมัติ โครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับไอทีจะมีความรู้สึกว่า ไม่คุ้มค่าที่จะนำมาใช้เพราะโดยทั่วไปแล้ว ราคาทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์จะใช้งบประมาณสูงกว่างบประมาณด้านอื่น ๆ ที่เห็นเป็นรูปธรรมมากกว่า เช่น เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างการขออนุมัติซื้อซอฟต์แวร์ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ (MIS) เต็มระบบ ในราคา 10-20 ล้านบาท กับการขออนุมัติปรับปรุงอาคาร หรือปรับปรุงภูมิทัศน์ในองค์กรของตนเอง ในวงเงินใกล้เคียงกัน ผู้บริหารจะตัดสินใจที่จะเลือกอย่างที่สองมากกว่า ด้วยเหตุผลว่า เป็นงานที่เห็นเป็นรูปธรรมมากกว่า ซึ่งบุคคลที่เกี่ยวข้องต่างทราบดีว่างบประมาณของส่วนราชการนั้นต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด จึงจำทนกับการตัดสินใจในการอนุมัติงบประมาณจากผู้บริหารดังกล่าว


4.ขาดการติดตามผล

การติดตามผลความก้าวหน้าในการพัฒนาระบบสารสนเทศ หรือการใช้สารสนเทศ มีผลต่อสารสนเทศที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดแล้วนักวิชาการคอมพิวเตอร์ต่างทราบในประเด็นนี้ดี กล่าวคือ เมื่อระบบสารสนเทศได้รับการพิจารณาให้มีการพัฒนาระบบขึ้นมาด้วยองค์กรของตนเอง สิ่งแรกที่หัวหน้าโครงการจะต้องทำคือ จัดการด้านทีมงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นักวิเคราะห์ระบบ โปรแกรมเมอร์ ผู้ทดสอบระบบ ผู้บริหารฐานข้อมูล เป็นต้น บุคลากรที่มีความสามารถเหล่านี้ มักจะทำงานกับองค์กรเอกชนมากกว่าด้วยเหตุผลเรื่องค่าตอบแทนที่ได้รับสูงกว่า จึงทำให้บุคลากรเหล่านี้หายากและมักจะทำงานในองค์กรราชการได้ไม่นาน ขาดการต่อเนื่องทำให้งานล่าช้า ถ้าไม่มีการติดตามงานที่ดีจะทำให้โครงการไม่สำเร็จได้สูง ในการติดตามงานอีกด้านหนึ่งที่มักจะประสบปัญหาบ่อย ๆ เช่นกัน ได้แก่ การไม่เคยนำระบบสารสนเทศมาใช้เพื่อบริหารหรือเพื่อใช้ในการตัดสินใจ ซึ่งผู้บริหารราชการส่วนใหญ่จะยึดติดกับการบริหารแบบเก่า ได้แก่ รอความเห็นจากผู้บริหารระดับกลางหรือความเห็นจากเจ้าหน้าที่ธุรการ ปัญหาที่ตามมาคือ ผู้ใช้ระบบสารสนเทศระดับปฏิบัติการไม่อยากป้อนข้อมูลเพิ่ม ไม่อยากแก้ไขข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน เมื่อปล่อยให้เวลาให้ล่วงเลยนานไปสารสนเทศที่รายงานออกไปเป็นข้อที่ผิดพลาด ไม่น่าเชื่อถือ ถ้านำไปใช้ในการตัดสินใจ ทำให้การตัดสินใจครั้งนั้นผิดพลาดได้

5.ขาดความรู้ทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ


ทุกวันนี้ทุกคนต่างยอมรับว่าผู้บริหารระดับสูงทุกองค์กรจำเป็นต้องนำระบบสารสนเทศเป็นกลยุทธ์ในการบริหาร แต่ผู้บริหารที่เป็นส่วนราชการมักจะไม่ได้สนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งเพื่อแสวงหากำไรให้กับองค์กร การพิจารณาการขึ้นดำรงตำแหน่งจึงมีปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้ผู้บริหารบางแห่งขาดความรู้ความเข้าใจด้านไอที หรือมีความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่มักจะบอกกับผู้อื่นว่ามีความรู้ความเข้าใจดี หรือมีเจตคติว่า ผู้บริหารไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านไอทีก็ได้ เป็นต้น เมื่อผู้บริหารขาดความรู้ความเข้าใจ ส่งผลให้ระดับปฏิบัติการขาดความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตนเอง เช่น กรณีที่มีระบบสารเทศใช้อยู่ก่อนแล้วมักจะละเลยป้อนข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน หรือไม่พัฒนาฟังก์ชันเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทุกหน้าที่ ความรู้ที่ผู้บริหารควรศึกษาเพิ่มเติม แต่ไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญ ได้แก่ ประโยชน์ของสารสนเทศทุก ๆ ด้าน ความรู้ด้านชนิดของระบบปฏิบัติการ ระบบเครือข่าย ระบบจัดการฐานข้อมูลที่มีจำหน่ายในท้องตลาด มีอะไรบ้าง การใช้อินเทอร์เน็ต ความรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัย ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ฯลฯ เป็นต้น

6.การพัฒนาระบบสารสนเทศที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด

การพัฒนาระบบสารสนเทศ มีวิธีที่ได้มาซึ่งระบบนี้ มีหลายวิธี ได้แก่ การจัดซื้อระบบเบ็ดเสร็จมาใช้ การว่าจ้างบริษัทให้มาพัฒนาระบบ หรือการพัฒนาระบบขึ้นมาใช้เอง เป็นต้น ทั้งหมดนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่ด้วยกันทุกวิธี ปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดมักจะเกิดจาก การจัดซื้อแบบเบ็ดเสร็จมาใช้ ด้วยเหตุที่ระบบที่ซื้อมามักจะพัฒนามาใช้แบบกว้างขวางครอบคลุมฟังก์ชันทั่วไป สารสนเทศวิธีนี้มักจะใช้ฐานข้อมูลร่วมกันภายในองค์กรเดียวกันไม่ได้ หรือการซื้อมาจากหน่วยงานที่มีฟังก์ชันคล้ายกัน จะเกิดปัญหาลักษณะนี้เช่นกัน แต่ในส่วนของข้อดีของวิธีนี้ คือ รวดเร็ว ราคาถูกลง กรณีว่าจ้างบริษัทให้มาพัฒนาระบบ จะเกิดปัญหาไม่เป็นไปตามข้อกำหนดได้เช่นกัน ในกรณีที่มีการควบคุมการทำงานไม่เคร่งครัด หรือผู้ควบคุมไม่มีความรู้รายละเอียดด้านเทคนิค อันได้แก่ การออกแบบฐานข้อมูลที่ไม่ได้ระดับที่ 3 หรือ 4 หรือฐานข้อมูลมีความซ้ำซ้อน หรือข้อมูลขัดแย้งกันเอง เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ออกแบบหน้าจออาจจะออกแบบให้ผู้ใช้งาน ใช้ยากเกินไปเพราะขาดการประสานงานระหว่างผู้ใช้งานกับผู้ออกแบบ หรือไม่ได้ทำโปรแกรมต้นแบบ (prototype) ให้ผู้ใช้ดูก่อน ปัญหาเหล่านี้ปัญหาเล็ก ๆ ที่มีความสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม สำหรับหน่วยงานที่มีการพัฒนาระบบขึ้นมาเอง จะเกิดปัญหาความล่าช้าในการพัฒนา แต่มีส่วนดีที่ควบคุมข้อกำหนดได้ทุก ๆ ข้อตามความสามารถทั้งของผู้ใช้และผู้พัฒนา

7.การเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลบ่อยครั้ง


ปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือรายละเอียดของข้อมูลบ่อย ๆ นั้น เกิดขึ้นกับหน่วยงานราชการเป็นส่วนใหญ่ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือรัฐมนตรี หรือผู้บริหารระดับกระทรวง หรือมีข้อกฎหมายบังคับ เป็นต้น มักจะมีการเพิ่มเงื่อนไข ข้อมูลสนเทศให้เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ระบบสารสนเทศที่ใช้งานอยู่แล้วไม่สามารถให้สารสนเทศต่อนโยบายใหม่ ๆ ได้ ทั้งนี้อาจจะไม่มีข้อมูลดิบที่เกี่ยวข้องป้อนเข้าไปในระบบจึงไม่สามารถนำข้อมูลดิบเหล่านั้นมาประมวลผลให้เกิดสารสนเทศที่ต้องการได้ เช่น ฐานข้อมูลบุคลากรเมื่อมีการสั่งเก็บข้อมูลหมายเลขบัตรประจำประชาชนของบิดา มารดาเพิ่มขึ้น เป็นต้น ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลบ่อย ๆ ระบบที่ซื้อเบ็ดเสร็จมาใช้จะไม่สามารถใช้การได้อีกต่อไป แต่ระบบที่ใช้วิธีจ้างพัฒนาฯ ต้องว่าจ้างให้บริษัทเดิมพัฒนาเพิ่มเติม ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง แต่ในกรณีที่พัฒนาด้วยหน่วยงานเอง จะไม่ส่งผลกระทบมากนัก เพียงแต่พัฒนาเพิ่มฟังก์ชันให้ครบ ระบบจะใช้ได้ตามปกติ โดยใช้เวลาไม่มากนัก แต่อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงนโยบายบ่อย ๆ จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ระดับปฏิบัติการ ที่จะต้องเพิ่มเติมข้อมูลให้ครบตามจำนวนข้อมูลที่ได้ป้อนไว้แล้วทุก ๆ ระเบียน


8.ระบบสารสนเทศขาดคุณภาพ


เมื่อกล่าวถึงคุณภาพของระบบสารสนเทศ หลายคนมักจะวัดที่ราคาที่จัดซื้อ จัดจ้างเป็นเครื่องมือในการวัด ถ้ามีราคาแพงสร้างโดยบริษัทที่มีชื่อเสียงแล้วจะมีคุณภาพ แต่ระบบสารสนเทศที่ดีไม่จำเป็นนำปัจจัยนี้มาวัดคุณภาพก็ได้ การวัดคุณภาพระบบสารสนเทศวัดกันด้วยมาตรฐานการสร้างและความความสะดวกสบายในการใช้ระบบสารสนเทศ อย่างไรก็ตามมีสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบสารสนเทศ ได้สร้างมาตรฐานเพื่อวัดคุณภาพขึ้นมาบ้างแล้ว ได้แก่ มาตรฐาน CMM หรือ capability maturity model (กนกอร แสงประภาและคณะ, 2550) โดยสถาบัน Software Engineering Institute แห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน สหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาขึ้นให้แก่กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้แบ่งวุฒิภาวะความสามารถ ออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ 

1) ระดับตั้งต้น (initial level) หน่วยงานส่วนราชการส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับนี้ โดยมีการมุ่งเน้นไปที่การพัฒนางานให้ลุล่วงเพียงอย่าง เมื่อเกิดวิกฤติการณ์ขึ้นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์จะเลิกทำงานตามที่วางแผนไว้ แล้วรีบด่วนเขียนคำสั่งและทดสอบแทน ความสำเร็จของการพัฒนาซอฟต์แวร์ในระดับนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความสามารถของหัวหน้าโครงการ หากได้หัวหน้าโครงการที่มีความสามารถ และกล้าคิดกล้าทำ มาปรับปรุงการพัฒนาซอฟต์แวร์ก็จะทำให้หน่วยงานมีกระบวนการซอฟต์แวร์ที่ดีขึ้น แต่ถ้าหากหัวหน้าโครงการเช่นนี้ลาออกไปหน่วยงานก็จะกลับไปสู่ระดับเดิม กล่าวได้ว่าความสามารถที่ระดับนี้เป็นความสามารถของบุคคลมากกว่าขององค์การ 

2) ระดับทำซ้ำได้ (repeatable level) หน่วยงานที่อยู่ในระดับนี้เริ่มมีนโยบายในการบริหารจัดการโครงการซอฟต์แวร์และมีการกำหนดขั้นตอนการนำนโยบายไปใช้ การวางแผนและจัดการโครงการใหม่มักจะขึ้นกับประสบการณ์จากโครงการที่คล้ายกัน ความสามารถของกระบวนการนั้นเกิดจากการนำขั้นตอนพื้นฐานทางด้านการบริหารโครงการมาใช้ มีการนำการบริหารการจัดการโครงการเบื้องต้น มีการจัดทำเอกสารอย่างเป็นขั้นตอน และสามารถตรวจสอบได้ มีการจัดทำเอกสาร ควบคุม มีการฝึกอบรม มีการวัดผล และ สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ มีการควบคุมและติดตามการทำงานตามภารกิจต่าง ๆ ที่กำหนดในแผน มีการดูแลค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นไปตามที่กำหนด ลักษณะของระดับนี้ คือใช้ผลสำเร็จของโครงการที่ผ่านมาเป็นตัวอย่าง มีการกำหนดมาตรฐานโครงการ และมีการจัดรูปแบบองค์กรให้งานโครงการดำเนินไปได้ดี 

3)ระดับชัดเจน (defined level) ในหน่วยงานที่อยู่ระดับนี้ จะมีการบันทึกทำเอกสารเกี่ยวกับกระบวนการมาตรฐานในการพัฒนาและบำรุงรักษาซอฟต์แวร์ กระบวนการในระดับ 3 นี้ช่วยให้หัวหน้าโครงการซอฟต์แวร์และลูกทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิผล หน่วยงานสามารถใช้แนวทางของวิศวกรรมซอฟต์แวร์ได้ผลขึ้นเมื่อมีการกำหนดมาตรฐานกระบวนการซอฟต์แวร์ หน่วยงานอาจจัดตั้งกลุ่มกระบวนการวิศวกรรมซอฟต์แวร์ขึ้นเพื่อรับผิดชอบงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการซอฟต์แวร์ของหน่วยงานด้วย และมีการจัดฝึกอบรมอย่างกว้างขวางเพื่อให้ผู้บริหารโครงการและลูกทีมมีความรู้และทักษะที่สามารถทำงานที่กำหนดได้ดี โครงการต่าง ๆ ที่ทำในระดับนี้จะช่วยให้หน่วยงานปรับเปลี่ยนกระบวนการซอฟต์แวร์ของตนตามลักษณะพิเศษของโครงการได้ ฝ่ายบริหารวางใจได้ สามารถตรวจสอบความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการได้ตลอดเวลา 

4) ระดับจัดการ (managed level) หน่วยงานที่มีความสามารถอยู่ในระดับนี้สามารถกำหนดคุณภาพในเชิงจำนวนให้แก่ซอฟต์แวร์และกระบวนการซอฟต์แวร์ได้ หน่วยงานสามารถวัดคุณภาพและผลผลิตของกระบวนการซอฟต์แวร์สำคัญๆ ของทุกโครงการได้ โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการวัดผลงานขององค์กร มีการจัดทำฐานข้อมูลสำหรับบันทึกและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้กระบวนการซอฟต์แวร์ที่ชัดเจน การควบคุมโครงการต่างๆทำได้โดยการพยายามทำให้ผลการดำเนินงานมีความสม่ำเสมอมากขึ้น มีการกำหนดความเสี่ยงในการพัฒนาระบบและควบคุมความเสี่ยงให้ลดน้อยลง หน่วยงานที่มีการพัฒนาซอฟต์แวร์อยู่ในระดับนี้ได้เป็นหน่วยงานที่สามารถวัดผลคุณภาพและพยากรณ์ผลที่จะเกิดในการทำงานโครงการซอฟต์แวร์ได้อย่างแม่นยำ เมื่อมีโครงการใหม่ ๆ เข้ามาให้ทำ หน่วยงานสามารถปรับกระบวนการได้เป็นอย่างดี 

5) ระดับเหมาะที่สุด (optimized level) หน่วยงานที่อยู่ในระดับนี้เป็นหน่วยงานที่เน้นในด้านการปรับปรุงกระบวนการอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะเป็นการพัฒนากระบวนการต่าง ๆ ในทุกจุดให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีวิธีการในการกำหนดจุดอ่อนและจุดแข็งของกระบวนการในเชิงรุก โดยมีเป้าหมายในการป้องกันไม่ให้เกิดข้อบกพร่องขึ้น มีการใช้ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิผลของกระบวนการซอฟต์แวร์ในเชิงวิเคราะห์ต้นทุนและกำไรของเทคโนโลยีใหม่ๆ มีการกำหนดนวัตกรรมใดเหมาะที่สุดสำหรับหน่วยงาน จากนั้นจะถ่ายทอดไปใช้ทั้งองค์กร ทีมงานซอฟต์แวร์ในระดับนี้ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อบกพร่องเพื่อหาสาเหตุ มีการประเมินกระบวนการซอฟต์แวร์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อบกพร่องซ้ำอีกและนำความรู้ที่ได้นั้นไปถ่ายทอดให้กับทีมงานพัฒนาซอฟต์แวร์ทราบ นอกจากนั้นมีการวิเคราะห์ความสูญเสียในการดำเนินงานและพยายามลดไม่ให้เกิดความสูญเสียเหล่านั้นด้วย หน่วยงานที่มีความสามารถในระดับนี้คือ หน่วยงานที่พยายามปรับปรุงตนอยู่ตลอดเวลา การปรับปรุงนี้มีทั้งที่ค่อยเป็นค่อยไป และมีการปรับปรุงโดยนำวัตกรรมใหม่ๆมาใช้ตลอดเวลา

บทสรุป
ระบบสารสนเทศที่ใช้ในส่วนราชการ มักจะเกิดจากการผลักดันของผู้บริหารระดับสูงหรือผู้บริหารระดับกลาง ซึ่งส่วนใหญ่จะขาดแผนแม่บทที่ดี ขาดการศึกษาความเป็นไปได้ หรือเป็นแผนแม่บทที่ถูกออกแบบมาอย่างเร่งด่วนเพื่อตอบสนองผู้บริหาร จึงทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เมื่อระบบสารสนเทศมีใช้ในหน่วยงานแล้ว หัวหน้างานระดับต่าง ๆ ไม่เรียกใช้ข้อมูลเพื่อนำมาตัดสินใจ หรือขาดการติดตามงาน ทำให้ผู้ใช้ระดับปฏิบัติการละเลยการป้อนหรือปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ผลที่ได้ของสารสนเทศจะไม่สามารถนำมาใช้ในการทำงานใด ๆ ได้เลย บางหน่วยงานจะมีการเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงขอบเขตข้อมูล เปลี่ยนนโยบายหรือโครงสร้างข้อมูลทำให้ต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขระบบสารสนเทศตามมา สุดท้ายปัญหาที่พบมากที่สุดได้แก่ ระบบสารสนเทศไม่เป็นไปตามมาตรฐาน


เอกสารอ้างอิง

ครรชิต มาลัยวงศ์. (2550). ผู้บริหารยุคสารสนเทศ.
[Online], Available: http://www.drkanchit.com/ict_management/index.html, [2007, June 30]
ครรชิต มาลัยวงศ์. (2550). การพัฒนาระบบให้ประสบผลสำเร็จ.
[Online], Available: http://www.drkanchit.com/ict_management/index.html, [2007, June 30]
ครรชิต มาลัยวงศ์. (2550). บทบาทของ CIO,[Online], Available: http://www.drkanchit.com/ict_management/index.html, [2007, June 30]